คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 990-991/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 808 ตัวแทนต้องทำการด้วยตนเอง เว้นแต่จะมีอำนาจให้ตัวแทนช่วงทำการได้ เมื่อหนังสือมอบอำนาจระบุว่า โจทก์มอบอำนาจให้บริษัท ซ. ฟ้องและดำเนินคดีแทนกับให้มีอำนาจตั้งตัวแทนช่วงคนเดียวหรือหลายคนเพื่อกระทำการแทนได้ ดังนั้น บริษัท ซ. มีอำนาจตั้ง ข. เป็นตัวแทนช่วงให้ทำการฟ้องคดีแทนต่อไป แต่ ข. ต้องดำเนินการตามที่ได้รับมอบอำนาจด้วยตนเอง เนื่องจากตามหนังสือมอบอำนาจไม่มีข้อความระบุว่า โจทก์ให้อำนาจผู้รับมอบอำนาจช่วงตั้งบุคคลอื่นเป็นตัวแทนช่วงทำการแทนต่อไปอีกได้ แม้ตามหนังสือมอบอำนาจช่วงมีข้อความว่า ให้ ข. มีอำนาจตั้งตัวแทนช่วงคนเดียวหรือหลายคนเพื่อให้มีอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจช่วง ก็เป็นเรื่องนอกเหนือขอบอำนาจที่โจทก์ระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจ ข. ไม่มีอำนาจตั้งให้ อ. เป็นตัวแทนช่วงดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายมานั้นแทนตน อ. ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
โจทก์ร่วมเข้ามาเป็นโจทก์ในคดีนี้เพราะโจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกโจทก์ร่วมเข้ามาในคดีตาม ป.พ.พ. มาตรา 477 และ 549 อันเป็นการร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) โจทก์ร่วมย่อมมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีเรื่องใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 58 วรรคหนึ่ง หาใช่เป็นการร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) ซึ่งต้องห้ามมิให้โจทก์ร่วมใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่มีอยู่แก่โจทก์ซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายที่ตนเข้าร่วมไม่ ดังนั้น แม้ฟ้องเดิมโจทก์จะไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ร่วมก็เข้ามาในคดีได้
แม้การเช่าของจำเลยถือเป็นการเช่าช่วงโดยชอบเพราะโจทก์ร่วมตกลงให้บริษัท ว. นำห้องเช่าพิพาทออกให้เช่าช่วงได้ แต่เมื่อโจทก์ร่วมกับบริษัท ว. ได้เลิกสัญญาเช่ากันแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิอยู่ในห้องเช่าพิพาทต่อไป เนื่องจากจำเลยเป็นผู้เช่าช่วงย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าบริษัท ว. ผู้เช่าเดิม และเหตุที่ห้องเช่าพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมก็เป็นไปตามข้อตกลงการเช่า ไม่ใช่เป็นกรณีโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์ที่เช่าไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 569 จำเลยไม่อาจยกสัญญาเช่าช่วงขึ้นอ้างต่อโจทก์เพื่อครอบครองห้องเช่าพิพาทได้ โจทก์ร่วมมีสิทธิขอให้ขับไล่จำเลยออกจากห้องเช่าพิพาทได้ แต่โจทก์ร่วมไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย เนื่องจากตามคำร้องขอของโจทก์ร่วมมิได้ขอให้จำเลยชำระค่าเสียหาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากห้องเลขที่ บี 614 ชั้นที่ 6 ในอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ตั้งอยู่เลขที่ 4/1 – 2 ถนนราชดำริ แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร กับให้ใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการขาดประโยชน์ที่ไม่ได้ใช้ห้องพิพาทเป็นเงินจำนวน 262,793.54 บาท และให้จำเลยชำระค่าขาดประโยชน์ที่ไม่ได้ใช้ห้องพิพาทในอัตราเดือนละ 23,173.55 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากห้องพิพาทแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลหมายเรียกสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอว่า โจทก์ร่วมเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2479, 2484 และ 2491 มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและจัดประโยชน์เกี่ยวกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีนายจิรายุ เป็นผู้อำนวยการมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3008 ตำบลปทุมวัน อำเภอปทุมวัน กรุงเทพมหานคร และอาคารศูนย์การค้าเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์เลขที่ 