แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ทนายโจทก์ยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1ขาดนัดยื่นคำให้การ แล้วได้ขอกำหนดวันเวลานัดสืบพยานโจทก์กับพนักงานรับฟ้องโดยนัดวันที่ 25 พฤศจิกายน 2525 เวลา 9 นาฬิกาแต่ทนายโจทก์ลงนัดไว้ในสมุดบันทึกของตนเองว่าเป็นนัดเวลา 13.30นาฬิกา ครั้นเมื่อทนายโจทก์มาขอรับหมายนัดแจ้งกำหนดวันสืบพยานโจทก์ให้จำเลยทราบเพื่อส่งให้แก่จำเลย ในหมายนัดดังกล่าวก็ได้ลงเวลานัดไว้ว่าเวลา 9 นาฬิกา เช่นนี้ การที่ทนายโจทก์นัดหมายให้พยานโจทก์มาศาลในวันนัด เวลา 13.30 นาฬิกาและพากันมาศาลตามเวลาดังกล่าวแม้จะเกิดขึ้นเนื่องจากการสับสนจดจำผิดพลาดของทนายโจทก์ มิใช่ความผิดพลาดอันเกิดขึ้นจากตัวโจทก์เองโดยตรงก็ตาม ก็ถือว่าการขาดนัดพิจารณาของโจทก์เป็นไปโดยจงใจและไม่มีเหตุอันสมควรที่โจทก์จะขอพิจารณาใหม่ ในชั้นไต่สวนขอให้พิจารณาใหม่ โจทก์มีหน้าที่นำพยานหลักฐานเข้าสืบแสดงให้ศาลเห็นเพียงว่าการขาดนัดพิจารณาของโจทก์นั้นมิได้เป็นไปโดยจงใจหรือมีเหตุอันสมควรเท่านั้น โจทก์นำสืบในชั้นไต่สวนขอให้พิจารณาใหม่ก้าวล่วงไปถึงฐานะแห่งการเป็นนิติบุคคลและบุคคลผู้เป็นผู้แทนของโจทก์กับการมอบอำนาจให้ อ.ฟ้องดำเนินคดีแทนอันเป็นประเด็นข้อที่ 1 แห่งคดีซึ่งโจทก์มีภาระการพิสูจน์ในชั้นพิจารณาคดี เช่นนี้ จะนำพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบในชั้นไต่สวนขอให้พิจารณาใหม่ดังกล่าวมาใช้เป็นพยานหลักฐานในชั้นพิจารณาประเด็นแห่งคดีไม่ได้ เมื่อภาระการพิสูจน์ในประเด็นแห่งคดีดังกล่าวตกแก่โจทก์ และโจทก์ไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบแล้วโจทก์ก็ต้องตกเป็นฝ่ายแพ้คดี จึงไม่จำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ในประเด็นอื่น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามชำระเงิน จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การต่อสู้คดี ในวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลมีคำสั่งว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณาจำเลยที่ 2, 3 แถลงขอให้ยกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มีพยานมาสืบ ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีของโจทก์
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดี และยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ ศาลชั้นต้นยกคำร้องทั้งสองฉบับโจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีให้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 201 วรรคสอง ศาลฎีกาพิพากษายืน
ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานจำเลยที่ 2 ก่อนถึงวันนัด โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้องแล้วนัดสืบพยานจำเลยที่ 2 อีก ก่อนถึงวันนัด โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลอนุญาตและให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ครั้นถึงวันนัด จำเลยที่ 2 ที่ 3 แถลงไม่สืบพยาน ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์อุทธรณ์ ขอให้พิจารณาใหม่ และยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์อ้างว่านายบริรักษ์ทนายโจทก์ได้แจ้งแก่พนักงานรับฟ้องขอนัดสืบพยานโจทก์ วันที่ 25 พฤศจิกายน2525 เวลา 13.30 นาฬิกา แล้วนายบริรักษ์ได้จดไว้ในสมุดนัดในช่องนัดบ่ายตามเอกสารหมาย จ.4 แต่ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.4ในช่องนัดบ่ายนั้นเองว่า เดิมลงเวลาไว้ 9.00 นาฬิกา ซึ่งตรงกับที่เจ้าพนักงานศาลได้ลงเวลานัดไว้ในคำร้องเพื่อให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ และนายบริรักษ์ได้ลงลายมือชื่อไว้ด้วย (ตามเอกสารในสำนวน สารบาญลำดับที่ 22) แสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่านายบริรักษ์ได้ขอนัดเวลา 9 นาฬิกา จึงได้ลงเวลาไว้ตรงกัน นอกจากนี้นายบริรักษ์ยังเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 