แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ได้รู้ถึงข้อเท็จจริงต่าง ๆ เกี่ยวกับการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนว่าเป็นจำเลยทั้งเก้าแล้ว ตามรายงานของคณะกรรมการสอบสวนที่โจทก์ตั้งขึ้นชุดแรก ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2523 แม้คณะกรรมการดังกล่าวจะสรุปความเห็นว่ามีผู้ต้องรับผิดชอบเพียงสองคนคือจำเลยที่ 6 และที่ 8 ก็ตาม การที่โจทก์ตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นสอบสวนในเรื่องเดิม คงเป็นเพียงวิธีการของโจทก์ เพื่อจะรู้ว่ายังมีใครอีกบ้างที่จะต้องรับผิดเท่านั้น หาใช่โจทก์ยังไม่รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ มิฉะนั้นอายุความหนึ่งปีที่กฎหมายกำหนดไว้ในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนอันเกิดแต่มูลละเมิดก็จะขยายออกไปได้เรื่อย ๆ แล้วแต่ความล่าช้าในการดำเนินการของโจทก์ ดังนั้นเมื่อนับจากวันที่ 30 เมษายน 2523 จนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ พ้นกำหนดเวลา 1 ปีแล้วฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรแรก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องว่า จำเลยทั้งเก้าปฏิบัติหน้าที่โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อและบกพร่องปล่อยให้ดวงตราประจำครั่งตู้นิรภัยถูกทำลายเป็นเหตุให้เงินของโจทก์ในตู้นิรภัยดังกล่าวสูญหายไป การกระทำของจำเลยทั้งเก้าเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งเก้าร่วมกันใช้เงิน ๒,๓๓๔,๔๒๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ให้การและแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การว่าจำเลยทั้งสองมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ฟ้องโจทก์เคลื่อบคลุมและขาดอายุความ
จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ให้การว่า จำเลยทั้งสามปฏิบัติหน้าที่ครบถ้วนถูกต้องแล้ว เงินโจทก์สูญหายไป ๒,๓๓๔,๔๒๐ บาท เกินกว่าจำนวนเงินที่จำเลยทั้งสามนำเข้าเก็บรักษาครั้งสุดท้ายประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ บาท หากจำเลยทั้งสามต้องรับผิดก็คงเฉพาะจำนวนเงินที่จำเลยทั้งสามนำเข้าเก็บรักษาครั้งสุดท้ายก่อนสูญหาย และฟ้องโจทก์ขาดอายุความ
จำเลยที่ ๖ ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยไม่มีหน้าที่ดูแลรักษาเงินตามฟ้อง หากจำเลยต้องรับผิดก็ไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท และฟ้องโจทก์ขาดอายุความ
จำเลยที่ ๗ ให้การและแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและจำเลยมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ
จำเลยที่ ๘ ให้การว่า จำเลยมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความ
จำเลยที่ ๙ ให้การว่า จำเลยมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ฟ้องโจทก์เคลื่อบคลุมและขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงปรากฏชัดแจ้งตามรายงานคณะกรรมการสอบสวนเอกสารหมาย ล.๖ ว่า เมื่อระหว่างตั้งแต่เวลาประมาณ ๒๑ ถึง ๔ นาฬิกา ของคืนวันที่ ๘ และ ๙ ตุลาคม ๒๕๒๒ ต่อเนื่องกัน ได้มีคนร้ายไม่ทราบจำนวนเข้าไปห้องประชาสัมพันธ์กองบัญชาการตำรวจนครบาล ทำลายตราครั่งปิดทับเงื่อนเชือกที่รัดรอบตู้นิรภัยซึ่งตั้งอยู่ในฟ้องดังกล่าวใช้กุญแจไขเปิดตู้นิรภัยแล้วลักเอาเงินสดของทางราชการจำนวน ๒,๓๓๔,๔๒๐ บาท ที่เก็บรักษาในตู้นิรภัยนั้นไปได้ ในช่วงเวลาดังกล่าวและเวลาต่อมา จำเลยที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ ทำหน้าที่เวรเฝ้าตู้นิรภัยดังกล่าวภายใต้การควบคุมดูแลของจำเลยที่ ๖ ซึ่งเป็นหัวหน้าเวร ในช่วงวันเวลาที่เงินสูญหาย จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ เป็นกรรมการเก็บรักษาเงินโดยจำเลยที่ ๔ ที่ ๕ เป็นผู้ถือลูกกุญแจตู้นิรภัยคนละดอกตามระเบียบ การเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลังของส่วนราชการ พ.ศ. ๒๕๒๐ เอกสารหมาย จ.