4 และ 4/1 – 2 ซึ่งปลูกสร้างบนที่ดิน เดิมโจทก์ร่วมได้ให้บริษัทวังเพชรบูรณ์ จำกัด เช่าที่ดินบางส่วนและอาคารศูนย์การค้า จำเลยได้ทำสัญญาเช่าห้องหมายเลข บี 614 ชั้นที่ 6 ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของอาคารศูนย์การค้าจากบริษัทเวิลด์เทรด พลาซ่า จำกัด ซึ่งเป็นบริวารของบริษัทวังเพชรบูรณ์ จำกัด ต่อมาโจทก์ร่วมได้บอกเลิกสัญญาเช่าต่อบริษัทวังเพชรบูรณ์ จำกัด และให้ส่งมอบสถานที่เช่าคืน สิทธิการเช่าของบริษัทวังเพชรบูรณ์ จำกัด รวมถึงจำเลยและผู้เช่าช่วงรายอื่นๆ จึงสิ้นสุดลง โจทก์ร่วมได้จดทะเบียนการเช่าให้โจทก์เป็นผู้เช่าที่ดินบางส่วนและอาคารศูนย์การค้าดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว แต่โจทก์ไม่สามารถเข้าครอบครองและใช้ประโยชน์ห้องหมายเลขดังกล่าวที่จำเลยครอบครองได้ การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดต่อโจทก์และโจทก์ร่วม เป็นเหตุให้โจทก์และโจทก์ร่วมได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารและส่งมอบห้องพิพาทให้แก่โจทก์ร่วมในสภาพเรียบร้อย ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับห้องพิพาทอีกต่อไป
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากห้องเช่าเลขที่ บี 614 ชั้นที่ 6 ในอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ตั้งอยู่เลขที่ 4 และเลขที่ 4/1 – 2 ถนนราชดำริ แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท นับจากวันที่ 1 มกราคม 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากห้องพิพาท กับให้จำเลยชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ กำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า บริษัทวังเพชรบูรณ์ จำกัด ทำสัญญาเช่าที่ดินจากโจทก์ร่วมเพื่อสร้างอาคารศูนย์การค้าและโรงแรมและตกลงให้สิ่งปลูกสร้างตกเป็นของโจทก์ร่วมโดยยินยอมให้บริษัทวังเพชรบูรณ์ จำกัด นำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกให้เช่าช่วงได้ แต่ข้อตกลงนี้ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่บริษัทวังเพชรบูรณ์ จำกัด ตกลงให้บริษัทเวิลด์เทรด พลาซ่า จำกัด นำสิ่งปลูกสร้างออกให้เช่าช่วงและจำเลยเช่าห้องพิพาทจากบริษัทดังกล่าว ต่อมาบริษัทวังเพชรบูรณ์ จำกัด ผิดสัญญาเช่า โจทก์ร่วมกับบริษัทวังเพชรบูรณ์ จำกัด จึงตกลงเลิกสัญญาเช่าต่อกัน หลังจากนั้นโจทก์ร่วมได้จดทะเบียนการเช่าให้โจทก์เป็นผู้เช่าที่ดินบางส่วนและอาคารศูนย์การค้าเป็นเวลา 30 ปี
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า นายอรรนพ มีอำนาจฟ้องคดีนี้แทนโจทก์หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า หนังสือมอบอำนาจไม่มีข้อความระบุให้ตัวแทนช่วงมีอำนาจแต่งตั้งตัวแทนช่วงได้อีกต่อหนึ่ง การที่นายขวัญชัย ผู้รับมอบอำนาจช่วงมอบอำนาจให้นายอรรนพฟ้องคดีแทนเป็นการเกินไปกว่าขอบอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจ ปัญหานี้แม้จำเลยไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาในศาลชั้นต้น แต่การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง จึงเป็นปัญหาซึ่งเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยยกขึ้นอุทธรณ์และฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 และมาตรา 249 เห็นว่า ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 808 ตัวแทนต้องทำการด้วยตนเอง เว้นแต่จะมีอำนาจให้ตัวแทนช่วงทำการได้ โจทก์มีพยานบุคคลมาเบิกความว่า มีการมอบอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจและหนังสือมอบอำนาจช่วง เมื่อหนังสือมอบอำนาจระบุว่า โจทก์มอบอำนาจให้บริษัทเซ็นทรัลเวิลด์ พลาซ่า จำกัด ฟ้องและดำเนินคดีแทนกับให้มีอำนาจตั้งตัวแทนช่วงคนเดียวหรือหลายคนเพื่อกระทำการแทนได้ ดังนั้น บริษัทเซ็นทรัลเวิลด์ พลาซ่า จำกัด จึงมีอำนาจตั้งนายขวัญชัยเป็นตัวแทนช่วงให้ทำการฟ้องคดีแทนต่อไป แต่นายขวัญชัยต้องดำเนินการตามที่ได้รับมอบอำนาจด้วยตนเองเนื่องจากตามหนังสือมอบอำนาจไม่มีข้อความระบุว่า โจทก์ให้อำนาจผู้รับมอบอำนาจช่วงตั้งบุคคลอื่นเป็นตัวแทนช่วงทำการแทนต่อไปอีกได้ แม้ตามหนังสือมอบอำนาจช่วงมีข้อความว่า