แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยแจ้งการประเมินภาษีเงินได้ของโจทก์สำหรับปี พ.ศ. 2515ถึง พ.ศ. 2519 ในวันเดียวกัน และโจทก์ได้รับแบบแจ้งการประเมินทั้งหมดพร้อมกันแต่ในแบบแจ้งการประเมินสำหรับปี พ.ศ. 2518 มิได้มีรายละเอียดในช่องรายการประเมิน ข้อ 2(ก)ถึง(ง) ว่าเป็นเงินได้ประเภทใด และตามข้อ 7(ก)และ(ข) ไม่ระบุว่าเป็นภาษีเงินได้เฉลี่ยไปในทางใด เหมือนที่ระบุไว้ในแบบแจ้งการประเมินของปีอื่น ๆเนื่องจากความพลั้งเผลอของเจ้าหน้าที่ของจำเลย เมื่อปรากฏว่ารายการในข้อ 2(ก)ถึง(ง)และข้อ7(ก)และ(ข) ในแบบแจ้งการประเมินของปีอื่นเหมือนกันทั้งหมด และโจทก์ทราบและเข้าใจแบบแจ้งการประเมินที่มิได้ระบุรายการไว้เป็นอย่างดีว่าข้อความในรายการที่มิได้ระบุไว้ดังกล่าวย่อมเป็นทำนองเดียวกับที่ระบุไว้ในแบบแจ้งการประเมินของปีอื่น จนถึงกับยินยอมรับชำระภาษีเพิ่มเติม ดังนั้น การที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยพิมพ์รายการขาดตกบกพร่องในแบบแจ้งการประเมินดังกล่าว จึงไม่เป็นเหตุทำให้โจทก์ไม่เข้าใจหรือเสียหายแต่อย่างใดการประเมินภาษีเงินได้ของโจทก์สำหรับปี พ.ศ. 2518จึงชอบด้วยกฎหมาย ส. จ่ายค่าตอบแทนเกี่ยวกับกิจการระเบิดหินและโม่หินให้แก่ภริยาโจทก์ทุกเดือน รายได้ของโจทก์และภริยาเป็นผลประโยชน์เกี่ยวกับการที่ให้ ส. ดำเนินกิจการระเบิดหินรวมทั้งโม่หิน ซึ่งมิใช่การให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ย่อมจัดอยู่ในบัญชีอัตราภาษีการค้าประเภทการค้า 5 การให้เช่าทรัพย์สินซึ่งมิใช่อสังหาริมทรัพย์ โจทก์และภริยามีหน้าที่เสียภาษีการค้า
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเห็นว่าโจทก์เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปี พ.ศ. 2515 ถึง พ.ศ. 2519 ไว้ไม่ถูกต้อง จึงประเมินให้โจทก์เสียภาษีเงินได้และเงินเพิ่มเป็นเงิน 213,663.75 บาท และประเมินภาษีการค้าว่าโจทก์มีรายรับจากการให้เช่าสังหาริมทรัพย์ประจำเดือนมกราคมถึงธันวาคมสำหรับปี พ.ศ. 2515 ถึง พ.ศ. 2519จึงประเมินภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาล เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มรวม 89,911.45 บาท โจทก์อุทธรณ์การประเมินแล้ว คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์โจทก์ โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว ขอให้พิพากษาว่าโจทก์ไม่ต้องชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีการค้าดังกล่าวกับให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีการค้ารวมทั้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวทั้งหมด จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ให้ความยินยอมแก่เจ้าพนักงานว่ายินยอมชำระภาษีให้ครบถ้วน เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความผูกพันโจทก์ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง ขอให้ยกฟ้องศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ประเด็นวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีเพียงข้อเดียวว่า การประเมินของจำเลยและคำวินิจฉัยอุทธรณ์เป็นการชอบหรือไม่ ซึ่งโจทก์อุทธรณ์แยกออกเป็น4 หัวข้อ กล่าวคือ ข้อแรกโจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่มีเงินได้จากการให้เช่าสัมปทานตามที่ถูกประเมิน ข้อสองโจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยประเมินเงินได้ของโจทก์เกี่ยวกับเงินเดือนของโจทก์ในปี พ.