แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ทนายโจทก์ยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ แล้วได้ขอกำหนดวันเวลานัดสืบพยานโจทก์กับพนักงานรับฟ้องโดยนัดวันที่ 25 พฤศจิกายน 2525 เวลา 9 นาฬิกา แต่ทนายโจทก์ลงนัดไว้ในสมุดบันทึกของตนเองว่าเป็นนัดเวลา 13.30 นาฬิกา ครั้นเมื่อทนายโจทก์มาขอรับหมายนัดแจ้งกำหนดวันสืบพยานโจทก์ให้จำเลยทราบเพื่อส่งให้แก่จำเลย ในหมายนัดดังกล่าวก็ได้ลงเวลานัดไว้ว่าเวลา 9 นาฬิกา เช่นนี้ การที่ทนายโจทก์นัดหมายให้พยานโจทก์มาศาลในวันนัดเวลา 13.30 นาฬิกาและ+มาศาลตามเวลาดังกล่าว แม้จะเกิดขึ้นเนื่องจากการสับสนจดจำผิดพลาดของหมายโจทก์ มิใช่ความผิดพลาดอันเกิดขึ้นจากตัวโจทก์เองโดยตรงก็ตาม ก็ถือว่าการขาดนัดพิจารณาของโจทก์เป็นไปโดยจงใจและไม่มีเหตุอันสมควรที่โจทก์จะขอพิจารณาใหม่
ในชั้นไต่สวนขอให้พิจารณาใหม่ โจทก์มีหน้าที่นำพยานหลักฐานเข้าสืบแสดงให้ศาลเห็นเพียงว่าการขาดนัดพิจารณาของโจทก์นั้นมิได้เป็นไปโดยจงใจหรือมีเหตุอันสมควรเท่านั้น โจทก์นำสืบในชั้นไต่สวนของให้พิจารณาใหม่ก้าวล่วงไปถึงฐานะแห่งการเป็นนิติบุคคลและบุคคลผู้เป็นผู้แทนของ โจทก์กับการมอบอำนาจให้ อ.ฟ้องดำเนินคดีแทนอันเป็นประเด็นข้อที่ 1 แห่งคดีซึ่งโจทก์มีภาระการพิสูจน์ในชั้นพิจารณาคดีเช่นนี้ จะนำพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบในชั้นไต่สวนขอให้พิจารณาใหม่ดังกล่าวมาใช้เป็นพยานหลักฐานในชั้นพิจารณาประเด็นแห่งคดีไม่ได้ เมื่อภาระการพิสูจน์ในประเด็นแห่งคดีดังกล่าวตกแก่โจทก์และโจทก์ไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบแล้ว โจทก์ก็ต้องตกเป็นฝ่ายแพ้คดี จึงไม่จำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ในประเด็นอื่น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มอบสำนวนให้นายวีรชัย ชลมณีกุล ฟ้องคดีนี้จำเลยที่ ๑ ออกเช็คตามฟ้องขายลดให้โจทก์โดยมีจำเลยที่ ๓ เป็นผู้สลักหลังและจำเลยที่ ๒ ทำสัญญาค้ำประกันให้ไว้แก่โจทก์แล้วจำเลยทั้งสามไม่ชำระเงินขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินตามเช็คพร้อมดอก เบี้ย
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การต่อสู้คดี
ครั้นถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ ๒ และผู้รับมอบฉันทะจากทนายจำเลยที่ ๓ มาศาล ส่วนโจทก์และจำเลยที่ ๑ ไม่มา ศาลชั้นต้นสั่งว่าโจทก์และจำเลยที่ ๑ ขาดนัดพิจารณา แล้วสอบถามจำเลยที่ ๒ จำเลย จำเลยที่ ๒ แถลงว่าขอให้ยกฟ้องโจทก์ เพราะโจทก์ไม่มีพยานมาสืบ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ขาดนัดพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๑ มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาล ๒ ฉบับ ฉบับแรกมีความว่า การที่ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความเป็นการไม่ถูกต้อง ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดี แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ส่วนคำร้องฉบับที่สองโจทก์อ้างว่ามิได้จงใจขาดนัด ขอให้ศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีใหม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องทั้งสองฉบับ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งให้จำหน่ายคดี แล้วให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๑ วรรคสอง จำเลยที่ ๒ ฎีกาขอให้ยกฟ้องโจทก์จำเลยที่ ๓ ฎีกาขอให้จำหน่ายคดีตามคำสั่งศาลชั้นต้น ศาลฎีกาพิพากษายืน
ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานจำเลยที่ ๒ ต่อไป ก่อนถึงวันนัดสืบพยานจำเลยที่ ๒ โจทก์ยื่นคำร้องว่า ที่โจทก์ไม่ได้มาศาลตามกำหนดนัดเมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๒๕ เวลา ๙ นาฬิกา นั้น เนื่องจากก่อนหน้าที่จะมีการนัดสืบพยานโจทก์ ทนายโจทก์ได้แจ้งแก่เจ้าหน้าที่แผนกรับฟ้องขอนัดสืบพยานโจทก์ในวันดังกล่าวเวลา ๑๓.๓๐ นาฬิกา และได้จดวันเวลานัดลงในสมุดนัดว่าความ แต่ด้วยความสับสนหรือความเข้าใจผิดหรือความผิดพลาดอย่างไรไม่ทราบได้ เจ้าหน้าที่ได้เขียนเวลานัดเป็นเวลา ๙ นาฬิกา ทนายโจทก์ได้เซ็นรับทราบนัดโดยไม่ได้สังเกตและตรวจดูว่าถูกต้องหรือไม่ ในวันนั้นเวลา ๑๓.๓๐ นาฬิกา ทนายโจทก์กับผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์และพยานโจทก์ได้มาศาล เจ้าหน้าที่แผนกหน้าบัลลังก์แจ้งว่าศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีแล้ว โจทก์มิได้จงใจขาดนัด ขอให้ศาลมีคำสั่งให้พิจารณาใหม่
ในวันนัดสืบพยานจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ กับที่ ๓ แถลงคัดค้าน ศาลชั้นต้นจึงให้งดสืบพยานจำเลยไว้ก่อน และนัดไต่สวนคำร้องของโจทก์
จำเลยที่ ๒ ยื่นคำคัดค้านว่า ทนายโจทก์เซ็นทราบนัดเองและหากโจทก์ไปศาลจริง โจทก์ไม่คัดค้านหรือทำคำร้องแจ้งให้ศาลทราบในวันนั้นแต่โจทก์กลับเพิกเฉยมายื่นคำร้องภายหลัง ๗ วัน เรื่องที่โจทก์กล่าวอ้างเป็นความผิดพลาดของโจทก์เอง ขอให้ยกคำร้องของโจทก์
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานจำเลยที่ ๒ อีก ก่อนถึงวันนัดสืบพยานจำเลยที่ ๒ โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๑ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตและให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๑ ครั้นถึงวันนัดสืบพยานจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ ยื่นคำแถลงว่าไม่ติดใจสืบพยาน และจำเลยที่ ๓ ก็แถลงไม่ติดใจสืบพยานเช่นเดียวกัน
ศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำฟ้อง คำให้การจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ แล้ว เห็นว่า โจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้าง จำเลยปฏิเสธ ภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์ เมื่อโจทก์ไม่มีพยานมาสืบตามข้อกล่าวอ้าง โจทก์ก็ต้องแพ้คดีพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ขอให้พิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้นโดยให้ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่ กับยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยให้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นและภาระการพิสูจน์ แล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ให้ตรงตามประเด็นแห่งคดี
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์อ้างว่านายบริรักษ์ทนายโจทก์ได้แจ้งแก่พนักงานรับฟ้องขอนัดสืบพยานโจทก์ วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๒๕ เวลา ๑๓.๓๐ นาฬิกา แล้วนายบริรักษ์ได้จดไว้ในสมุดนัดในช่องนัดบ่ายตามเอกสารหมาย จ.๔ แต่ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.๔ ในช่องนัดบ่ายนั้นเองว่าเดิมลงเวลาไว้ ๙.๐๐ นาฬิกา ซึ่งตรงกับที่เจ้าพนักงานศาลได้ลงเวลานัดไว้ในคำร้องเพื่อให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การ และนายบริรักษ์ได้ลงลายมือชื่อไว้ด้วย (ตามเอกสารในสำนวน สารบาญลำดับที่ ๒๒) แสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่านายบริรักษ์ได้ขอนัดเวลา ๙ นาฬิกา จึงได้ลงเวลาไว้ตรงกัน นอกจากนี้นายบริรักษ์ยังเบิกความตอบทนายจำเลยที่ ๓ ตามค้านว่า นายบริรักษ์เป็นผู้มารับหมายนัดแจ้งกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ให้จำเลยทราบ เพื่อนำส่งให้แก่จำเลยเอง ในหมายนัดได้ลงเวลานัดไว้ว่าเป็นเวลา ๙ นาฬิกา อันเป็นการยอมรับว่าได้นัดสืบพยานโจทก์เวลา ๙ นาฬิกา และหมายนัดนั้นได้ลงเวลาไว้ถูกต้องแล้ว นายบริรักษ์จึงมิได้ขอให้แก้ไข สมุดนัดตามเอกสารหมาย จ.