ให้นายขวัญชัยมีอำนาจตั้งตัวแทนช่วงคนเดียวหรือหลายคนเพื่อให้มีอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจช่วง ก็เป็นเรื่องนอกเหนือขอบอำนาจที่โจทก์ระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจ นายขวัญชัยไม่มีอำนาจตั้งให้นายอรรนพเป็นตัวแทนช่วงดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายมานั้นแทนตน นายอรรนพย่อมไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาจากคำพยานและหนังสือมอบอำนาจและหนังสือมอบอำนาจช่วงแล้วฟังว่า การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีชอบแล้วนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า คำร้องของโจทก์ร่วมจะตกไปเพราะเหตุโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ร่วมเข้ามาเป็นโจทก์ในคดีนี้ก็เพราะโจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกโจทก์ร่วมเข้ามาในคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 477 และ 549 อันเป็นการร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) โจทก์ร่วมย่อมมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีเรื่องใหม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 58 วรรคหนึ่ง หาใช่เป็นการร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (2) ซึ่งต้องห้ามมิให้โจทก์ร่วมใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่มีอยู่แก่โจทก์ซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายที่ตนเข้าร่วมไม่ ดังนั้นแม้ฟ้องเดิมโจทก์จะไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ร่วมก็เข้ามาในคดีได้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า จำเลยครอบครองห้องพิพาทของโจทก์ร่วมโดยละเมิดหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า จำเลยมีสิทธิครอบครองห้องพิพาทได้ตามสัญญาเช่าระหว่างจำเลยกับบริษัทเวิลด์เทรด พลาซ่า จำกัด แม้ว่าโจทก์ร่วมกับบริษัทวังเพชรบูรณ์ จำกัด ได้ยกเลิกสัญญาเช่าต่อกันตามที่มีคำพิพากษาตามยอมและมีผลให้อาคารศูนย์การค้าและห้องเช่าพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมก็ไม่ทำให้สัญญาเช่าระหว่างจำเลยกับบริษัทเวิลด์เทรด พลาซ่า จำกัด ระงับไป เพราะคำพิพากษาตามยอมไม่มีผลผูกพันจำเลยและโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้รับโอนทรัพย์ที่เช่าต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 569 เห็นว่า แม้การเช่าของจำเลยถือเป็นการเช่าช่วงโดยชอบเพราะโจทก์ร่วมตกลงให้บริษัทวังเพชรบูรณ์ จำกัด นำห้องเช่าพิพาทออกให้เช่าช่วงได้ แต่เมื่อโจทก์ร่วมกับบริษัทวังเพชรบูรณ์ จำกัด ได้เลิกสัญญาเช่ากันแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิอยู่ในห้องเช่าพิพาทต่อไป เนื่องจากจำเลยเป็นผู้เช่าช่วงย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าบริษัทวังเพชรบูรณ์ จำกัด ผู้เช่าเดิม (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 15922/2553 ระหว่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี โจทก์ บริษัทเอสโซ่ แสตนดาร์ด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กับพวกจำเลย) และเหตุที่ห้องเช่าพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมก็เป็นไปตามข้อตกลงการเช่าไม่ใช่เป็นกรณีโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์ที่เช่าไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 569 จำเลยไม่อาจยกสัญญาเช่าช่วงขึ้นอ้างต่อโจทก์ร่วมเพื่อครอบครองห้องเช่าพิพาทได้ โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิขอให้ขับไล่จำเลยออกจากห้องเช่าพิพาทได้ แต่โจทก์ร่วมไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย เนื่องจากตามคำร้องขอของโจทก์ร่วมมิได้ขอให้จำเลยชำระค่าเสียหาย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องของโจทก์ แต่ให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากห้องเช่า บี 614 ชั้นที่ 6 ในอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ตั้งอยู่เลขที่ 4 และเลขที่ 4/1 – 2 ถนนราชดำริ แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลระหว่างจำเลยกับโจทก์และโจทก์ร่วมให้เป็นพับ

Share