ศ. 2515 ถึงพ.ศ. 2517 และปี พ.ศ. 2519 เกินไปดังที่โจทก์ฟ้องและเกี่ยวกับค่าเช่าบ้านในปี พ.ศ. 2519 จำนวน 2,100 บาท เป็นการไม่ชอบข้อสามโจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของโจทก์สำหรับปี พ.ศ. 2518 จำนวน 135,322 บาท (ที่ถูก 165,322 บาท)โดยมิได้ระบุว่าเป็นเงินได้อะไรเป็นการไม่ชอบ และข้อสี่โจทก์อุทธรณ์ว่าเมื่อโจทก์ไม่มีเงินได้จากการให้เช่าสัมปทานตามที่ถูกประเมิน โจทก์จึงไม่ต้องเสียภาษีการค้า และการให้เช่าสัมปทานมิใช่สังหาริมทรัพย์ โจทก์จึงไม่มีหน้าที่เสียภาษีการค้าตามบัญชีอัตราภาษีการค้าประเภท 5
ในปัญหาข้อแรก โจทก์นำสืบว่า การระเบิดหินและการโม่หินมิใช่เรื่องสัมปทาน เพียงแต่เป็นการขออนุญาตจากทางราชการเพื่อกระทำการดังกล่าว และกิจการระเบิดหินกับโม่หินก็เป็นกิจการของนายประดิษฐ์โจทก์มิได้เกี่ยวข้องด้วย ฝ่ายจำเลยนำสืบว่าในการตรวจสอบไต่สวนโจทก์ได้ให้การต่อจำเลยที่ 2 ไว้ว่านายประดิษฐ์เป็นผู้มีชื่อขอสัมปทานระเบิดหินนายสมศักดิ์ เชยกำแหง จ่ายเงินให้นางเงินยวงภริยาโจทก์เดือนละ 25,000 บาท ถึง 30,000 บาทเป็นค่าเช่าที่ดินทั้งปี 100,000 บาท ส่วนที่เหลือเป็นค่าใช้หนี้สินแต่โจทก์ไม่สามารถหาหลักฐานการเป็นหนี้สินมาแสดงได้ปรากฏรายละเอียดตามคำให้การของโจทก์ในเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 143 ศาลฎีกาเห็นว่ากรณีจะเป็นเรื่องสัมปทานหรือเรื่องการขออนุญาตจากทางราชการเพื่อกระทำการระเบิดหินและโม่หิน ก็ไม่ก่อให้เกิดผลแตกต่างกัน เพราะหากฟังว่านายประดิษฐ์กระทำการแทนโจทก์หรือภริยาโจทก์แล้วโจทก์ก็ต้องรับผิดเสียภาษีจากเงินจำนวนที่โจทก์หรือภริยาโจทก์ได้รับมาเนื่องจากการประกอบกิจการนั้น ๆ ฝ่ายโจทก์มีตัวโจทก์กับนายบรรจงศักดิ์ ปานทอง บุตรโจทก์ เบิกความลอย ๆ ว่า กิจการระเบิดหินและโม่หินเป็นกิจการของนายประดิษฐ์ นายสมศักดิ์พยานจำเลยเบิกความว่า พยานมีอาชีพเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างได้ร่วมงานกับนายประดิษฐ์ทำกิจการโรงโม่หิน พยานเคยขอยืมเงินจากนางเงินยวงจำนวนเป็นล้านบาทก็มีแต่ไม่เคยทำสัญญา แต่พยานเบิกความรับว่าเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) เคยสอบปากคำพยานไว้ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.2 แผนที่ 106 ถึง 109 ซึ่งมีข้อความสำคัญว่า โจทก์ได้ขอสัมปทานระเบิดหินโดยใช้ชื่อนายประดิษฐ์ และพยานได้จ่ายค่าตอบแทนให้แก่นางเงินยวงเดือนละ 25,000 ถึง 30,000 บาทนายกล้าณรงค์ จันทิก พยานจำเลยเบิกความว่า พยานรับราชการอยู่ที่สำนักงาน ป.ป.ป. พยานเป็นผู้สอบปากคำนายสมศักดิ์ไว้ นายสมศักดิ์ได้ให้ถ้อยคำว่าได้จ่ายผลประโยชน์ในการทำโรงโม่หินให้แก่นางเงินยวงเดือนละ 25,000 บาท ถึง 30,000 บาท ไม่ปรากฏว่าเป็นการใช้หนี้เงินยืมแต่อย่างใด ดังนั้นการที่โจทก์ก็ดีนายสมศักดิ์ก็ดี เบิกความเป็นทำนองว่า เงินจำนวนดังกล่าวเป็นค่าเช่าที่ดินและใช้หนี้เงินยืมนั้น เห็นว่าการกู้ยืมเงินกันเป็นจำนวนล้านบาทโดยมิได้มีหลักฐานอย่างใดเป็นเรื่องผิดปกติธรรมดาจึงไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟัง พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายสมศักดิ์จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่นางเงินยวงภริยาโจทก์เป็นค่าผลประโยชน์จากการระเบิดหินทำโรงโม่หิน จึงเป็นรายได้ที่โจทก์และภริยาจะต้องเสียภาษีตามกฎหมาย ที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินเรียกเก็บภาษีจากโจทก์เกี่ยวกับรายได้นั้นจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ในปัญหาข้อสองที่ว่า จำเลยประเมินเงินได้ของโจทก์เกี่ยวกับเงินเดือนของโจทก์ในปี พ.ศ. 2515 ถึง พ.ศ. 2517 และปี พ.ศ. 2519เกินไปดังที่โจทก์ฟ้อง และเกี่ยวกับค่าเช่าบ้านในปี พ.ศ. 2519เป็นการไม่ชอบหรือไม่นั้น โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ได้เสียภาษีเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาษีรายได้ระหว่างปี พ.ศ. 2515 ถึง พ.ศ. 2519 ไว้เป็นการถูกต้องแล้ว แต่ในทางพิจารณาโจทก์มิได้นำสืบรายละเอียดว่า การประเมินของจำเลยไม่ถูกต้องอย่างใด ดังนั้นแม้โจทก์จะเสียภาษีเงินได้เพิ่มเติมไว้ดังกล่าว ก็อาจยังมีข้อผิดพลาดอยู่ ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินย่อมทำการประเมินเรียกเก็บภาษีที่ขาดจากโจทก์ได้อีกโจทก์จำเลยนำสืบว่าจากการตรวจแบบเสียภาษีเงินได้ที่โจทก์ยื่นไว้หลายครั้ง ปรากฏว่าในส่วนที่เกี่ยวกับเงินเดือนนั้นในปี พ.ศ. 2515และปี พ.ศ. 2516 โจทก์ไม่นำเงินที่ทางราชการออกค่าภาษีแทนให้มาคิดคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีด้วย จึงต้องนำมารวมคำนวณใหม่ให้ถูกต้องปรากฏตามเอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 143 และ 138 ส่วนในปีพ.ศ. 2517 และ พ.ศ. 2519 โจทก์หักค่าใช้จ่ายในอัตราร้อยละ 20แต่เป็นจำนวนเกินกว่า 20,000 บาท ตามที่ประมวลรัษฎากรที่บังคับใช้ในขณะนั้นกำหนดให้หักได้ไม่เกิน 20,000 บาท เจ้าพนักงานประเมินจึงปรับปรุงให้ถูกต้อง ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 133 และ123 ตามลำดับ ส่วนค่าเช่าบ้านในปี พ.ศ. 2519 นั้น นางจำนงพรสุนทรบุระ เจ้าพนักงานประเมินเบิกความว่า ที่โจทก์อ้างว่าประเมินค่าเช่าบ้านในปี พ.ศ. 2519 สูงไปนั้น ความจริงแล้วจากการตรวจสอบปรากฏว่า โจทก์ได้เสียภาษีโรงเรือนไว้สูงกว่าที่ได้ยื่นแบบเสียภาษีเงินได้ พยานจึงถือจำนวนที่โจทก์ยื่นเสียภาษีโรงเรือนไว้เป็นเกณฑ์ ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 123 ส่วนโจทก์มิได้นำสืบในเรื่องนี้อย่างใดเช่นกัน ดังนั้นพยานหลักฐานของจำเลยจึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการประเมินของจำเลยในส่วนนี้เป็นการชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ในปัญหาข้อสามที่ว่า จำเลยประเมินภาษีเงินได้ของโจทก์สำหรับปี พ.ศ. 2518 จำนวน 135,322 บาท (ที่ถูก 165,322 บาท) โดยมิได้ระบุว่าเป็นเงินได้อะไรเป็นการชอบหรือไม่นั้น ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.10 แบบแจ้งการประเมินภาษีเงินได้แก่โจทก์ว่าไม่มีรายละเอียดในช่องรายการประเมิน ข้อ 2(ก) ถึง (ง) ว่าเป็นเงินประเภทใดและตามข้อ 7(ก) และ (ข) ไม่ระบุว่าเป็นภาษีเงินได้เฉลี่ยไปในทางใดข้อนี้นางจำนงพรเจ้าพนักงานประเมินเบิกความว่า เอกสารแจ้งการประเมินของปี พ.