แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เมื่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางมีคำวินิจฉัยว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานกลาง คำวินิจฉัยของอธิบดีฯ ย่อมเป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 9 แม้จำเลยที่ 6 จะยื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานกลางดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลฯ มาตรา 10 ก่อนที่ศาลแรงงานกลางจะสืบพยานโจทก์ แต่ในขณะนั้นศาลปกครองชั้นต้นที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ ยังไม่ได้เปิดดำเนินการและแม้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 11 จะยื่นคำร้องเช่นเดียวกันนี้ต่อศาลแรงงานกลางหลังจากศาลปกครองชั้นต้นเปิดดำเนินการแล้ว ก็เป็นการยื่นคำร้องหลังจากศาลแรงงานกลางสืบพยานโจทก์ไปแล้ว ไม่เข้ากรณีที่ศาลแรงงานกลางจะต้องรอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราวและจัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลปกครองชั้นต้นเพื่อดำเนินการต่อไปตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว การที่ศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปโดยไม่รอการพิจารณาไว้ชั่วคราวและจัดทำความเห็นส่งไปยังศาลปกครองชั้นต้น จึงชอบแล้ว
คำฟ้องของโจทก์บรรยายว่า เงินเดือนอัตราใหม่ที่จำเลยที่ 2 รับไประหว่างวันที่31 ตุลาคม 2538 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2542 รวมเป็นเงิน 317,130 บาท และเมื่อตรวจสอบแล้วเงินจำนวนดังกล่าวเกินจากจำนวนที่จำเลยที่ 2 มีสิทธิได้รับเป็นจำนวน62,066.77 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิด เห็นได้ว่าเมื่ออ่านคำฟ้องและเอกสารท้ายฟ้องอันเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องประกอบกันแล้ว จำเลยที่ 2 ย่อมเข้าใจและสามารถต่อสู้คดีได้ คำฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
การที่โจทก์จ่ายค่าจ้างเพิ่มให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 เป็นการจ่ายตามคำสั่งที่ 63/2539 และที่ 64/2539 ซึ่งมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น การรับเงินของจำเลยที่ 2ถึงที่ 11 จากโจทก์จึงมิใช่เป็นการรับโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ แม้ต่อมาคำสั่งดังกล่าวจะถูกยกเลิกก็ตาม ทั้งการสิ้นผลบังคับของคำสั่งดังกล่าวมิใช่เป็นเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งมิได้มีได้เป็นขึ้น หรือเป็นเหตุที่ได้สิ้นสุดไปเสียก่อนแล้ว อันจะถือว่าเป็นการได้ทรัพย์มาในฐานลาภมิควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 406 จึงไม่อาจนำอายุความ 1 ปี ที่กำหนดสำหรับลาภมิควรได้มาใช้แก่กรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินดังกล่าวคืนจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 ได้ ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
เมื่อหนี้ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 ต้องชำระเป็นหนี้เงินและมีการผิดนัดดอกเบี้ยที่ศาลแรงงานกลางกำหนดให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 จ่ายแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีเป็นการกำหนดให้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ซึ่งศาลแรงงานกลางไม่อาจใช้ดุลพินิจกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลงกว่านี้อีกได้
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสิบสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบตามลำดับคืนเงิน 89,557.45 บาท 62,842.60 บาท 760,799.33 บาท 31,934.60 บาท90,017.88 บาท 148,738.84 บาท 92,260 บาท 149,984.65 บาท 144,190 บาท38,343.38 บาท 271,796.56 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินของจำเลยแต่ละคนนับแต่วันฟ้องจนกว่าได้ชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสิบสำนวนให้การและฟ้องแย้งและแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้งว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เนื่องจากมิได้บรรยายให้ชัดว่ามูลคดีเกิดจากโจทก์มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งที่ 