แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้โจทก์ร่วมทั้งสองร้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายแก่ทรัพย์สินมาด้วย ซึ่งเป็นคำขอบังคับในคดีส่วนแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง และมาตรา 47 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ แม้จำเลยที่ 2 มิได้กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ทรัพย์สินของโจทก์ร่วมทั้งสองเสียหาย แต่ข้อเท็จจริงก็ได้ความว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดงานเลี้ยงฉลองเทศกาลปีใหม่ขึ้นที่บ้านของตนเอง การจุดพลุเป็นพิธีการส่วนหนึ่งของการเปิดงาน การที่จำเลยที่ 2 ใช้ให้จำเลยที่ 1 ทำการจุดพลุ อันเป็นสัญญาณเริ่มต้นเปิดงานต้องถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการจุดพลุเปิดงานเลี้ยงฉลองเทศกาลปีใหม่ที่จำเลยที่ 2 จัดให้มีขึ้น เมื่อจำเลยที่ 1 ทำการจุดพลุโดยประมาทเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ทรัพย์สินของโจทก์ร่วมทั้งสองเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ร่วมทั้งสอง จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวการย่อมต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำไปตามคำสั่งที่จำเลยที่ 2 ใช้ให้กระทำแทนจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 ประกอบมาตรา 427 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมทั้งสองด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๒๕
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางต้วน ผู้เสียหายที่ ๑ และนางฐิติพร ผู้เสียหายที่ ๒ ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ก่อนเริ่มสืบพยาน โจทก์ร่วมทั้งสองยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายของบ้านที่ถูกเพลิงไหม้เป็นเงิน ๗๐๖,๓๙๕.๖๐ บาท ทรัพย์สินภายในบ้านที่ได้รับความเสียหายเป็นเงิน ๒๐๘,๔๕๐ บาท ค่าขาดที่พักอาศัยเป็นเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท ค่าใช้จ่ายจ้างช่างสร้างบ้านหลังใหม่แทนบ้านที่เกิดความเสียหายเป็นเงิน ๘๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๑,๐๑๔,๘๔๕.๖๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๔ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วมทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การในส่วนแพ่งว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสอง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๒๕ จำคุกคนละ ๒ ปี ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย ๙๖๔,๘๔๕.๖๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๔ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วมทั้งสอง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๒๕ จำคุก ๖ เดือน ให้จำเลยที่ ๑ ชดใช้ค่าเสียหาย ๙๖๔,๘๔๕.๖๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๔ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วมทั้งสอง ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๒ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า บ้านของโจทก์ร่วมทั้งสองและบ้านของจำเลยที่ ๒ อยู่ห่างกันประมาณ ๕๐ เมตร อยู่ในหมู่บ้านตะโกสามัคคี หมู่ที่ ๑๐ ตำบลตะโก อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา จำเลยที่ ๒ ได้จัดงานฉลองเทศกาลปีใหม่ที่บ้าน
ของจำเลยที่ ๒ มีการเลี้ยงสุราและอาหาร และมีดนตรีบรรเลงบนเวที เวลาประมาณ ๑๙ นาฬิกา มีการกล่าวเปิดงาน และจำเลยที่ ๒ พูดผ่านไมโครโฟนบอกให้จำเลยที่ ๑ ไปทำการจุดพลุเพื่อเปิดงาน จำเลยที่ ๑ จึงนำกระบอกพลุเดินไปยังที่ดินฝั่งตรงข้ามบ้านของจำเลยที่ ๒ และทำการจุดพลุ ในการจุดพลุครั้งที่ ๒ หรือครั้งที่ ๓ ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้พลุพุ่งขึ้นไปไม่สูงและเกิดระเบิดเป็นประกายไฟแตกกระจายรอบบริเวณ สะเก็ดไฟส่วนหนึ่งกระเด็นเข้าไปในห้องนอนชั้นบนของโจทก์ร่วมทั้งสอง และไฟลุกไหม้ที่นอน เสื้อผ้า ลุกลามไหม้บ้านของโจทก์ร่วมทั้งสองเสียหายทั้งหลัง โจทก์ร่วมทั้งสองได้รับความเสียหายเป็นเงิน ๙๖๔,๘๔๕.๖๐ บาท
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมทั้งสองว่า จำเลยที่ ๒ กระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของโจทก์ร่วมทั้งสองเสียหายหรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองมีนายวีระยุทธ ซึ่งไปร่วมงานที่บ้านของจำเลยที่ ๒ เป็นพยานเบิกความว่า พยานได้ยินเสียงจำเลยที่ ๒ ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงบนเวทีว่า ขณะนี้ได้เวลาแล้วให้นายหำน้อยนำพลุไปจุด ต่อจากนั้นพยานเห็นจำเลยที่ ๑ ถือกระบอกพลุสีจำนวน ๒ กระบอก เดินไปที่ที่ดินของนายประสิทธิ์ ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามบ้านของจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๑ นำกระบอกพลุไปวางไว้ที่เสาหอกระจายข่าวซึ่งเป็นโครงเหล็ก พยานเห็นจำเลยที่ ๑ จุดพลุกระบอกขนาดใหญ่ ๑ ครั้ง พลุพุ่งขึ้นไปชนสายไฟฟ้าและมีประกายไฟแตกกระจายไปทุกทิศทุกทางเป็นบริเวณกว้าง สักครู่ก็ได้ยินเสียงตะโกนว่าไฟไหม้ ซึ่งฝ่ายจำเลยทั้งสองก็มิได้มีพยานมานำสืบหักล้างข้อเท็จจริงดังกล่าว แม้การจุดพลุดังกล่าวเป็นการจุดพลุเปิดงานเลี้ยงฉลองเทศกาลปีใหม่ที่บ้านของจำเลยที่ ๒ โดยจำเลยที่ ๒ เป็นผู้จัดงาน การสั่งให้จำเลยที่ ๑ จุดพลุและจำเลยที่ ๑ นำพลุไปจุดห่างจากบ้านจำเลยที่ ๒ ทั้งเป็นบริเวณที่ดินว่างเปล่า ย่อมไม่อาจคาดหมายหรือเล็งเห็นได้ว่า การจุดพลุจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใดหรือทรัพย์สินของผู้ใด เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองไม่มีพยานมานำสืบให้เห็นว่า พลุที่เกิดเหตุจำเลยที่ ๒ เป็นผู้จัดหามา และเป็นผู้กำหนดตำแหน่งที่ทำการจุดพลุแก่จำเลยที่ ๑ ข้อเท็จจริงจึงยังไม่พอให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ ๒ มีส่วนร่วมและกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้บ้านของโจทก์ร่วมทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๒ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๒๕ มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ร่วมทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ ๒ ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมทั้งสองหรือไม่ คดีนี้โจทก์ร่วมทั้งสองร้องขอให้บังคับจำเลยที่ ๒ ร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายแก่ทรัพย์สินมาด้วย ซึ่งเป็นคำขอบังคับในคดีส่วนแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๔/๑ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๔๗ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ คดีนี้ แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ ๒ มิได้กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ทรัพย์สินของโจทก์ร่วมทั้งสองเสียหาย แต่ข้อเท็จจริงก็ได้ความว่า จำเลยที่ ๒ เป็นผู้จัดงานเลี้ยงฉลองเทศกาลปีใหม่ขึ้นที่บ้านของตนเอง การจุดพลุเป็นพิธีการส่วนหนึ่งของการเปิดงาน การที่จำเลยที่ ๒ ใช้ให้จำเลยที่ ๑ ทำการจุดพลุ อันเป็นสัญญาณเริ่มต้นเปิดงาน ต้องถือว่าจำเลยที่ ๑ เป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๒ ในการจุดพลุ
เปิดงานเลี้ยงฉลองเทศกาลปีใหม่ที่จำเลยที่ ๒ จัดให้มีขึ้น เมื่อจำเลยที่ ๑ ทำการจุดพลุโดยประมาทเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ทรัพย์สินของโจทก์ร่วมทั้งสองเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ร่วมทั้งสอง จำเลยที่ ๒ ในฐานะตัวการย่อมต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ ๑ ได้กระทำไปตามคำสั่งที่จำเลยที่ ๒ ใช้ให้กระทำแทนจำเลยที่ ๑ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๕ ประกอบมาตรา ๔๒๗ จำเลยที่ ๒ จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน ๙๖๔,๘๔๕.๖๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ร่วมทั้งสองด้วย ฎีกาของโจทก์ร่วมทั้งสองข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน ๙๖๔,๘๔๕.๖๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๔ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วมทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