ศ. 2518 ไม่มีรายละเอียดระบุว่าเป็นเงินเดือนค่าเช่าสัมปทาน ค่าเช่าที่ดิน และค่าเช่าบ้าน เหมือนกับหนังสือแจ้งการประเมินของปี พ.ศ. 2515 ถึง 2517 และ พ.ศ. 2519 นั้นเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่อาจจะพลั้งเผลอ แต่อย่างไรก็ตามยอดเงินที่ปรากฏในเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 (ซึ่งรวมถึงเอกสารหมาย จ.10 ด้วย)ตรงกับยอดเงินที่พยานได้แจ้งให้โจทก์ทราบตามเอกสารหมาย ล.1แผ่นที่ 146 และ 147 ศาลฎีกาเห็นว่า แบบแจ้งการประเมินภาษีเงินได้ของปี พ.ศ. 2515 ถึง 2519 ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.11นั้นลงวันที่วันเดียวกันคือ วันที่ 12 ตุลาคม 2522 ทั้งโจทก์เบิกความว่า โจทก์ได้รับแบบแจ้งการประเมินดังกล่าวในวันที่ 12ตุลาคม 2522 การที่โจทก์ได้รับแบบแจ้งการประเมินทั้งหมด 5 ฉบับของปี พ.ศ. 2515 ถึง พ.ศ. 2519 ดังกล่าวซึ่งมีรายการในข้อ 2(ก)ถึง (ง) และข้อ 7(ก) และ (ข) เหมือนกันหมดในเอกสารหมาย จ.7 ถึงจ.9 และ จ.11 แต่ในเอกสารหมาย จ.10 ไม่มีรายการดังกล่าว เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของจำเลยพลั้งเผลอนั้น โจทก์ย่อมเข้าใจได้โดยง่ายว่าข้อความในรายการดังกล่าวก็ย่อมเป็นทำนองเดียวกับที่ระบุไว้เหมือน ๆ กับในปีอื่นนั่นเอง และต่อมาเมื่อโจทก์มาให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานประเมิน ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 หน้า 146 และ 147แสดงให้เห็นว่าโจทก์ทราบและเข้าใจแบบแจ้งการประเมินดังกล่าวเป็นอย่างดี จนถึงกับยินยอมชำระภาษีเพิ่มเติมดังที่จำเลยทำการประเมินเรียกเก็บจากโจทก์รวมทั้งในปี พ.ศ. 2518 ที่เป็นปัญหานี้ด้วยดังนั้น การที่เจ้าหน้าที่พลั้งเผลอพิมพ์รายการขาดตกบกพร่องไปบ้างในเอกสารหมาย จ.10 จึงไม่เป็นเหตุทำให้โจทก์ไม่เข้าใจหรือเสียหายอย่างใด ดังนี้ข้อบกพร่องดังกล่าวจึงไม่เป็นเหตุทำให้การประเมินภาษีเงินได้ของปี พ.ศ. 2518 เป็นการไม่ชอบ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ในปัญหาข้อสี่ที่ว่า โจทก์ไม่มีหน้าที่เสียภาษีการค้าตามบัญชีอัตราภาษีการค้าประเภท 5 หรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงได้ความตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้วว่านายสมศักดิ์ได้จ่ายค่าตอบแทนเกี่ยวกับกิจการระเบิดหินและโม่หินให้แก่ภริยาโจทก์เดือนละ 25,000 ถึง30,000 บาท โจทก์และภริยาจึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าเจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินเรียกเก็บภาษีการค้าประเภทการค้า 5ตามบัญชีอัตราภาษีการค้าแห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งระบุว่าได้แก่การให้เช่าทรัพย์สินที่มิใช่อสังหาริมทรัพย์รายได้ของโจทก์และภริยาเป็นผลประโยชน์เกี่ยวกับการที่ให้นายสมศักดิ์ดำเนินกิจการระเบิดหินรวมทั้งโม่หิน ซึ่งมิใช่การให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ย่อมจัดเข้าอยู่ในประเภทการค้า 5 ดังกล่าว เป็นการถูกต้องแล้วโจทก์จึงมีหน้าที่เสียภาษีการค้าดังที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า คำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางชอบแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นทุกข้อ”
พิพากษายืน