คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1117/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปัญหาที่ว่าเจ้าหนี้รายใดจะมีสิทธิคัดค้านการเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่นั้น เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้ร้องขอทั้งห้าและผู้ทำแผนสามารถยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง
ตามแผนฟื้นฟูกิจการได้จัดให้เจ้าหนี้รายที่ 207 อยู่ในกลุ่มที่ 12 สิทธิของเจ้าหนี้ในกลุ่มนี้ที่จะได้รับชำระหนี้ดังเช่นสัญญาเดิมคงมีเฉพาะกำหนดชำระหนี้การค้า แต่ไม่รวมถึงอัตราดอกเบี้ยแต่อย่างใด เมื่อตามสำนวนปรากฏว่าเจ้าหนี้รายที่ 207 ขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ตั๋วแลกเงินและหนี้เงินกู้ TPI – ANZ BANK พร้อมด้วยดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด เจ้าหนี้รายที่ 207 จึงมิใช่เจ้าหนี้ที่ขอรับชำระหนี้เฉพาะต้นเงินในหนี้การค้าตามแผนฟื้นฟูกิจการ ทั้งในแผนฟื้นฟูกิจการเล่มที่ 1 หน้าที่ 4 ในส่วนหมายเหตุได้ระบุไว้ชัดแจ้งว่า เจ้าหนี้ที่เป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องในส่วนของภาคผนวก 3 ซึ่งหมายถึงเจ้าหนี้ในกลุ่มที่ 12 เป็นเจ้าหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการฟื้นฟูกิจการ เช่นนี้ เจ้าหนี้รายที่ 207 จึงมิใช่เจ้าหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/46 ทวิ (2) เจ้าหนี้รายที่ 207 จึงมีสิทธิคัดค้านแผนได้ตามมาตรา 90/57 ส่วนเจ้าหนี้รายที่ 270 ตามแผนฟื้นฟูกิจการจัดให้อยู่ในกลุ่มที่ 14 คือเจ้าหนี้ที่ไม่ได้รับผลกระทบตามแผน จึงเป็นเจ้าหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/46 ทวิ (1) ซึ่งกฎหมายให้ถือว่าเป็นเจ้าหนี้ที่ยอมรับแผน เจ้าหนี้รายที่ 270 จึงไม่มีสิทธิคัดค้านแผนตามมาตรา 90/57 แม้ว่าในการอุทธรณ์ของเจ้าหนี้รายที่ 270 นี้จะได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางก็ตาม ก็ไม่ได้ก่อให้เกิดสิทธิแก่เจ้าหนี้รายนี้ในการอุทธรณ์แต่อย่างใด อุทธรณ์ของเจ้าหนี้รายที่ 270 จึงตกไป
ในการประกาศโฆษณากำหนดนัดประชุมในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอย่างน้อย 1 ฉบับล่วงหน้าก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่า 10 วัน ตามมาตรา 90/44 วรรคหนึ่งนั้น ใช้เฉพาะกับการนัดประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก ส่วนในการนัดประชุมเจ้าหนี้ในคราวที่ได้เลื่อนไปนั้น หากว่าในการนัดประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกได้ดำเนินการโดยชอบตามมาตรา 90/44 วรรคหนึ่งแล้ว การนัดประชุมเจ้าหนี้ในคราวที่ได้เลื่อนไปก็ไม่ต้องประกาศโฆษณากำหนดนัดประชุมในหนังสือพิมพ์รายวันอีก ปรากฏว่าในการนัดประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ดำเนินการโดยชอบตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/44 วรรคหนึ่งแล้ว แต่การประชุมดังกล่าวไม่แล้วเสร็จจึงมีการเลื่อนไป เช่นนี้การประชุมเจ้าหนี้ในคราวที่ได้เลื่อนไปจึงไม่ต้องดำเนินการโฆษณากำหนดนัดประชุมในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอีกแต่อย่างใด
ในการมีคำสั่งหรือคำพิพากษานั้น ศาลล้มละลายกลางจะต้องวินิจฉัยคดีตามประเด็นซึ่งเจ้าหนี้ได้ยกขึ้นอ้างในคำคัดค้าน เมื่อประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นสำคัญในการพิจารณาว่าจะให้ความเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่ การที่ศาลล้มละลายกลางยังมิได้พิจารณาประเด็นเรื่องการประกาศโฆษณากำหนดนัดประชุมซึ่งถือว่าเป็นประเด็นสำคัญจึงเป็นการไม่ชอบตามข้อกำหนดคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการอุทธรณ์คดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาประกอบกับประเด็นที่ศาลล้มละลายกลางยังไม่ได้วินิจฉัยนั้นเป็นประเด็นที่ลูกหนี้ได้คัดค้านและอุทธรณ์มายังศาลฎีกาด้วย ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยก่อน
วิธีประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการนั้น พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 หมวด 3/1 ว่าด้วยกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ มิได้บัญญัติโดยเฉพาะกรณีจึงต้องนำ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 หมวด 1 ส่วนที่ 3 ว่าด้วยการประชุมเจ้าหนี้มาบังคับใช้โดยอนุโลมตามมาตรา 90/2 วรรคสอง ซึ่งในบทบัญญัติส่วนดังกล่าว มาตรา 33 กำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นประธานในการประชุม เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงเป็นผู้เสนอหัวข้อให้ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาและควบคุมการประชุมเจ้าหนี้ให้เป็นไปโดยเรียบร้อย แม้ว่าคำขอแก้ไขแผนของลูกหนี้จะมีประเด็นต่าง ๆ รวม 20 ประเด็น แต่ที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่ได้เสนอให้ลงมติเป็นรายประเด็นหรือรวมกัน กรณีจึงเป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งเป็นประธานในการประชุมที่จะพิจารณาถึงประเด็นต่าง ๆ ในคำขอแก้ไขแผนฉบับดังกล่าวตลอดจนความเกี่ยวพันของประเด็นเหล่านั้นในคำขอว่าจะให้มติแยกหรือรวมก็ได้
บทบัญญัติในมาตรา 90/57 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มิได้บังคับศาลว่าจะต้องดำเนินการไต่สวนพยานก่อนที่จะมีคำสั่งว่าเห็นชอบด้วยแผน แต่บทบัญญัติดังกล่าวเปิดโอกาสให้เป็นดุลพินิจของศาลในการที่จะพิจารณาว่าข้อสาระสำคัญที่ใช้ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับแผนนั้นมีอยู่ครบถ้วนแล้วหรือไม่ หากศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญในการที่จะเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่นั้นมีอยู่ครบถ้วนแล้วก็ไม่มีเหตุที่จะต้องไต่สวนพยานหลักฐานอันจะทำให้คดีฟื้นฟูกิจการล่าช้าออกไปแต่อย่างใด
กระบวนพิจารณาในการฟื้นฟูกิจการนั้น หลังจากที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับแผนด้วยมติพิเศษตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/46 แล้ว กฎหมายกำหนดให้แผนดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบจากศาลอีกขั้นตอนหนึ่งตามบทบัญญัติในส่วนที่ 8 ว่าด้วยการพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ กรณีจึงเป็นการกำหนดให้ศาลเข้ามามีบทบาทในทางธุรกิจเพื่อจะได้วินิจฉัยตรวจสอบในการให้ความเห็นชอบด้วยแผนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และมอบดุลพินิจให้ตรวจสอบว่าสมควรจะให้ความเห็นชอบด้วยแผนนั้นหรือไม่ ศาลจึงมีอำนาจตรวจสอบถึงเนื้อหาของแผนตลอดจนโอกาสความเป็นไปได้ในการดำเนินการตามแผนด้วย มิใช่พิจารณาเพียงแต่ตรวจสอบรายการต่าง ๆ ว่ามีครบถ้วนตามรูปแบบหรือไม่
เมื่อปรากฏว่าในการดำเนินการประชุมเจ้าหนี้นั้นได้มีการประชุมโดยชอบ ที่ประชุมเจ้าหนี้ได้มีมติพิเศษยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการ ทั้งแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าวมีรายการครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด และได้จัดสรรแบ่งชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม จากการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าว ทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย ทั้งแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าวมีโอกาสที่จะดำเนินการสำเร็จตามแผนได้และได้มีการทำแผนโดยสุจริต อีกทั้งการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการจะเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้และประเทศชาติโดยส่วนรวม ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนนั้น ชอบแล้ว
1/2

