แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.อ. มาตรา 340 วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้าในการปล้นทรัพย์ผู้กระทำผิดแม้แต่คนหนึ่งคนใดมีอาวุธติดตัวไปด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษ…” แสดงให้เห็นเจตนาของกฎหมายว่ามุ่งเอาผิดแก่ผู้ร่วมปล้นทรัพย์ทุกคน เพราะผู้กระทำอาจใช้อาวุธนั้นทำร้ายผู้เสียหายได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าพวกของจำเลยมีอาวุธปืนไปด้วย แม้จำเลยจะรู้หรือไม่รู้ว่าพวกของจำเลยมีอาวุธปืนจำเลยก็ต้องมีความรับผิดตาม ป.อ. มาตรา 340 วรรคสอง
จำเลยกับพวกเดินทางมาที่เกิดเหตุโดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะ แม้หลังจากที่ผู้เสียหายใช้อาวุธปืนยิงจำเลย จำเลยกับพวกจะแยกย้ายกันหลบหนีโดยทิ้งรถจักรยานยนต์ไว้ในที่เกิดเหตุก็ตาม แต่การที่จำเลยกับพวกใช้รถจักรยานยนต์ที่มีการใช้สกอตเทปสีดำติดเปลี่ยนเลขทะเบียนรถอำพรางเลขทะเบียนที่แท้จริงเป็นยานพาหนะเดินทางมายังที่เกิดเหตุ แล้วเข้าไปพยายามปล้นทรัพย์ที่บ้านของผู้เสียหาย ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยใช้รถจักรยานยนต์เดินทางมายังบ้านของผู้เสียหายเพื่อกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ และหากปล้นทรัพย์สำเร็จจำเลยกับพวกย่อมใช้รถจักรยานยนต์คันดังกล่าวพาทรัพย์นั้นไปจากที่เกิดเหตุ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 340 ตรี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289, 340, 340 ตรี, 80, 371, 32, 33, 83, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสองประกอบมาตรา 340 ตรี, 80, 83, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 18 ปีเศษ รู้ผิดชอบแล้ว จึงไม่ลดมาตราส่วนโทษให้ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันพยายามปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธติดตัวและโดยใช้ยานพาหนะเพื่อให้พ้นการจับกุม จำคุก 15 ปี ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณานับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยทั้งสิ้นมีกำหนด 10 ปี 16 เดือน ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง ประกอบมาตรา 80, 83 และมาตรา 371 ฐานร่วมกันพยายามปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธ จำคุก 10 ปี และฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรปรับ 90 บาท รวมจำคุก 10 ปี และปรับ 90 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี 8 เดือน และปรับ 60 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้าในการปล้นทรัพย์ผู้กระทำผิดแม้แต่คนหนึ่งคนใดมีอาวุธติดตัวไปด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษ…” แสดงให้เห็นเจตนาของกฎหมายว่ามุ่งเอาผิดแก่ผู้ร่วมปล้นทรัพย์ทุกคน เพราะผู้กระทำอาจใช้อาวุธนั้นทำร้ายผู้เสียหายได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าพวกของจำเลยมีอาวุธปืนไปด้วยแม้จำเลยจะรู้หรือไม่รู้ว่าพวกของจำเลยมีอาวุธปืนจำเลยก็ต้องมีความรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
จำเลยกับพวกเดินทางมาที่เกิดเหตุโดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะ แม้หลังจากที่ผู้เสียหายใช้อาวุธปืนยิงจำเลย จำเลยกับพวกจะแยกย้ายกันหลบหนีโดยทิ้งรถจักรยานยนต์ไว้ในที่เกิดเหตุก็ตาม แต่การที่จำเลยกับพวกใช้รถจักรยานยนต์ที่มีการใช้สกอตเทปสีดำติดเปลี่ยนเลขทะเบียนรถอำพรางเลขทะเบียนที่แท้จริงเป็นยานพาหนะเดินทางมายังที่เกิดเหตุ แล้วเข้าไปพยายามปล้นทรัพย์ที่บ้านของผู้เสียหาย ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยใช้รถจักรยานยนต์เดินทางมายังบ้านของผู้เสียหายเพื่อกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ และหากปล้นทรัพย์สำเร็จจำเลยกับพวกย่อมใช้รถจักรยานยนต์คันดังกล่าวพาทรัพย์นั้นไปจากที่เกิดเหตุ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง ประกอบมาตรา 340 ตรี, 80, 83 ลงโทษจำคุก 15 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำคุก 10 ปี เมื่อรวมกับความผิดฐานพาอาวุธปืนแล้วเป็นจำคุก 10 ปี และปรับ 60 บาทนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9