๔ ซึ่งมีร่องรอยแก้ไขเวลาจาก ๙.๐๐ น. เขียนทับเป็น ๑๓.๓๐ น. นั้น อยู่ในความครอบครองของนายบริรักษ์ นายบริรักษ์จะทำการแก้ไขในภายหลังเสียเมื่อใดก็ได้ จึงมิใช่พยานหลักฐานที่จะนำมาเป็นข้อสนับสนุนให้รับฟังว่านายบริรักษ์ได้ขอนัดสืบพยานโจทก์ไว้เวลา ๑๓.๓๐ นาฬิกา เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายบริรักษ์ทนายโจทก์ได้ขาดนัดสืบพยานโจทก์ไว้เวลา ๙ นาฬิกา แต่นายบริรักษ์ทนายโจทก์นัดทนายให้นายวีรชัยกับนางสาวชวนชมพยานโจทก์มาศาลเมื่อเวลา ๑๓.๓๐ นาฬิกา และพากันมาศาลตามเวลาดังกล่าวอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามกำหนดเวลานัดของศาลซึ่งมุ่งหมายที่จะเร่งรัดการดำเนิน กระบวนพิจารณาให้เป็นไปโดยรวดเร็วอย่างเคร่งครัด แม้จะเกิดขึ้นเนื่องจากการสับสนจดจำผิดพลาดของนายบริรักษ์ทนายโจทก์ มิใช่ความผิดพลาดอันเกิดจากตัวโจทก์เองโดยตรงก็ตาม ก็ต้องถือว่าการขาดนัดพิจารณาของโจทก์เป็นไปโดยจงใจ และไม่มีเหตุอันสมควร เพราะมิฉะนั้นแล้ว ก็จะยกขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้พิจารณาใหม่ได้เสมอ
สำหรับปัญหาที่ว่ามีเหตุสมควรให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ให้ตรงตามประเด็นแห่งคดี หรือไม่ พิเคราะห์แล้วตามอุทธรณ์โจทก์กล่าวว่า ประเด็นแห่งคดีนี้ดังนี้คือ ๑. โจทก์เป็นนิติบุคคล มีนายวิวัฒน์ เตชะไพบูลย์ และ นายชัชวาล สัตตะรุจาวงษ์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนหรือไม่กับโจทก์ได้มอบอำนาจให้นายวีรชัย ชลมณีกุล ดำเนินคดีแทนหรือไม่ ๒. ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ๓. จำเลยที่ ๒ ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันหรือไม่ กับจำเลยที่ ๓ ต้องรับผิดตามเช็คพิพาทและดอกเบี้ยหรือไม่เพียงใด โดยโจทก์ยอมรับว่าภาระการพิสูจน์ในประเด็นข้อแรกตกแก่โจทก์ โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้แนบหนังสือรับรองของกระทรวงพาณิชย์ที่ออกให้กับบริษัทโจทก์และหนังสือมอบอำนาจมาพร้อมกับคำฟ้อง จึงใช้รับฟังได้ในเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ เพราะโจทก์ได้นำสืบและศาลได้ลงหมายเลขรับเป็นพยานเอกสารของโจทก์ไว้ในสำนวนแล้วจำเลยก็มิได้นำสืบแก้หรือหักล้างในชั้นไต่สวนขอให้พิจารณาใหม่แต่อย่างใด เห็นว่าในชั้นไต่สวนขอให้พิจารณาใหม่ โจทก์มีหน้าที่นำพยานหลักฐานเข้าสืบแสดงให้ศาลเห็นเพียงว่าการขัดนัดพิจารณาของโจทก์นั้นมิได้เป็นไปโดยจงใจ หรือมีเหตุอันสมควรเท่านั้น ที่โจทก์นำสืบในชั้นไต่สวนขอให้พิจารณาใหม่ก้าวล่วงไปถึงฐานะแห่งการเป็นนิติบุคคลและบุคคลผู้เป็นผู้แทนของโจทก์กับการมอบอำนาจให้นายวีรชัย ชลมณีกุล ฟ้องดำเนินคดีแทน อันเป็นประเด็นข้อที่ ๑ แห่งคดีซึ่งโจทก์มีภาระการพิสูจน์ในชั้นพิจารณาคดี จึงจะนำพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบในชั้นไต่สวนขอให้พิจารณาใหม่ดังกล่าวมาใช้เป็นพยานหลักฐานในชั้นพิจารณา ประเด็นแห่งคดีไม่ได้ เมื่อภาระการพิสูจน์ในประเด็นแห่งคดีดังกล่าวตกแก่โจทก์ และโจทก์ไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบแล้ว โจทก์ก็ต้องตกเป็นฝ่ายแพ้คดี จึงไม่จำเลยต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ในประเด็นอื่นด้วยดังที่โจทก์ฎีกา
พิพากษายืน