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และตั้งให้บริษัทเอ็ฟเฟ็คทีฟแพลนเนอร์ส จำกัด เป็นผู้ทำแผน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานว่า ในการประชุมเจ้าหนี้ (คราวที่ได้เลื่อนมา) เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2543 เพื่อปรึกษาว่าจะยอมรับแผนหรือไม่ หรือจะแก้ไขอย่างไร ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับแผนที่ได้มีการแก้ไขแล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/46 ขอให้ศาลนัดพิจารณาแผน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แจ้งกำหนดนัดพิจารณาแผนให้ผู้ทำแผน ลูกหนี้ และเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบโดยชอบแล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/56
เจ้าหนี้รายที่ 207 และที่ 270 ยื่นคำคัดค้านเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนและลงมติใหม่
ลูกหนี้ยื่นคำคัดค้านขอให้มีคำสั่งยกเลิกมติที่ประชุมและสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผน
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำชี้แจงและคำแถลงว่า การแจ้งกำหนดการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2543 วันที่ 16 พฤศจิกายน 2543 และวันที่ 27 พฤศจิกายน 2543 ได้กระทำถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ กรณีจึงไม่ใช่ความผิดของผู้ทำแผน
ศาลล้มละลายกลางพิพากษาให้งดไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องของเจ้าหนี้รายที่ 207 ที่ 270 และของลูกหนี้ในส่วนที่มีการขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมเจ้าหนี้ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ และศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/58 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ลูกหนี้ เจ้าหนี้รายที่ 207 และที่ 270 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา โดยอธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือ
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ว่าเจ้าหนี้รายใดจะมีสิทธิคัดค้านหรือไม่นั้น เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้ร้องขอทั้งห้าและผู้ทำแผนเห็นชอบด้วยแผน จึงสามารถยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง
ตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ได้จัดให้เจ้าหนี้รายที่ 207 อยู่ในกลุ่มที่ 12 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กิจการที่เกี่ยวข้อง และแผนฟื้นฟูกิจการ สิทธิของเจ้าหนี้ในกลุ่มนี้ที่จะได้รับชำระหนี้ดังเช่นสัญญาเดิมคงมีเฉพาะกำหนดชำระหนี้การค้า แต่ไม่รวมถึงอัตราดอกเบี้ยแต่อย่างใด เมื่อตามสำนวนปรากฏว่าเจ้าหนี้รายที่ 207 ขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ตั๋วแลกเงินและหนี้เงินกู้ TPI – ANZ BANK พร้อมด้วยดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด เจ้าหนี้รายที่ 207 จึงมิใช่เจ้าหนี้ที่ขอรับชำระหนี้เฉพาะต้นเงินในหนี้การค้าตามแผนฟื้นฟูกิจการ ทั้งในแผนฟื้นฟูกิจการ เล่มที่ 1 หน้า 4 ในส่วนหมายเหตุได้ระบุไว้ชัดแจ้งว่า เจ้าหนี้ที่เป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องในส่วนของภาคผนวก 3 ซึ่งหมายถึงเจ้าหนี้ในกลุ่มที่ 12 เป็นเจ้าหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการฟื้นฟูกิจการ เช่นนี้เจ้าหนี้รายที่ 207 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่ 12 จึงมิใช่เจ้าหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/46 ทวิ (2) ตามที่ผู้ร้องขอทั้งห้ายกขึ้นมาในคำแก้อุทธรณ์แต่อย่างใด เจ้าหนี้รายที่ 207 จึงมีสิทธิร้องคัดค้านแผนได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/57 ส่วนเจ้าหนี้รายที่ 270 ตามแผนฟื้นฟูกิจการเล่มที่ 1 หน้า 83 จัดให้เจ้าหนี้อยู่ในกลุ่มที่ 14 คือเจ้าหนี้ที่ไม่ได้รับผลกระทบตามแผน ตามบทนิยามในแผนฟื้นฟูกิจการหน้า 4 “เจ้าหนี้ที่ไม่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ เจ้าหนี้การค้า ลูกจ้างหรือบุคคลอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน ซึ่งหนี้ของบุคคลเหล่านี้ได้รับการชำระเงินเต็มจำนวนภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วนแผนหรือตามสัญญาหรือข้อตกลงเดิม” เจ้าหนี้รายที่ 270 จึงเป็นเจ้าหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/46 ทวิ (1) ซึ่งกฎหมายให้ถือว่าเป็นเจ้าหนี้ที่ยอมรับแผนซึ่งมีผลอย่างเดียวกับเจ้าหนี้ได้ลงมติตามมาตรา 90/46 เช่นนี้เมื่อสิทธิของเจ้าหนี้รายที่ 270 มิได้ถูกกระทบกระเทือนจากแผนฟื้นฟูกิจการ และกฎหมายให้ถือว่าเจ้าหนี้ได้ยอมรับแผนนั้นแล้ว เจ้าหนี้รายที่ 270 จึงไม่มีสิทธิคัดค้านแผนตามมาตรา 90/57 แม้ว่าการอุทธรณ์ของเจ้าหนี้รายที่ 270 จะได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางก็ตาม แต่เมื่อเจ้าหนี้รายที่ 270 ไม่มีสิทธิยื่นคำคัดค้านมาแต่ต้นแล้ว การที่ได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์ก็ไม่ได้ก่อให้เกิดสิทธิแก่เจ้าหนี้รายที่ 270 ในการอุทธรณ์แต่อย่างใด อุทธรณ์ของเจ้าหนี้รายที่ 270 จึงเป็นอันตกไป
ในการมีคำสั่งหรือในการนัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนนี้สามารถแบ่งแยกการนัดประชุมเจ้าหนี้ออกเป็น 2 ช่วงด้วยกัน กล่าวคือ การนัดประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกและการนัดประชุมเจ้าหนี้ในคราวที่ได้เลื่อนไปในการประกาศโฆษณากำหนดนัดประชุมในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอย่างน้อย 1 ฉบับ ล่วงหน้าก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่า 10 วัน ตามมาตรา 90/44 วรรคหนึ่ง นั้น ใช้เฉพาะกับการนัดประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รับแผนพร้อมสำเนาจากผู้ทำแผนเพื่อปรึกษาลงมติว่าจะยอมรับแผนหรือไม่หรือจะแก้ไขอย่างไรเท่านั้น ส่วนในการนัดประชุมเจ้าหนี้ในคราวที่ได้เลื่อนไปนั้น หากว่าในการนัดประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกได้ดำเนินการโดยชอบตามมาตรา 90/44 วรรคหนึ่งแล้ว การนัดประชุมเจ้าหนี้ในคราวที่ได้เลื่อนไปก็ไม่ต้องประกาศโฆษณากำหนดนัดประชุมในหนังสือพิมพ์รายวันอีก คดีนี้ได้ความจากคำแถลงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า ในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้นัดประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้โฆษณากำหนดนัดประชุมในหนังสือพิมพ์รายวันสยามรัฐ ฉบับวันที่ 27 กันยายน 2543 และได้แจ้งกำหนดวันเวลานัด สถานที่ประชุม และหัวข้อประชุมให้บรรดาเจ้าหนี้ ลูกหนี้ ผู้ทำแผนทราบแล้ว เจ้าหนี้รายที่ 148 ที่ 273 ที่ 275 และที่ 278 ได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่ามีการขอแก้ไขแผนในสาระสำคัญ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีคำสั่งให้เลื่อนไปนัดประชุมเจ้าหนี้ ก่อนวันนัดประชุมมีผู้ยื่นคำขอแก้ไขอีกจำนวน 10 ราย พอถึงวันนัดประชุม เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ให้เจ้าหนี้ลงทะเบียนประชุมและมอบสำเนาคำขอแก้ไขแผนให้แก่เจ้าหนี้และลูกหนี้ ปรากฏว่าในวันดังกล่าวมีกลุ่มบุคคลประมาณ 6,000 คน มาชุมนุมโห่ร้องมิให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการประชุม เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่อาจเริ่มประชุมตามกำหนดได้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงได้ประกาศยกเลิกการประชุม และกำหนดนัดประชุมใหม่ โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แจ้งกำหนดเวลา สถานที่ หัวข้อประชุมไปยังเจ้าหนี้ ผู้บริหารของลูกหนี้ และผู้ทำแผนทราบโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ตามคำแถลงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าวจึงเห็นได้ว่า ในการนัดประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกในวันที่ 30 ตุลาคม 2543 นั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ดำเนินการโดยชอบตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/44 วรรคหนึ่ง แล้ว แต่การประชุมดังกล่าวไม่แล้วเสร็จจึงมีการเลื่อนไปประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2543 เวลา 9.30 นาฬิกา ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2543 เวลา 14 นาฬิกา ณ ห้องประชุมชั้น 9 กรมบังคับคดี วันที่ 17 พฤศจิกายน 2543 เวลา 9.30 นาฬิกา ณ ห้องประชุมกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และวันที่ 27 พฤศจิกายน 2543 เวลา 9.30 นาฬิกา ณ ห้องประชุมชั้น 9 กรมบังคับคดี เช่นนี้ การประชุมเจ้าหนี้ในคราวที่ได้เลื่อนมาในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2543 จึงไม่ต้องดำเนินการโฆษณากำหนดนัดประชุมในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอีกแต่อย่างใด
วิธีประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการนั้น พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 หมวด 3/1 ว่าด้วยกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ กรณีจึงต้องนำพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 หมวด 1 ส่วนที่ 3 ว่าด้วยการประชุมเจ้าหนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา 90/2 วรรคสอง ซึ่งในบทบัญญัติส่วนดังกล่าวมาตรา 33 บัญญัติว่า “ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นประธานในการประชุมเจ้าหนี้ทุกครั้ง และให้มีรายงานการประชุม ลงลายมือชื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เก็บไว้เป็นหลักฐาน” เมื่อกฎหมายกำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นประธานในการประชุม เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงเป็นผู้เสนอหัวข้อให้ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาและควบคุมการประชุมเจ้าหนี้ให้เป็นไปโดยเรียบร้อย แม้ว่าคำขอแก้ไขแผนของลูกหนี้จะมีประเด็นต่าง ๆ รวม 20 ประเด็น แต่เมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่ได้เสนอให้ลงมติเป็นรายประเด็นหรือรวมกัน กรณีจึงเป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งเป็นประธานในการประชุมที่จะพิจารณาถึงประเด็นต่าง ๆ ในคำขอแก้ไขแผนฉบับดังกล่าวตลอดจนความเกี่ยวพันของประเด็นเหล่านั้นในคำขอว่าจะให้ลงมติแยกหรือรวมก็ได้ การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ให้เจ้าหนี้ลงมติคำขอแก้ไขแผนของลูกหนี้รวมกันไปทั้ง 20 ประเด็น จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบแล้ว ในการประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 30 ตุลาคม 2543 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ให้ผู้ทำแผนชี้แจงรายละเอียดของแผน และให้เจ้าหนี้ซักถามรายละเอียดต่าง ๆ ของแผนจนเสร็จสิ้นกับให้ผู้ขอแก้ไขแผนชี้แจงรายละเอียดของคำขอแก้ไขแผนตลอดจนให้ผู้เข้าร่วมประชุมซักถามจนสิ้นข้อสงสัยแล้วครั้งหนึ่ง ตามรายงานการประชุมวาระที่ 2 และที่ 3 ทั้งได้ความจากคำแถลงของผู้ทำแผนฉบับลงวันที่ 7 ธันวาคม 2543 ว่า ผู้ทำแผนได้ทำสรุปคำขอแก้ไขแผนและประเด็นที่ผู้ทำแผนลูกหนี้ และเจ้าหนี้ทั้งหลายขอแก้ไขแผนทั้งสองครั้งแจกจ่ายให้ผู้ร่วมประชุมทั้งหลายทราบโดยทั่วถึง และนอกจากนั้นได้มีการเลื่อนการนัดประชุมเจ้าหนี้ออกไปครั้งหลังสุด จากวันที่ 16 พฤศจิกายน 2543 เป็นวันที่ 27 พฤศจิกายน 2543 ซึ่งเป็นเวลากว่า 10 วัน ลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลายจึงมีเวลาศึกษาประเด็นต่าง ๆ ที่มีการขอแก้ไขแผนก่อนวันนัดประชุมในครั้งสุดท้ายนี้แล้ว ทั้งปรากฏว่าในวันนัดประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2543 นั้น ตามรายงานการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนและคำแถลงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ก็ปรากฏว่าไม่มีเจ้าหนี้รายใดมีข้อสงสัยเกี่ยวกับคำขอแก้ไขแผนซึ่งเพิ่งยื่นภายหลังจากวันนัดประชุมในวันที่ 30 ตุลาคม 2543 แต่อย่างใด จึงถือว่าก่อนที่ประชุมเจ้าหนี้จะมีการลงมติว่าจะให้แก้ไขแผนและยอมรับแผนที่มีการแก้ไขหรือไม่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้จัดให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเปิดเผยหรือแสดงข้อมูลเป็นการเพียงพอแก่การตัดสินใจลงมติแล้ว