3ถามค้านว่า นายบริรักษ์เป็นผู้มารับหมายนัดแจ้งกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ให้จำเลยทราบ เพื่อนำส่งให้แก่จำเลยเอง ในหมายนัดได้ลงเวลานัดไว้ว่าเป็นเวลา 9 นาฬิกา อันเป็นการยอมรับว่าได้นัดสืบพยานโจทก์เวลา 9 นาฬิกา และหมายนัดนั้นได้ลงเวลาไว้ถูกต้องแล้ว นายบริรักษ์จึงมิได้ขอให้แก้ไข สมุดนัดตามเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งมีร่องรอยแก้ไขเวลาจาก 9.00 น. เขียนทับเป็น 13.30 น. นั้นอยู่ในความครอบครองของนายบริรักษ์ นายบริรักษ์จะทำการแก้ไขในภายหลังเสียเมื่อใดก็ได้ จึงมิใช่พยานหลักฐานที่จะนำมาเป็นข้อสนับสนุนให้รับฟังว่านายบริรักษ์ได้ขอนัดสืบพยานโจทก์ไว้เวลา 13.30 นาฬิกา เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายบริรักษ์ทนายโจทก์ได้ขอนัดสืบพยานโจทก์ไว้เวลา 9 นาฬิกา แต่นายบริรักษ์ทนายโจทก์นัดหมายให้นายวีรชัยกับนางสาวชวนชมพยานโจทก์มาศาลเมื่อเวลา 13.30 นาฬิกา และพากันมาศาลตามเวลาดังกล่าว อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามกำหนดเวลานัดของศาลซึ่งมุ่งหมายที่จะเร่งรัดการดำเนินกระบวนพิจารณาให้เป็นไปโดยรวดเร็วอย่างเคร่งครัด แม้จะเกิดขึ้นเนื่องจากการสับสนจนจำผิดพลาดของนายบริรักษ์ทนายโจทก์ มิใช่ความผิดพลาดอันเกิดจากตัวโจทก์เองโดยตรงก็ตาม ก็ต้องถือว่าการขาดนัดพิจารณาของโจทก์เป็นไปโดยจงใจ และไม่มีเหตุอันสมควร เพราะมิฉะนั้นแล้ว ก็จะยกขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้พิจารณาใหม่ได้เสมอ ฎีกาโจทก์ในปัญหาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับปัญหาที่ว่ามีเหตุสมควรให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ให้ตรงตามประเด็นแห่งคดีหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ตามอุทธรณ์โจทก์กล่าวว่า ประเด็นแห่งคดีควรมีดังนี้คือ 1. โจทก์เป็นนิติบุคคลมีนายวิวัฒน์ เตชะไพบูลย์ และนายชัชวาล สัตตะรุจาวงษ์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนหรือไม่ กับโจทก์ได้มอบอำนาจให้นายวีรชัย ชลมณีกุล ดำเนินคดีแทนหรือไม่ 2. ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ 3. จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันหรือไม่ กับจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดตามเช็คพิพาทและดอกเบี้ยหรือไม่เพียงใด โดยโจทก์ยอมรับว่าภาระการพิสูจน์ในประเด็นข้อแรกตกแก่โจทก์ โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้แนบหนังสือรับรองของกระทรวงพาณิชย์ที่ออกให้กับบริษัทโจทก์และหนังสือมอบอำนาจมาพร้อมกับคำฟ้องจึงใช้รับฟังได้ในเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ เพราะโจทก์ได้นำสืบและศาลได้ลงหมายเลขรับเป็นพยานเอกสารของโจทก์ไว้ในสำนวนแล้วจำเลยก็มิได้นำสืบแก้หรือหักล้างในชั้นไต่สวนขอให้พิจารณาใหม่แต่อย่างใด เห็นว่า ในชั้นไต่สวนขอให้พิจารณาใหม่ โจทก์มีหน้าที่นำพยานหลักฐานเข้าสืบแสดงให้ศาลเห็นเพียงว่าการขาดนัดพิจารณาของโจทก์นั้นมิได้เป็นไปโดยจงใจ หรือมีเหตุอันสมควรเท่านั้นที่โจทก์นำสืบในชั้นไต่สวนขอให้พิจารณาใหม่ก้าวล่วงไปถึงฐานะแห่งการเป็นนิติบุคคลและบุคคลผู้เป็นผู้แทนของโจทก์กับการมอบอำนาจให้นายวีรชัย ชลมณีกุล ฟ้องดำเนินคดีแทน อันเป็นประเด็นข้อที่ 1แห่งคดีซึ่งโจทก์มีภาระการพิสูจน์ในชั้นพิจารณาคดี จึงจะนำพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบในชั้นไต่สวนขอให้พิจารณาใหม่ดังกล่าวมาใช้เป็นพยานหลักฐานในชั้นพิจารณาประเด็นแห่งคดีไม่ได้ เมื่อภาระการพิสูจน์ในประเด็นแห่งคดีดังกล่าวตกแก่โจทก์ และโจทก์ไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบแล้ว โจทก์ก็ต้องตกเป็นฝ่ายแพ้คดีจึงไม่จำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ในประเด็นอื่นด้วยดังที่โจทก์ฎีกา ฎีกาโจทก์ในปัญหาข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน