คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9761/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 1361 บัญญัติว่า “เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ จะจำหน่ายส่วนของตนหรือจำนอง หรือก่อให้เกิดภาระติดพันก็ได้ แต่ตัวทรัพย์สินนั้นจะจำหน่าย จำนำ จำนอง หรือก่อให้เกิดภาระติดพันได้ ก็แต่ด้วยความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน” แม้ผู้ร้องจะเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาททั้งสองแปลง 1 ใน 7 ส่วน แต่จากการไต่สวนข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของจ่าสิบเอก บ.จดทะเบียนใส่ชื่อของจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเพียงคนเดียว และนำที่ดินดังกล่าวไปจำนองเพื่อประกันหนี้ไว้แก่โจทก์ ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องและบรรดาทายาทอื่นของจ่าสิบเอก บ.โต้แย้งคัดค้านแต่อย่างใด ทั้งผู้ร้องและพี่น้องคนอื่นซึ่งเป็นบุตรของจำเลยยังเคยเจรจากับโจทก์ว่าไม่คิดจะโกงโจทก์ และภายหลังโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้แล้ว ผู้ร้องยังมีส่วนเจรจากับโจทก์โดยขอให้โจทก์ยอมลดยอดหนี้ให้แก่จำเลย จนจำเลยและโจทก์ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และเมื่อมีการยึดที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาด ผู้ร้องยังได้ไปดูแลการขายทอดตลาดแทนจำเลยอีกด้วย แสดงว่าตลอดระยะเวลาประมาณ 20 ปี นับแต่จำเลยนำที่ดินพิพาททั้งสองแปลงไปจำนองไว้แก่โจทก์ ผู้ร้องรู้มาโดยตลอด แต่ไม่เคยโต้แย้งหรือคัดค้าน แสดงว่าผู้ร้องมีเจตนาให้จำเลยแสดงตนเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทแต่ผู้เดียวและยินยอมให้จำเลยจำนองที่ดินพิพาทได้ การจำนองผูกพันผู้ร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคสอง ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอกันส่วนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงออกจากการขายทอดตลาดได้

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากจำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ขอบังคับคดี โดยโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 2582 และ 2579 ตำบลท่าช้าง (ย่านซื่อ) อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์ของจำเลยเพื่อบังคับจำนองเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งกันที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเฉพาะส่วนของผู้ร้องจำนวนหนึ่งในเจ็ดส่วนดังกล่าวออกจากการขายทอดตลาด
โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่าเดิมจ่าสิบเอกบัว เป็นเจ้าของโฉนดที่ดินเลขที่ 2582 และ 2579 จ่าสิบเอกบัวเป็นสามีของจำเลย มีบุตร 6 คน รวมทั้งผู้ร้อง ต่อมาจ่าสิบเอกบัวถึงแก่ความตาย จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกไม่มีพินัยกรรมของจ่าสิบเอกบัว ต่อมาจำเลยได้จดทะเบียนชื่อจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2582 และโฉนดเลขที่ 2579 เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2528 ตามสาระบาญแก้ทะเบียนท้ายสำเนาโฉนดที่ดิน แล้วจำเลยนำที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวจดทะเบียนจำนองเพื่อประกันหนี้ไว้แก่โจทก์ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2528 และมีการจดทะเบียนขึ้นเงินจำนองกับโจทก์ร่วม 9 ครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2540 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีสิทธิขอกันส่วนในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงหรือไม่ โดยผู้ร้องฎีกาอ้างว่า ที่ดินทั้งสองแปลงเป็นทรัพย์มรดกของจ่าสิบเอกบัว บิดาของผู้ร้องซึ่งต้องแบ่งออกเป็น 7 ส่วน ผู้ร้องจึงมีกรรมสิทธิ์รวมอยู่ในที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าว 1 ใน 7 ส่วน การที่จำเลยนำที่ดินทั้งสองแปลงไปจำนองไว้แก่โจทก์ แม้ไม่มีการคัดค้านจากผู้ร้องก็ตาม ก็ยังต้องถือว่าสิทธิของการเป็นเจ้าของรวมของผู้ร้องยังอยู่เหนือที่ดินพิพาท ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอกันส่วนได้นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1361 บัญญัติว่า เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ จะจำหน่ายส่วนของตน หรือจำนอง หรือก่อให้เกิดภาระติดพันก็ได้ แต่ตัวทรัพย์สินนั้นจะจำหน่าย จำนำ จำนอง หรือก่อให้เกิดภาระติดพันได้ ก็แต่ด้วยความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน เห็นว่า แม้ผู้ร้องจะเป็นเจ้าของรวม 1 ใน 7 ส่วนตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างในฎีกาก็ตาม แต่จากการไต่สวนข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของจ่าสิบเอกบัว จดทะเบียนใส่ชื่อของจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดพิพาททั้งสองแปลงเพียงคนเดียว และนำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองเพื่อประกันหนี้ไว้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2528 และจดทะเบียนขึ้นเงินจำนองถึง 9 ครั้ง ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องและบรรดาทายาทอื่นของจ่าสิบเอกบัวโต้แย้งคัดค้านแต่อย่างใด โดยผู้ร้องและพี่น้องคนอื่นซึ่งเป็นบุตรของจำเลยยังเคยเจรจากับโจทก์ว่าไม่คิดจะโกงโจทก์ และภายหลังโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้แล้ว ในชั้นพิจารณาของศาล ผู้ร้องยังมีส่วนในการเจรจากับโจทก์โดยขอให้โจทก์ยอมลดยอดหนี้ให้แก่จำเลย จนจำเลยและโจทก์ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีนี้เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2545 และเมื่อมีการยึดที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาดผู้ร้องยังได้ไปดูแลการขายทอดตลาดแทนจำเลยอีกด้วย แสดงว่าตลอดระยะเวลาประมาณ 20 ปี นับแต่จำเลยนำที่ดินพิพาททั้งสองแปลงไปจดทะเบียนไว้แก่โจทก์ ผู้ร้องรู้มาโดยตลอดแต่ไม่เคยโต้แย้งหรือคัดค้านที่จำเลยนำที่ดินพิพาทจำนองไว้แก่โจทก์ แสดงว่าผู้ร้องมีเจตนาให้จำเลยแสดงตนเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทแต่ผู้เดียวโดยยินยอมให้จำเลยจำนองที่ดินพิพาทได้ การจำนองจึงผูกพันผู้ร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1361 วรรคสอง ดังกล่าวข้างต้น ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอกันส่วนในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงออกจากการขายทอดตลาดได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้ยกคำร้องของผู้ร้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share