แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นช่างปรับเครื่องยนต์อยู่ในอู่ของจำเลยที่ 2 ได้ลงชื่อในสัญญารับจ้างซ่อมรถของโจทก์ในฐานเป็นผู้จัดการอู่ของจำเลยที่ 2 โดยแสดงหนังสือมอบอำนาจของจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์ด้วยนั้น แม้จะปรากฎว่าลายเซ็นในหนังสือมอบอำนาจไม่ใช่ของจำเลยที่ 2 ก็ตาม หากปรากฎว่าจำเลยที่ 2 ได้ทราบถึงการออกหนังสือมอบอำนาจนั้น และบุตรของจำเลยที่ 2 ซึ่งรูปการแสดงว่าเป็นผู้จัดการอู่ให้จำเลยที่ 2 ก็ได้เห็นจำเลยที่ 1 แสดงหนังสือนี้ต่อโจทก์ แต่ก็มิได้ท้วงติงอย่างใด ดังนี้ เห็นได้ว่า การที่จำเลยที่ 1 สามารถทำสัญญาในนามของอู่ได้ ก็โดยความรู้เห็นเป็นใจของจำเลยที่ 2 และบุตร ถือว่าจำเลยที่ 2 ได้เชิดจำเลยที่ 1 หรือยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดตัวเองว่าเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 แล้ว
ย่อยาว
คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าของอู่ซ่อมรถยนต์ยี่ห้อจึงไท้ฮง จำเลยที่ ๑ เป็นช่างปรับเครื่องยนต์อยู่ที่อู่ของจำเลยที่ ๒ เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๐๐ และวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๐๐ จำเลยที่ ๑ ได้แสดงตนเป็นผู้จัดการอู่ จึงไท้ฮง ของจำเลยที่ ๒ เข้าทำสัญญารับเหมาซ่อมรถยนต์และจักรยานยนต์ของโจทก์ โดยแสดงหนังสือแต่งตั้งตัวแทนของจำเลยที่ ๒ ต่อตัวแทนของโจทก์ในคราวทำสัญญาครั้งแรกด้วย ในการรับเหมาซ่อมรถครั้งแรก เมื่อ ๕ มีนาคม ๒๕๐๐ จำเลยทั้งสองจัดการทำเรียบร้อยตามสัญญา ส่วนในการรับเหมาซ่อมรถครั้งหลัง เมื่อ ๑๘ มีนาคม ๒๕๐๐ จำเลยหาจัดการซ่อมให้แล้วเสร็จภายใน ๓๐ วันตามสัญญาไม่ โจทก์เตือนให้ปฏิบัติตามสัญญา จำเลยที่ ๑ กลับอ้างวาเป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๒ ส่วนจำเลยที่ ๒ อ้างว่าไม่ได้มอบให้จำเลยที่ ๑ เป็นตัวแทนรับเหมาซ่อมรถรายนี้ เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย ๕๖,๘๐๐ บาท จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแต่คนใดคนหนึ่งใช้ค่าเสียหายทดแทนแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า อู่จึงไท้ฮงเป็นของจำเลยที่ ๒ แต่ได้เลิกกิจการแล้ว นายเล้ยคาย แซ่จึง บุตรของจำเลยที่ ๒ ตกลงกับจำเลยที่ ๑ เป็นส่วนตัวร่วมกันรับจ้างซ่อมรถ โดยขอยืมอู่ของจำเลยที่ ๒ ๆ หาได้เกี่ยวข้องได้เสียด้วยไม่ หนังสือมอบอำนาจที่จำเลยที่ ๑ นำไปแสดงเป็นหนังสือปลอม จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิด