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ได้กำหนดวิธีพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนไว้ในมาตรา 90/57 ว่า “ในการพิจารณาแผน ให้ศาลพิจารณาคำชี้แจงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และผู้ทำแผน รวมทั้งข้อคัดค้านของลูกหนี้ หรือเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิออกเสียงตามมาตรา 90/30 ซึ่งไม่ได้ลงมติยอมรับแผน” บทบัญญัติดังกล่าวมิได้บังคับศาลว่าจะต้องดำเนินการไต่สวนพยานในทุกคดีก่อนที่จะมีคำสั่งว่าเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่ แต่บทบัญญัติดังกล่าวเปิดโอกาสให้เป็นดุลพินิจของศาลในการที่จะพิจารณาว่าข้อสาระสำคัญที่ใช้ในการพิจารณาว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับแผนนั้น มีอยู่ครบถ้วนแล้วหรือไม่ หากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญในการจะเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่นั้นมีอยู่ครบถ้วนแล้ว ไม่มีเหตุจะต้องไต่สวนพยานหลักฐานอันจะทำให้คดีฟื้นฟูกิจการล่าช้าออกไปแต่อย่างใด การที่ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้นั้น ก็หมายความว่า ศาลล้มละลายกลางได้พิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการคำชี้แจงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และผู้ทำแผน คำคัดค้านของเจ้าหนี้และลูกหนี้ ตลอดจนสรรพเอกสารต่าง ๆ ในสำนวนแล้วเห็นว่ามีสาระสำคัญเพียงพอในการที่สั่งให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วยแผนแล้ว จึงมีคำสั่งให้งดไต่สวน ศาลฎีกาเห็นว่าข้อเท็จจริงในสำนวนประกอบกับพยานเอกสารต่าง ๆ ที่คู่ความได้อ้างมานั้นเพียงพอในการวินิจฉัยที่จะให้ความเห็นชอบหรือไม่ชอบด้วยแผนแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องไต่สวนพยานอีกที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งงดไต่สวนนั้นชอบแล้ว
กระบวนพิจารณาในการฟื้นฟูกิจการนั้น หลังจากที่ประชุม เจ้าหนี้ได้ยอมรับแผนด้วยมติพิเศษตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/46 แล้ว กฎหมายกำหนดให้แผนดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบจากศาลอีกขั้นตอนหนึ่ง ตามบทบัญญัติในส่วนที่ 8 ว่าด้วยการพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ กรณีจึงเป็นการกำหนดให้ศาลเข้ามามีบทบาทในทางธุรกิจเพื่อจะได้วินิจฉัยตรวจสอบในการให้ความเห็นชอบด้วยแผนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และมอบดุลพินิจให้ตรวจสอบว่าสมควรจะให้ความเห็นชอบด้วยแผนนั้นหรือไม่ ศาลจึงมีอำนาจตรวจสอบถึงเนื้อหาของแผนตลอดจนโอกาสความเป็นไปได้ในการดำเนินการตามแผนด้วย มิใช่พิจารณาเพียงแต่ตรวจสอบรายการต่าง ๆ ว่ามีครบถ้วนตามรูปแบบหรือไม่ เมื่อปรากฏว่าในการดำเนินการประชุมเจ้าหนี้นั้นได้มีการประชุมโดยชอบ ที่ประชุมเจ้าหนี้ได้มีมติพิเศษยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการ ทั้งแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าวมีรายการครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด และได้จัดสรรแบ่งชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม จากการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าวทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย ทั้งแผนฟื้นฟูกิจกรรมดังกล่าวมีโอกาสที่จะดำเนินการสำเร็จตามแผนได้ และได้มีการทำแผนโดยสุจริต อีกทั้งการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการจะเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้และประเทศชาติโดยส่วนรวม ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของลูกหนี้และเจ้าหนี้รายที่ 207 ฟังไม่ขึ้น

Share