63/2539 และที่ 64/2539 โดยออกคำสั่งที่ 93/2540 และมีคำสั่งเพิ่มบทเฉพาะกาลในคำสั่งที่ 34/2539 โดยออกเป็นคำสั่งที่ 27/2542 โจทก์ไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลแรงงานเพราะเป็นการฟ้องเรียกทรัพย์คืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1336 ซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะพิจารณาพิพากษา การจัดทำบัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือนแยกตามกลุ่มงานโดยไม่มีเจตนาปรับเงินเดือนพนักงานให้สูงขึ้นคำสั่งที่ 63/2539 และที่ 64/2539 ไม่ถือว่าเป็นการเพิ่มเงินเดือนพนักงานตามเจตนารมณ์ของมติคณะรัฐมนตรี จึงเป็นคำสั่งที่ชอบแล้ว อีกทั้งฟ้องของโจทก์ขาดอายุความเพราะมิได้ฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่รู้ว่ามีสิทธิเรียกคืนฐานลาภมิควรได้ ขอให้ยกฟ้องโจทก์ จำเลยทุกคนมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนทั้งเงินเดือนและค่าล่วงเวลาตามคำสั่งที่ 63/2539 และที่ 64/2539 และเป็นอำนาจของผู้ว่าการของโจทก์ในการจัดทำบัญชีโครงสร้างเงินเดือนตามคำสั่งที่ 34/2539 ตามมติคณะรัฐมนตรี การที่โจทก์ออกคำสั่งทางปกครองอันเป็นคดีปกครองยกเลิกคำสั่งดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง ไม่มีสิทธิมาฟ้องเรียกเงินคืนตั้งแต่วันที่ 31ตุลาคม 2538 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2542 ฝ่ายจำเลยจึงมีสิทธิติดตามและเอาคืนทรัพย์สินของจำเลยแต่ละคนที่เป็นเงินเดือน กับค่าล่วงเวลาที่โจทก์ยึดถือไว้โดยไม่มีสิทธิตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2542 เป็นต้นไป ขอให้บังคับโจทก์จ่ายเงินเดือนกับค่าล่วงเวลาดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้อง และจ่ายเงินเดือนตามอัตราเงินเดือนขั้นต่ำของตำแหน่งในบัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือนใหม่ที่ถูกต้องดังเดิมนับแต่คำสั่งที่ 63/2539 และที่ 64/2539 ตลอดจนคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปีต่อไปแก่จำเลยแต่ละราย
โจทก์ทั้งสิบสำนวนให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 62,842.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 62,066.77 บาท จำเลยที่ 3 ชำระเงิน760,799.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 746,872 บาท จำเลยที่ 4 ชำระเงิน 31,934.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน31,350 บาท จำเลยที่ 5 ชำระเงิน 90,017.88 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 88,370 บาท จำเลยที่ 6 ชำระเงิน 148,738.84 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 146,016 บาท จำเลยที่ 7 ชำระเงิน 92,260 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จำเลยที่ 8 ชำระเงิน 149,984.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 147,239 บาท จำเลยที่ 9 ชำระเงิน 144,190 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จำเลยที่ 10 ชำระเงิน 38,343.38 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 37,870 บาท และจำเลยที่ 11 ชำระเงิน271,796.56 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 266,821 บาทดอกเบี้ยของต้นเงินทุกรายการให้คิดตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้อง (29 มิถุนายน 2543) เป็นต้นไปจนกว่าได้ชำระเสร็จให้แก่โจทก์ คำขออื่นและฟ้องแย้งให้ยก