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ ๑ ทำสัญญารับจ้างซ่อมรถรายนี้แทน จำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิด ส่วนจำเลยที่ ๒ แม้คดียังไม่พอฟังว่าได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ ๑ เป็นตัวแทนก็ดี ก็ฟังได้อยู่ว่าจำเลยที่ ๒ ได้เชิดจำเลยที่ ๑ หรือยอมให้จำเลยที่ ๑ เชิดตัวเองว่าเป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๒ รับจ้างซ่อมรถรายนี้ จำเลยที่ ๒ จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๒๑ สำหรับค่าเสียหายควรให้เพียง ๓๕,๐๐๐ บาท จึงพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ ใช้แก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว คดีได้ความว่า เมื่อสามีจำเลยที่ ๒ ตาย จำเลยที่ ๒ ก็ดำเนินกิจการอู่จึงไท้ฮงต่อมา มีจำเลยที่ ๑ เป็นช่างปรับเครื่องยนต์ ได้มีการรับจ้างซ่อมรถของโจทก์ในนามอู่จึงไท้ฮงของจำเลยที่ ๒ เป็นผู้รับจ้าง ๒ ครั้ง คือ วันที่ ๕ มีนาคม และ ๑๘ เมษายน ปีเดียวกัน จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ลงชื่อในสัญญารับจ้างในฐานเป็นผู้จัดการอู่ของจำเลยที่ ๒ ทั้งสองครั้ง และเมื่อทำสัญญาครั้งแรก จำเลยที่ ๑ ได้แสดงหนังสือมอบอำนาจด้วย และในการไปตรวจดูรถที่จะซ่อม การรับรถมาซ่อม และการทำสัญญารับจ้างซ่อมก็ดี นายเล้ยคาย บุตรของจำเลยที่ ๒ ได้ไปกับจำเลยที่ ๑ ด้วยทุกครั้ง ศาลฎีกาจึงเห็นว่า หนังสือมอบอำนาจที่จำเลยที่ ๒ ปฏิเสธว่าไม่ใช่หนังสือของตนและว่าปลอมนั้น มีลายเซ็นชื่อจำเลยที่ ๒ เป็นภาษาจีน และจำเลยที่ ๑ ได้แสดงหนังสือนั้นต่อหน้านายเล้ยคายบุตรของจำเลยที่ ๒ ซึ่งนายเล้ยคายก็ได้เห็นหนังสือนั้น และมิได้ท้วงติงอย่างใด ทั้งจำเลยที่ ๒ ตลอดมาจนพยานจำเลยที่ลงชื่อเป็นพยานในหนังสือฉบับนั้นก็รับว่าจำเลยที่ ๑ ได้ทำหนังสือฉบับนั้นมาให้จำเลยที่ ๒ เซ็นชื่อแต่อ้างว่าจำเลยที่ ๒ ไม่ยอมเซ็น ลายเซ็นภาษาจีนที่ว่าไม่ใช่ลายเซ็นของตน
จำเลยที่ ๒ ก็มิได้อ้างอะไรนอกจากอ้างเพียงว่าตนเองอ่านเขียนหนังสือไม่เป็นเท่านั้น นายเล้ยคายก็บอกไม่ได้ว่าหนังสือนั้นถ้าไม่ใช่หนังสือของมารดาตนแล้วจะเกิดขึ้นได้อย่างไร จึงน่าเชื่อว่าเป็นหนังสือมอบอำนาจที่เกิดขึ้นโดยจำเลยที่ ๒ ก็รู้เห็นเป็นใจด้วย โดยถ้าไม่ได้เซ็นชื่อด้วยตนเองก็คงให้ผู้อื่นเซ็นแทนไป ส่วนนายเล้ยคาย ซึ่งติดตามไปกับจำเลยที่ ๑ ด้วยทุกครั้งนั้น รูปการก็แสดงว่าเป็นผู้จัดการอู่นี้ให้แก่จำเลยที่ ๒ ผู้เป็นมารดา ยิ่งกว่าที่จะฟังว่าได้ปลีกตัวออกไปร่วมงานกับจำเลยที่ ๑ ตามลำพังดังจำเลยที่ ๒ ให้การต่อสู้คดี การที่จำเลยที่ ๑ สามารถทำสัญญาในนามของอู่จึงไท้ฮงได้ โดยความรู้เห็นเป็นใจของจำเลยที่ ๒ และบุตรชายซึ่งเป็นผู้จัดการอู่ของจำเลยที่ ๒ เช่นนี้ อย่างน้อยก็ต้องถือว่าจำเลยที่ ๒ ได้เชิดจำเลยที่ ๑ หรือยอมให้จำเลยที่ ๑ เชิดตัวเองว่าเป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๒ จนโจทก์หลงเชื่อจึงได้ทำสัญญาจ้างให้จำเลยที่ ๒ ซ่อมรถให้โจทก์ จำเลยที่ ๒ จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญานั้น
พิพากษายืน