แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
บรรยายฟ้องว่า ได้ทางภารจำยอมมาโดยอายุความนั้นรายละเอียดเกี่ยวกับเนื้อที่ดินตามโฉนดต่าง ๆ ที่โจทก์ฟ้องและส่วนใดที่ได้ภารจำยอมในที่ดินของจำเลยเป็นรายละเอียดที่โจทก์จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา แม้มิได้บรรยาย ฟ้องของโจทก์ก็ไม่เคลือบคลุม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1387 กำหนดว่าการที่จะมีภารจำยอมได้จะต้องมีที่ดินสองแปลง โดยที่ดินแปลงหนึ่งตกอยู่ในภารจำยอมของที่ดินอีกแปลงหนึ่ง และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 กำหนดว่าการที่จะได้ภารจำยอมโดยอายุความจะต้องเป็นการใช้เพื่อตน มิใช่เป็นการอาศัย ก่อนปี 2518 ทางพิพาทอยู่ในที่ดินของผู้มีชื่อซึ่งเป็นแปลงเดียวกันยังมิได้แบ่งแยก การใช้ทางพิพาทช่วงนี้จึงเป็นการใช้ในฐานะอาศัยเจ้าของที่ดิน ไม่เป็นการใช้สิทธิภารจำยอม ต่อมาภายหลังผู้มีชื่อได้แบ่งแยกที่ดินบางส่วนให้แก่โจทก์โดยพวกของโจทก์ได้ซื้อที่ดินจากโจทก์ และทางพิพาทอยู่ในที่ดินของจำเลย โจทก์กับพวกได้ใช้ทางพิพาทเดินเข้าออกสู่ทางสาธารณะเรื่อยมาเป็นระยะเวลาเกิน 10 ปีแล้วโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งทักท้วงและโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ใดทางพิพาทจึงตกเป็นทางภารจำยอมโดยอายุความได้สิทธิแก่โจทก์กับพวกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสิบฟ้องขอให้มีคำสั่งว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 112030ตำบลสำโรงใต้ (สำโรง) อำเภอพระประแดง (พระโขนง)จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมีทางเข้าออกสู่ถนนปู่เจ้าสมิงพราย มีความกว้าง 1.20 เมตร ยาวประมาณ 60 เมตร ในที่ดินดังกล่าวเป็นทางภารจำยอม ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องในทางดังกล่าว และขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนทางภารจำยอม หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างรั้วกำแพงออกไป หากไม่รื้อให้โจทก์ทั้งสิบมีอำนาจรื้อถอนเอง โดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยเปิดทางพิพาทกว้าง1.20 เมตร ยาวประมาณ 60 เมตร โดยรื้อรั้วกำแพงออกไปห้ามจำเลยปิดกั้นและขัดขวางการใช้และให้จำเลยจดทะเบียนทางพิพาทดังกล่าวในที่ดินโฉนดเลขที่ 112030 ตำบลสำโรงใต้ (สำโรง) อำเภอพระประแดง (พระโขนง) จังหวัดสมุทรปราการ เป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 112031, 237218, 178785 และ 237219 ตำบลสำโรงใต้ (สำโรง) อำเภอพระประแดง (พระโขนง) จังหวัดสมุทรปราการ ตามลำดับหากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาคำขอนอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องโจทก์ที่ 5 ถึงที่ 10
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เดิมที่ดินของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ดินของจำเลยเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน มีนางทิม มาบำรุง เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ต่อมาเมื่อปี 2518 นางทิมแบ่งแยกที่ดินออกเป็น 4 แปลง นางทิม ยกที่ดิน 1 แปลง ให้นางจำเนียรมาบำรุง ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 112030 เอกสารหมาย จ.15 หรือ ล.2 นางทิมได้ยกที่ดินให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 2 แปลงตามโฉนดที่ดินเลขที่ 112031 และ 112032 เอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ต่อมานางจำเนียรยกที่ดินโฉนดเลขที่ 112030 ให้แก่นางสาวรุ่ง รุ่งใหรัญ และจำเลยซื้อที่ดินแปลงนี้ได้จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2528 สำหรับที่ดินของโจทก์ที่ 1 ต่อมาได้แบ่งขายให้แก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ทางพิพาทอยู่ในที่ดินของจำเลยตามแผนที่สังเขป เอกสารหมาย จ.4 ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกมีว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับเนื้อที่ดินตามโฉนดต่าง ๆ ที่โจทก์ฟ้อง และส่วนใดที่ได้ภารจำยอมในที่ดินของจำเลยนั้นเป็นรายละเอียดที่โจทก์จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ที่จำเลยฎีกาเป็นประการที่สองว่า ทางพิพาทมิใช่เป็นทางภารจำยอมนั้นฝ่ายโจทก์มีโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 เบิกความเป็นพยานทำนองเดียวกันว่า นางทิมทำทางพิพาทมานาน 20 กว่าปี โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ใช้ทางพิพาทเป็นทางเดินเข้าออกมาเป็นเวลานานเกินกว่า 10 ปี โดยโจทก์ที่ 1 ได้ที่ดินโฉนดเลขที่ 112031 และ 112032 ตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 จากนางทิมเมื่อปี 2518 ส่วนโจทก์ที่ 2 มาเช่าบ้านนางแดงเมื่อปี 2517 ซึ่งนางแดงได้เช่าที่ดินจากนางทิมปลูกบ้าน ต่อมาปี 2522 โจทก์ที่ 2 ซื้อบ้านจากนางแดงและเช่าที่ดินจากนางทิม ครั้นปี 2532 โจทก์ที่ 2 ได้ซื้อที่ดินที่ปลูกบ้านจากโจทก์ที่ 1 และโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเมื่อปี 2537 ตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.4 สำหรับโจทก์ที่ 3 ได้เข้ามาอยู่ในบ้านที่เช่าที่ดินนางทิมปลูกบ้านเมื่อปี 2520 ต่อมาโจทก์ที่ 3 ได้ซื้อที่ดินจากโจทก์ที่ 1 และได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเมื่อปี 2531 ตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.5 ส่วนโจทก์ที่ 4 ได้เช่าที่ดินนางทิมปลูกบ้านเมื่อปี 2517 ย้ายทะเบียนเข้ามาอยู่ในที่ดินที่เช่าเมื่อปี 2520 ตามสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย จ.23 ต่อมาเมื่อปี 2534 โจทก์ที่ 4 ขอซื้อที่ดินจากโจทก์ที่ 1 และโอนกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนกันเมื่อปี 2537 ตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.6 เห็นว่า พยานโจทก์มีโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 เบิกความยืนยันสอดคล้องต้องกันว่า นางทิมเป็นผู้ทำทางพิพาทมานาน 20 กว่าปีแล้วโจทก์ทั้งสี่ดังกล่าวใช้ทางพิพาทเดินเข้าออกมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี นอกจากนี้โจทก์ยังมีนางจินดา แทนรัตน์ ภริยาโจทก์ที่ 3ซึ่งเช่าที่ดินนางทิมปลูกบ้านตั้งแต่ปี 2520 และโจทก์ที่ 10 ซึ่งมาซื้อบ้านจากนายสนั่นผู้เช่าที่ดินนางทิมปลูกบ้านตั้งแต่ปี 2520 เป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า ได้ใช้ทางพิพาทเข้าออกตลอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ พยานโจทก์ดังกล่าวไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน แม้จะมีผลประโยชน์ในการใช้ทางพิพาท ก็น่าเชื่อว่าได้เบิกความตามความเป็นจริงฝ่ายจำเลยมีเพียงนางสาวนภาพร เตชะรุ่งโรจน์วงศ์ ผู้รับมอบอำนาจจำเลยและนางผ่อง เย็นสำราญ มาเบิกความเป็นพยานเท่านั้น ซึ่งผู้รับมอบอำนาจจำเลยมิได้เบิกความปฏิเสธว่าไม่มีทางพิพาทในที่ดินของจำเลย แต่เบิกความเพียงว่าขณะจำเลยซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดเมื่อปี 2528 ทางพิพาทเป็นเลนเดินไม่ได้ พยานกับจำเลยจึงเรียกช่างมาทำทางให้ผู้เช่าบ้านจำเลยจำนวน 54 ห้องใช้เป็นทางเดินในช่วงแรก ๆ ที่เป็นเลนไม่มีคนเดิน เมื่อทำเป็นถนนปูนเสร็จมีคนเข้ามาถือวิสาสะเดินส่วนนางผ่องก็เบิกความว่า นางทิมทำทางพิพาทไว้สำหรับเดิน เดิมทางพิพาทเป็นขี้เลน ผู้ที่อยู่ในที่ดินตามแผนที่เอกสารหมาย ล.1 เป็นผู้ใช้ทางพิพาทและผู้อยู่ท้ายซอยออกสู่ทางสาธารณะโดยทางพิพาท จากคำเบิกความของนางผ่องพยานจำเลยก็เจือสมกับคำเบิกความของพยานโจทก์ว่าทางพิพาทแม้จะเป็นดินเลนก็มีบุคคลใช้เดินมาตั้งแต่ปี 2518 แล้วมิใช่ไม่มีคนเดินผ่านทางพิพาทดังผู้รับมอบอำนาจจำเลยเบิกความพยานหลักฐานของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ที่นำสืบมามีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นางทิมเป็นผู้ทำทางพิพาทมา 20 กว่าปีแล้ว และโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 แต่ละคนเริ่มใช้ทางพิพาทเดินผ่านเข้าออกตั้งแต่ปี 2517 ถึง 2520 เรื่อยมาจนกระทั่งจำเลยปิดกั้นทางพิพาทเมื่อเดือนตุลาคม 2537 เป็นระยะเวลาเกิน 10 ปีแล้ว โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งทักท้วงและโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ใด ทางพิพาทจึงตกเป็นภารจำยอมโดยอายุความได้สิทธิแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 แล้ว ส่วนที่จำเลยฎีกาว่านับแต่นางทิมแบ่งแยกที่ดินพิพาทจนกระทั่งทางพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ใช้ทางพิพาทโดยถือว่าเป็นทางพิพาทของนางทิมหาได้มีการแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือทางพิพาทมาครอบครองทางพิพาทอย่างเป็นเจ้าของไม่ และโจทก์ดังกล่าวใช้ทางพิพาทเดินเข้าออกอย่างวิสาสะจนกระทั่งถึงวันฟ้องยังไม่ถึง 10 ปี ทางพิพาทจึงไม่ตกเป็นภารจำยอมโดยอายุความนั้น เห็นว่า แม้เดิมทางพิพาทจะรวมอยู่ในที่ดินของนางทิม โดยนางทิมเป็นผู้ทำทางพิพาทกว้าง 1.20 เมตร ยาวประมาณ 60 เมตร กลางที่ดินของตนออกสู่ซอยโรงงานไม้ปาร์เกต์อันเป็นถนนสาธารณะนั้นมาประมาณ 20 ปีแล้วก็ตามแต่เมื่อปี 2518 นางทิมได้แบ่งแยกที่ดินพิพาทออกเป็น 4 แปลง ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 112030 เอกสารหมาย จ.15 หรือ ล.2 โฉนดที่ดินเลขที่ 112031 เอกสารหมาย จ.1 และโฉนดที่ดินเลขที่ 112032 เอกสารหมาย จ.2 ส่วนที่ดินแปลงที่ 4 เลขที่ดิน 350 ซึ่งไม่ปรากฏหมายเลขโฉนดที่ดินตามแผนที่สังเขปเอกสารหมาย ล.9 ที่ดินพิพาทตามโฉนดที่ดินเลขที่ 112030 ซึ่งมีทางพิพาทอยู่ในที่ดินแปลงดังกล่าวภายหลังจำเลยได้ซื้อที่ดินแปลงนี้มาจากการขายทอดตลาดเมื่อปี 2528 ส่วนที่ดินตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 นางทิมได้ยกให้แก่โจทก์ที่ 