แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่ดินที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้มาตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ส.ป.ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์โดยไม่ตกเป็นที่ราชพัสดุตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 36 ทวิ ซึ่งเป็นการได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินมาตามกฎหมายอื่นตาม ป.ที่ดิน มาตรา 3 (2) จึงไม่ใช่ป่าตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4 (1) การตัดและทอนต้นมะม่วงป่าอันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ในที่ดิน ส.ป.ก. ย่อมไม่เป็นการทำไม้ตามความหมายของมาตรา 4 (5) แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 เป็นผลให้การได้ไม้มะม่วงป่าที่ยังไม่ได้แปรรูปเป็นการได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อจำเลยสำคัญผิดในข้อเท็จจริงว่าต้นมะม่วงป่าขึ้นอยู่ในที่ดินที่ ส.ป.ก. อนุญาตให้จำเลยเข้าทำประโยชน์ ซึ่งข้อเท็จจริงในส่วนนี้ถ้ามีอยู่จริงจะทำให้การกระทำไม่เป็นความผิด การที่จำเลยมีไม้มะม่วงป่าซึ่งยังไม่ได้แปรรูปดังกล่าว จึงไม่มีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 62 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 69, 73, 74, 74 ทวิ, 74 จัตวา ป.อ. มาตรา 83, 32 และริบของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 69 วรรคสอง (2), 74 ป.อ. มาตรา 83 จำคุกคนละ 1 ปี ทางนำสืบของจำเลยทั้งสามเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตาม ป.อ. มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 8 เดือน ริบของกลาง
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ แต่ให้ริบของกลาง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยแล้วโดยคู่ความมิได้ฎีกาคัดค้านว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยทั้งสามร่วมกันมีไม้มะม่วงป่าซึ่งยังมิได้แปรรูปอันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. จำนวน 6 ท่อน ปริมาตร 8.58 ลูกบาศก์เมตร ของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขายโดยได้มาจากการที่จำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ตัดและทอนต้นมะม่วงป่าที่ขึ้นอยู่ในเขตป่าชุมนุม โจทก์ฎีกาอ้างว่า ต้นมะม่วงป่าเจริญเติบโตอยู่ในป่ามาก่อน จำเลยที่ 2 เข้าไปทำกินและจับจองที่ดินเพื่อใช้สิทธิตามกฎหมาย ส.ป.ก. 4-01 จำเลยที่ 2 จะต้องทราบแนวเขตที่ดินของตนเองอย่างชัดเจน หากไม่แน่ใจก็ย่อมขอให้เจ้าพนักงานเข้าไปตรวจสอบแนวเขตเสียก่อนตัดต้นไม้นั้น และจำเลยทั้งสามมีภาระต้องพิสูจน์ว่าได้ไม้มะม่วงป่าของกลางมาโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อจำเลยทั้งสามไม่ได้พิสูจน์ว่าได้ไม้มะม่วงป่าของกลางมาโดยชอบด้วยกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จะรับฟังว่าจำเลยทั้งสามขาดเจตนาไม่ได้นั้น เห็นว่า ต้นมะม่วงป่าของกลางขึ้นอยู่ใกล้แนวเขตที่ดินที่ ส.ป.ก. อนุญาตให้จำเลยที่ 2 เข้าทำประโยชน์มาก ห่างเพียง 1.50 เมตร จำเลยที่ 2 กล่าวอ้างว่าต้นมะม่วงป่าของกลางขึ้นอยู่ในเขตที่ดินที่ ส.ป.ก. อนุญาตให้จำเลยที่ 2 เข้าทำประโยชน์ตั้งแต่ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด นอกจากนี้ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่ามีเครื่องหมายแสดงแนวเขตที่ป่าชุมชนเอาไว้ด้วย ประกอบกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตัดต้นมะม่วงป่าของกลางโดยเปิดเผยในเวลากลางวัน ย่อมแสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยที่ 2 สำคัญผิดในข้อเท็จจริงว่าต้นมะม่วงป่าของกลางขึ้นอยู่ในเขตที่ดินที่ ส.ป.ก. อนุญาตให้จำเลยที่ 2 เข้าทำประโยชน์ เมื่อจำเลยที่ 2 มีความมั่นใจดังกล่าวแล้วจึงเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ไปขอให้เจ้าพนักงานมาตรวจสอบแนวเขตก่อน กรณีนี้หากต้นมะม่วงป่าของกลางขึ้นอยู่ในที่ดินที่ ส.ป.ก. อนุญาตให้จำเลยที่ 2 เข้าทำประโยชน์อันเป็นที่ดินที่ ส.ป.ก. ได้มาตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ส.ป.ก. จะเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์โดยไม่ตกเป็นที่ราชพัสดุ ตามมาตรา 36 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นการได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินมาตามกฎหมายอื่นตาม ป.ที่ดิน มาตรา 3 (2) จึงไม่ใช่ป่าตามความหมายของมาตรา 4 (1) แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 การตัดและทอนต้นมะม่วงป่าอันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ในที่ดินที่ ส.ป.ก. อนุญาตให้จำเลยที่ 2 เข้าทำประโยชน์ซึ่งไม่ใช่ป่าก็จะไม่เป็นทำไม้ตามความหมายของมาตรา 4 (5) แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 อันไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ย่อมเป็นผลให้การได้ไม้มะม่วงป่าของกลางที่ยังไม่ได้แปรรูปเป็นการได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 สำคัญผิดในข้อเท็จจริงว่าต้นมะม่วงป่าของกลางขึ้นอยู่ในที่ดินที่ ส.ป.ก. อนุญาตให้จำเลยที่ 2 เข้าทำประโยชน์ ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตัดต้นมะม่วงป่าของกลางเนื่องจากเชื่อจำเลยที่ 2 ว่า ต้นมะม่วงป่าของกลางอยู่ในที่ดินที่ ส.ป.ก. อนุญาตให้จำเลยที่ 2 เข้าทำประโยชน์ ซึ่งข้อเท็จจริงในส่วนที่จำเลยทั้งสามสำคัญผิดนี้ถ้ามีอยู่จริงจะทำให้การกระทำไม่เป็นความผิดดังกล่าวไว้ข้างต้น ดังนั้นจำเลยทั้งสามจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 62 วรรคหนึ่ง
พิพากษายืน.