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นองค์การของรัฐจัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันการบินพลเรือนพ.ศ. 2535 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 เป็นพนักงานของโจทก์ เมื่อเดือนตุลาคม 2537 กระทรวงคมนาคมแจ้งโจทก์ว่าคณะรัฐมนตรีมีมติให้ปรับปรุงบัญชีโครงสร้างเงินเดือนพนักงานองค์การของรัฐแยกตามกลุ่มงานเพื่อให้สอดคล้องกับค่างานของตำแหน่งต่าง ๆตามความเห็นของกระทรวงการคลัง แล้วนำเสนอตกลงกับกระทรวงการคลังเพื่อให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2538 โจทก์ได้ดำเนินการและออกคำสั่งที่ 63/2539 ลงวันที่ 19 เมษายน 2539 เรื่อง การปรับอัตราเงินเดือนขั้นต่ำตามบัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือนใหม่ ให้ปรับอัตราเงินเดือนขั้นต่ำของพนักงานโจทก์ตามบัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือนใหม่ดังบัญชีรายละเอียดแนบท้ายคำสั่ง ซึ่งพนักงานของโจทก์รวมทั้งจำเลยที่ 2ถึงที่ 11 ได้รับการปรับค่าจ้างตามคำสั่งดังกล่าวจำนวน 23 คน ต่อมาโจทก์มีคำสั่งที่64/2539 ลงวันที่ 30 เมษายน 2539 เรื่อง การยกเลิกการเพิ่มค่าจ้างพนักงาน ให้เพิ่มค่าจ้างพนักงานโดยเลื่อนเงินเดือนให้ 1 ขั้น ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2538 เป็นต้นไป ทั้งนี้พนักงานของโจทก์ที่มีสิทธิเลื่อนเงินเดือน 1 ขั้นตามคำสั่งที่ 64/2539 ดังกล่าวมีจำนวน18 คน รวมทั้งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 ด้วย ต่อมาโจทก์ได้รับแจ้งจากกระทรวงการคลังว่าการจัดทำบัญชีรายละเอียดดังกล่าวไม่เป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรีเพราะมีการปรับเงินเดือนใหม่ให้สูงขึ้นด้วยให้โจทก์แก้ไขให้ถูกต้อง และหากมีการจ่ายเงินส่วนที่มีการปรับเพิ่มแล้วก็ให้เรียกเงินคืนโจทก์จึงมีคำสั่งที่ 93/2540 ยกเลิกคำสั่งที่ 63/2539 และที่ 64/2539 โดยให้ใช้คำสั่งที่ 44/2539 ไปพลางก่อน พร้อมทั้งให้แผนกบัญชีและการเงินกองคลังคำนวณเงินส่วนที่ปรับเพิ่มให้แก่พนักงานที่จ่ายไปแล้วเพื่อเรียกคืน เงินที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 ชำระแก่โจทก์เป็นเงินที่โจทก์จ่ายเกินไปจากบัญชีรายละเอียดตามคำสั่งที่ 44/2539
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อ 2.1 และอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 11 ข้อ 6.1 และข้อ 8 เกี่ยวกับอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานกลางซึ่งศาลแรงงานกลางได้กำหนดเรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นข้อพิพาทและส่งให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัย ต่อมาอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางมีคำวินิจฉัยที่ 85/2545 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2545 ว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 9 วรรคสอง บัญญัติให้คำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นที่สุด ดังนั้น ปัญหานี้จึงยุติตามคำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลาง และแม้จำเลยที่ 6 จะยื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานกลางดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2542มาตรา 10 ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2543 ก่อนที่ศาลแรงงานกลางสืบพยานโจทก์ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา 10 ของกฎหมายดังกล่าวก็ตาม แต่ในขณะนั้นศาลปกครองชั้นต้นที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง พ.ศ. 2542 ยังไม่ได้เปิดดำเนินการส่วนคำร้องที่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 11 ยื่นคำร้องเช่นเดียวกันนี้ต่อศาลแรงงานกลางหลังจากศาลปกครองชั้นต้นเปิดดำเนินการแล้วก็เป็นการยื่นคำร้องหลังจากศาลแรงงานกลางสืบพยานโจทก์ไปแล้ว ไม่เข้ากรณีที่ศาลแรงงานกลางจะต้องรอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราวและจัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลปกครองชั้นต้นเพื่อดำเนินการต่อไปตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2542 การที่ศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปโดยไม่รอการพิจารณาไว้ชั่วคราวและจัดทำความเห็นส่งไปยังศาลปกครองชั้นต้นตามคำขอของจำเลยนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อ 2.2 ที่ว่า คำฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 อ้างว่า คำฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับระยะเวลาที่จำเลยที่ 2ได้รับค่าจ้างเพิ่ม ทำให้จำเลยที่ 2 ไม่สามารถต่อสู้ได้ว่าค่าจ้างที่โจทก์อ้างว่าจ่ายให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นค่าจ้างที่จ่ายเพิ่มสำหรับระยะเวลาระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม 2538 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2542 หรือสำหรับระยะเวลาระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม 2538 ถึงวันที่ 5กันยายน 2539 นั้น เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์บรรยายแล้วว่าเงินเดือนอัตราใหม่ที่จำเลยที่ 2 รับไประหว่างวันที่ 31 ตุลาคม 2538 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2542 รวมเป็นเงิน317,130 บาท ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 และเมื่อตรวจสอบแล้วเงินจำนวนดังกล่าวเกินจากจำนวนที่จำเลยที่ 2 มีสิทธิได้รับเป็นจำนวน 62,066.77 บาท ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ซึ่งเป็นจำนวนที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิด จึงเห็นได้ว่าเมื่ออ่านคำฟ้องและเอกสารท้ายฟ้องอันเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องประกอบกันแล้วจำเลยที่ 2 ย่อมเข้าใจและสามารถต่อสู้คดีได้ จึงไม่เป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุม อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อ 2.3 และอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 11 ข้อ 6.2และข้อ 6.4 ที่ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มตามคำสั่งที่ 63/2539 และที่ 64/2539 หรือไม่ นั้น เห็นว่า คำสั่งที่ 63/2539 และที่ 64/2539 ได้ถูกยกเลิกแล้วโดยคำสั่งที่ 93/2540 โดยไม่ปรากฏว่าคำสั่งที่ 93/2540 เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด คำสั่งที่ 63/2539 และที่ 64/2539 จึงสิ้นผลไปโดยผลของกฎหมาย จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 จึงไม่สามารถอ้างคำสั่งที่ 63/2539 และที่ 64/2539 เพื่อเรียกหรือปฏิเสธไม่คืนเงินที่รับมาโดยอาศัยคำสั่งดังกล่าวได้อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อ 2.4 และอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 11 ข้อ 6.3ที่ว่า คดีขาดอายุความหรือไม่ โดยอ้างว่าเงินที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 รับไปจากโจทก์เป็นลาภมิควรได้จึงมีอายุความ 1 ปี นับแต่โจทก์รู้ว่ามีสิทธิเรียกคืน นั้น เห็นว่าการที่โจทก์จ่ายเงินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 เป็นการจ่ายตามคำสั่งที่ 63/2539 และที่64/2539 ซึ่งมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น การรับเงินของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 จากโจทก์จึงมิใช่เป็นการรับโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ แม้ต่อมาคำสั่งที่ 63/2539 และที่ 64/2539 จะถูกยกเลิกโดยคำสั่งที่ 93/2540 ก็ตามทั้งการสิ้นผลบังคับของคำสั่งที่63/2539 และที่ 64/2539 มิใช่เป็นเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งมิได้มีได้เป็นขึ้น หรือเป็นเหตุที่ได้สิ้นสุดไปเสียก่อนแล้ว อันจะถือว่าเป็นการได้ทรัพย์มาในฐานลาภมิควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 ดังนั้น อายุความ 1 ปีที่กำหนดสำหรับลาภมิควรได้จึงไม่อาจนำมาใช้แก่กรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินดังกล่าวคืนจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 ได้ต้องใช้อายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 ข้อ 7 ที่ว่า ดอกเบี้ยที่ศาลแรงงานกลางกำหนดสูงเกินไปและเป็นที่เดือดร้อนแก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 นั้น เห็นว่า เมื่อหนี้ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 ต้องชำระเป็นหนี้เงินและมีการผิดนัด ดอกเบี้ยที่ศาลแรงงานกลางกำหนดให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 จ่ายแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นการกำหนดให้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ซึ่งศาลแรงงานกลางไม่อาจใช้ดุลพินิจกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลงอีกได้ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน”
พิพากษายืน