1เมื่อปี 2518 ส่วนโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ก็ปลูกบ้านอยู่ในที่ดินของโจทก์ที่ 1 ดังกล่าวที่ได้รับการยกให้จากนางทิมภายหลังโจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ได้ซื้อที่ดินจากโจทก์ที่ 1 คนละแปลงและโอนทะเบียนต่อกันเมื่อปี 2537, 2531 และ 2537 ตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.4 ล.5 และ ล.6 ตามลำดับ โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ได้ใช้ทางพิพาทเดินเข้าออกสู่ทางสาธารณะตั้งแต่ปี 2518, 2517, 2520 และ 2517 ตามลำดับ เรื่อยมาจนกระทั่งจำเลยปิดกั้นทางพิพาทเมื่อปี 2537 เป็นระยะเวลาเกิน 10 ปีแล้วซึ่งมาตรา 1387 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า”อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภารจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น” จะเห็นได้ว่าการที่จะมีภารจำยอมได้จะต้องมีที่ดินสองแปลงโดยที่ดินแปลงหนึ่งตกอยู่ในภารจำยอมของที่ดินอีกแปลงหนึ่ง และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 การที่จะได้ภารจำยอมโดยอายุความจะต้องเป็นการใช้เพื่อตน มิใช่เป็นการอาศัย เช่นนี้ก่อนปี 2518 ทางพิพาทอยู่ในที่ดินของนางทิมซึ่งเป็นแปลงเดียวกันยังมิได้แบ่งแยกการใช้ทางพิพาทช่วงนี้จึงเป็นการใช้ในฐานะอาศัยเจ้าของที่ดินไม่เป็นการใช้สิทธิภารจำยอม แต่ต่อมาปี 2518 นางทิมได้แบ่งแยกที่ดินของตนออกเป็น 4 แปลง ดังได้วินิจฉัยมาแล้วทางพิพาทอยู่ในที่ดินของจำเลยตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.15 หรือ ล.2 นางทิมได้ยกที่ดิน 2 แปลง ให้โจทก์ที่ 1 ตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ส่วนโจทก์ที่ 2 นั้น แม้เดิมจะเช่าบ้านของนางแดงเมื่อปี 2517 และนางแดงเช่าที่ดินของนางทิมปลูกบ้านอยู่ โจทก์ที่ 3 ได้เช่าที่ดินของนางทิมเมื่อปี 2520 และโจทก์ที่ 4 ได้เช่าที่ดินของนางทิมเมื่อปี 2520 ก็ตามเมื่อนางทิมแบ่งแยกที่ดินออกเป็น 4 แปลง และยกให้โจทก์ที่ 1จำนวน 2 แปลง ส่วนที่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ปลูกบ้านอยู่ ก็ถือว่าปลูกอยู่ในที่ดินของโจทก์ที่ 1 ตั้งแต่ปี 2518 เรื่อยมา การที่โจทก์ที่ 1 ใช้ทางพิพาทเป็นทางเดินเข้าออกสู่ถนนสาธารณะตั้งแต่โจทก์ที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินเมื่อปี 2518 โจทก์ที่ 2 และที่ 4 ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินเมื่อปี 2537 และโจทก์ที่ 3 ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินเมื่อปี 2531 โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งทักท้วง และโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ใดหรืออาศัยสิทธิใคร โจทก์ที่ 1 ใช้ทางพิพาทมาเกิน 10 ปี แม้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 จะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นสามยทรัพย์ ใช้ทางพิพาทมาไม่ถึง 10 ปี นับถึงวันที่จำเลยปิดกั้นทางพิพาท แต่เมื่อนับระยะเวลาทั้งสองตอนติดต่อกันก็เกิน 10 ปี ทางพิพาทดังกล่าวจึงตกเป็นภารจำยอมโดยอายุความได้สิทธิแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 แล้ว ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน