คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8045/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (7) ประกอบมาตรา 215 มิได้กำหนดคำว่า “ผู้เรียง” จะเป็นใคร ทั้งมิได้กำหนดผู้ลงลายมือชื่อผู้เรียงเป็นสาระสำคัญก็ตาม แต่มีบทกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้คือ พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ. 2528 มาตรา 33 ซึ่งกำหนดให้ทนายความหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่โดยเฉพาะเป็นผู้เรียงคำฟ้องอุทธรณ์ให้แก่บุคคลอื่น เมื่อปรากฏว่า ส. ลงลายมือชื่อในช่องผู้เรียงคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยมิได้เป็นบุคคลตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยจึงมิชอบด้วยกฎหมาย แม้จะได้ความว่า จำเลยลงลายมือชื่อในคำฟ้องอุทธรณ์นั้นก็ตาม ย่อมไม่กลับทำให้มีผลสมบูรณ์ขึ้นมาได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 มาตรา 117, 118 กับให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปด้วย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 มาตรา 117 วรรคหนึ่ง, 118 ลงโทษปรับ 334,125 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตาม ป.อ. มาตรา 78 เห็นสมควรลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับ 167,062.50 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 แต่ไม่เกินสองปี กับให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลดค่าปรับและยกคำขอให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นประการแรกว่า การเรียงคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า แม้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (7) ประกอบมาตรา 215 มิได้กำหนดคำว่า “ผู้เรียง” จะเป็นใคร ทั้งมิได้กำหนดผู้ลงลายมือชื่อผู้เรียงเป็นสาระสำคัญก็ตาม แต่มีบทกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้คือ พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ. 2528 มาตรา 33 ซึ่งกำหนดให้ทนายความหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่โดยเฉพาะเป็นผู้เรียงคำฟ้องอุทธรณ์ให้แก่บุคคลอื่น เมื่อปรากฏว่านายสมพิศลงลายมือชื่อในช่องผู้เรียงคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยมิได้เป็นบุคคลตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยจึงมิชอบด้วยกฎหมาย แม้จะได้ความว่า จำเลยลงลายมือชื่อในคำฟ้องอุทธรณ์นั้นก็ตาม ย่อมไม่กลับทำให้มีผลสมบูรณ์ขึ้นมาได้
พิพากษายืน.

Share