คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1315/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อตกลงเพิ่มวงเงินจำนอง มิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่อันจะมีผลทำให้หนี้เดิม ระงับไปตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349
คำฟ้องระบุจำนวนหนี้ที่ขอให้จำเลยร่วมรับผิดในฐานะ ผู้ค้ำประกันจำเลยให้การต่อสู้ว่า หากจะต้องรับผิด ก็รับผิดเพียงวงเงินที่ค้ำประกันและดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีเท่านั้น มิได้ปฏิเสธยอดหนี้ ดังนั้นปัญหาว่าจำเลยอื่นได้เบิกเงินไปจากโจทก์ และนำเงินเข้าฝากในบัญชีเพื่อลดหนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อใด หนี้ถึงวันฟ้องเป็นต้นเงินเท่าใด และดอกเบี้ยเท่าใดนั้น โจทก์นำมาสืบในชั้นพิจารณาได้โดยไม่จำเป็นต้องแนบบัญชีเงินฝากกระแสรายวันมาท้ายคำฟ้อง ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้จำนวน ๓๖๓,๒๙๓.๓๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๙ ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระ ขอให้ยึดทรัพย์สินที่จำนองขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ ขอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม การที่โจทก์ให้จำเลยที่ ๑ นำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องมาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้แทนสัญญาค้ำประกันเป็นการแปลงหนี้ใหม่ จำเลยที่ ๓ ไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามรับผิดต่อโจทก์
จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาข้อแรก ศาลฎีกาเห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ได้ระบุจำนวนหนี้ที่ขอให้จำเลยที่ ๓ รับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ต่อโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันแล้ว ซึ่งจำเลยที่ ๓ ก็ให้การต่อสู้คดีว่า หากจำเลยที่ ๓ จะต้องรับผิดต่อโจทก์ก็รับผิดเพียงวงเงินที่ค้ำประกันและดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปีเท่านั้น มิได้ปฏิเสธเกี่ยวกับยอดหนี้ตามจำนวนที่โจทก์ฟ้อง ส่วนที่ว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ได้เบิกเงินไปจากโจทก์ครั้งสุดท้าย และนำเงินเข้าฝากในบัญชีเพื่อลดหนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อใด หนี้ถึงวันฟ้องเป็นต้นเงินเท่าใด และดอกเบี้ยเท่าใดนั้นเป็นรายละเอียดที่โจทก์จะนำสืบในชั้นพิจารณา โดยไม่จำเป็นต้องแนบบัญชีเงินฝากกระแสรายวันมาท้ายคำฟ้อง คำฟ้องของโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างซึ่งอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว จึงไม่เคลือบคลุม
ปัญหาข้อสุดท้าย จำเลยที่ ๓ จะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ จำเลยที่ ๓ ให้การรับว่าได้ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ ๑ ตามฟ้องจริง ที่จำเลยที่ ๓ นำสืบว่า หลังจากจำเลยที่ ๓ ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ ๑ แล้ว ฐานะทางการค้าของจำเลยที่ ๓ ไม่ดี ถ้าขายขาดทุนจนต้องโอนที่ดินให้แก่โจทก์สาขาหล่มสัก เพื่อชำระหนี้ของจำเลยที่ ๓ ให้แก่โจทก์ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.๑ ถึง ล.๔ ซึ่งนายสุนทรผู้จัดการของโจทก์สาขาขับสมอทอดทราบฐานะทางการเงินของจำเลยที่ ๓ ดี ได้บอกจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เพื่อให้จำเลยที่ ๑ เพิ่มวงเงินที่จำนองที่ดินและตึกไว้แล้วอีก ๑๐๐,๐๐๐ บาท ให้พอเป็นประกันจำนวนเงินที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เป็นหนี้โจทก์เนื่องจากฐานะทางการเงินของจำเลยที่ ๓ ไม่ดี จำเลยที่ ๑ ได้ตกลงด้วย หลังจากจำนองเพิ่มวงเงินแล้ว นายสุนทรได้บอกจำเลยที่ ๓ ว่า สัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ ที่ทำกันไว้เป็นอันยกเลิกกันไปนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อกล่าวอ้างของจำเลยที่ ๓ เป็นคำกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีพยานมาสนับสนุน จึงฟังไม่ได้ว่าสัญญาประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ ได้ยกเลิกกัน ส่วนที่จำเลยที่ ๓ ฎีกาว่า การที่จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาเพิ่มวงเงินจำนองดังกล่าวถือว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ ทำให้หนี้ตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ ๓ เป็นอันระงับไปนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าข้อตกลงเพิ่มวงเงินจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ตามเอกสารหมาย จ.๑๑ และ จ.๑๔ นั้น มิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่อันจะมีผลทำให้หนี้เดิมระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๔๙ ดังนั้นหนี้ตามสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ ย่อมไม่ระงับไปดังที่จำเลยที่ ๓ ฎีกา ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ ๓ ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ ๓ ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์เป็นเงิน ๘๐๐ บาท

Share