๘ และการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการเก็บรักษาเงินของจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ อยู่ในความบังคับบัญชาดูแลรับผิดชอบของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจนครบาลผู้ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบด้านการเงิน ซึ่งแสดงว่าโจทก์ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่โดยบกพร่องและประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๙ ตั้งแต่ขณะได้รับรายงานเอกสารหมาย ล.๖ แล้ว ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลรับผิดชอบของจำเลยที่ ๒ เกี่ยวกับการบังคับบัญชาให้จำเลยที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ ทำหน้าที่เวรรักษาสถานที่ราชการตลอดจนการดูแลรักษาตู้นิรภัย ซึ่งเก็นรักษาไว้ในห้องประชาสัมพันธ์ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ให้เป็นไปโดยเคร่งครัด อันเป็นหน้าที่โดยตรงของจำเลยที่ ๒ ผู้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาลในขณะนั้นตลอดจนเอกสารหมาย จ.๘, จ.๙, จ.๑๐ และ จ.๑๑ อันเป็นระเบียบการต่าง ๆ ที่โจทก์อ้างในฟ้องก็เป็นที่รู้ประจักษ์ชัดอยู่แก่โจทก์แล้ว ก่อนที่โจทก์ได้รับรายงานเอกสารหมาย ล.๖ เมื่อได้ความว่าโจทก์ได้รับเอกสารหมาย ล.๖ ในวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๒๓ ก็เชื่อได้ว่าโจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ว่าจำเลยทั้งเก้าเป็นผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๒๓ เป็นอย่างน้อย แม้รายงานดังกล่าวจะสรุปว่ามีจำเลยที่ ๖ และที่ ๘ เพียงสองคนที่ต้องรับผิดชอบก็ตาม เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๒๔ พ้นกำหนดเวลา ๑ ปี นับแต่วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๒๓ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตามมาตรา ๔๔๘ วรรคแรก แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่โจทก์ฎีกาว่าขณะโจทก์ได้รับรายงานเอกสารหมาย ล.๖ เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๒๓ โจทก์คงได้ทราบรายละเอียดแห่งการละเมิด และได้ทราบผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนเพียงบางคน โจทก์จึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นอีกชุดหนึ่ง และจากรายงานตามเอกสารหมาย จ.๑๒ ซึ่งโจทก์ได้รับเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๒๔ โจทก์จึงได้รู้รายละเอียดแห่งการละเมิดและผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนเพิ่มขึ้น และนับจากวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๒๔ ถึงวันฟ้องยังไม่เกิน ๑ ปีฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาได้พิเคราะห์เอกสารหมาย จ.๑๒ โดยละเอียดแล้ว เห็นว่าแม้ตามข้อความในเอกสารหมาย จ.๑๒ จะปรากฏชัดขึ้นเกี่ยวกับจำนวนผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทน ก็มิได้หมายความว่าโจทก์เพิ่งรู้ แท้จริงแล้วโจทก์ก็ได้รู้ถึงข้อเท็จจริงต่าง ๆ เกี่ยวกับการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนว่าเป็นจำเลยทั้งเก้าแล้วตั้งแต่วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๒๓ ขณะได้รับรายงานเอกสารหมาย จ.๖ จากคณะกรรมการชุดแรกที่โจทก์ตั้งขึ้นดังได้วินิจฉัยมาแล้วในตอนต้น เพราะฉะนั้น การที่โจทก์ตั้งกรรมการชุดใหม่ขึ้นสอบสวนในเรื่องเดิมและอ้างว่าเพิ่งทราบตัวผู้จะพึงต้องรับผิดฐานละเมิดเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๒๔ ตามเอกสารหมาย จ.๑๒ คงเป็นเพียงวิธีการที่จะรู้ว่ายังมีใครอีกบ้างที่จะพึงต้องรับผิดเท่านั้น หาใช่โจทก์ยังไม่รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ มิฉะนั้นอายุความหนึ่งปีที่กำหนดไว้ก็จะขยายออกไปได้เรื่อย ๆ แล้วแต่ความล่าช้าในการดำเนินการของโจทก์ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความให้ยกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน