คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2573/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 รู้เห็นและยินยอมให้จำเลยที่ 2 มารดาเป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้จะขาย ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์ฝ่ายผู้จะซื้อ แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ลงลายมือชื่อไว้ในสัญญาในฐานะคู่สัญญาฝ่ายผู้จะขายก็ตาม แต่การแสดงออกของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ดังกล่าวเป็นการเชิดให้จำเลยที่ 2 ผู้เป็นมารดาและผู้ครอบครองที่ดินพิพาทออกเป็นตัวแทนหรือยินยอมให้จำเลยที่ 2 เชิดตัวเองเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1และที่ 3 ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทอันจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อยู่ด้วย จำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันต่อโจทก์ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 และการนำจำเลยที่ 2 เชิดตัวเองเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เข้าเป็นคู่สัญญากับโจทก์ ก็หาจำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 798 ไม่ ทั้งการที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 หาใช่เป็นการนำสืบเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญาจะซื้อขายอันต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) ไม่ เพราะเป็นแต่เพียงการนำสืบความจริงว่า จำเลยที่ 2 เชิดตัวเองเป็นตัวแทนเข้าเป็นคู่สัญญากับโจทก์เท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาจะซื้อขายทรัพย์มรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 13026 เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน ในราคาไร่ละ 100,000 บาท ให้แก่โจทก์โดยตกลงว่าจำเลยทั้งสามจะไปจดทะเบียนรับโอนมรดก แบ่งแยกและจดทะเบียนโอนให้แก่โจทก์ภายหลัง โจทก์วางมัดจำให้จำเลยทั้งสามไว้เป็นเงิน 45,000 บาท ในวันเดียวกันจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตกลงขายที่ดินมือเปล่าเนื้อที่ 5 ไร่ ตั้งอยู่ติดกับที่ดินแปลงแรก ในราคา50,000 บาท ให้แก่โจทก์ โจทก์วางมัดจำไว้เป็นเงิน 10,000 บาท ต่อมาจำเลยทั้งสี่ผิดนัดไม่ไปรังวัดแบ่งแยกและจดทะเบียนโอนและไม่ส่งมอบการครอบครองที่ดินมือเปล่าให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ไปรังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 13026 เนื้อที่ 1 ไร่2 งาน ตามตำแหน่งในรูปที่ดินตามแผนที่ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ให้แก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 รับเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือจำนวน 105,000 บาท หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ชำระค่าเสียหายจำนวน90,000 บาท และให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ส่งมอบการครอบครองที่ดินมือเปล่าเนื้อที่ 5 ไร่ตามฟ้องพร้อมรับเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือจำนวน 40,000 บาท จากโจทก์ และชำระค่าเสียหายจำนวน 30,000 บาท ให้แก่โจทก์

จำเลยทั้งสี่ให้การทำนองเดียวกันว่า ที่ดินโฉนดพิพาทเป็นทรัพย์มรดกที่นายสดอุ่นธรรม สามีจำเลยที่ 2 ทำพินัยกรรมให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ทำสัญญาจะซื้อขายให้แก่โจทก์บางส่วนโดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ตกลงยินยอม และไม่มีอำนาจจะทำได้ตามสัญญาไม่กำหนดวันจดทะเบียนโอนจึงตกเป็นโมฆะ ส่วนที่ดินมือเปล่าจำเลยที่ 3และที่ 4 ตกลงขายไร่ละ 40,000 บาท แต่โจทก์เขียนสัญญาผิด จำเลยทั้งสี่ติดต่อให้โจทก์แก้ไขแต่โจทก์เพิกเฉย สัญญาทั้งสองฉบับจึงไม่ผูกพันจำเลยทั้งสี่ ค่าเสียหายอย่างมากไม่เกินสัญญาละ 1,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 แบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 13026 ตำบลเขาพระอำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน ตามตำแหน่งในรูปแผนที่เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ให้แก่โจทก์ และรับเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือจำนวน105,000 บาท หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชดใช้ค่าธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้เท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 ร่วมกันชำระเงิน 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2533เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 จะชำระเงินเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกาโดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะให้ฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าสัญญาจะซื้อขายที่ดินมือเปล่าตามเอกสารหมาย จ.3 ตกเป็นโมฆะหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าสัญญาจะซื้อขายที่ดินมือเปล่าตามเอกสารหมาย จ.3 ตกลงซื้อขายกันในราคาไร่ละ10,000 บาท จำเลยที่ 3 และที่ 4 ทำสัญญาดังกล่าวในราคาตามที่ตกลงซื้อขายกันจึงไม่ได้เข้าใจผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญของนิติกรรมในขณะทำสัญญา สัญญาตามเอกสารหมาย จ.3 จึงไม่ตกเป็นโมฆะนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การต่อสู้ว่า ตกลงกับโจทก์ขายที่ดินมือเปล่าเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ ในราคาไร่ละ 40,000 บาท แต่โจทก์เขียนสัญญาผิดไปว่าขายที่ดินประมาณ 5 ไร่ เป็นเงิน 40,000 บาท จำเลยที่ 3 และที่ 4ลงลายมือชื่อในสัญญาโดยไม่ได้อ่านข้อความในสัญญาดังกล่าวนั้น จำเลยที่ 3 และที่ 4นางสาวทิพวรรณ อุ่นธรรม บุตรจำเลยที่ 4 และนางสาววรรณนภา ปรีดาวรรณภรณ์ เบิกความเป็นพยานจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ความทำนองเดียวกันเพียงว่า ตกลงซื้อขายที่ดินมือเปล่าเนื้อที่ 5 ไร่ ราคาไร่ละ 40,000 บาท ฝ่ายโจทก์เป็นผู้เขียนสัญญาจะซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.3 โดยมีการวางมัดจำเป็นเงิน 10,000 บาท ผู้เขียนสัญญาไม่ได้อ่านสัญญาให้ฟัง และจำเลยที่ 4 ก็ไม่ได้อ่านสัญญาดังกล่าว ฝ่ายโจทก์นอกจากจะมีตัวโจทก์เบิกความประกอบสัญญาจะซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.3 ยืนยันว่า ซื้อที่ดินเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ ตกลงกันไร่ละ 10,000 บาท วางมัดจำไว้เป็นเงิน 10,000 บาท แล้วโจทก์มีนายรักษ์ อโนดาษ และนายประสิทธิ์ แสงอรุณ เป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่านายรักษ์และนายประสิทธิ์เป็นนายหน้าพาโจทก์มาซื้อที่ดินมีโฉนดตามเอกสารหมายจ.1 กับจำเลยที่ 1 เนื้อที่ 1 ไร่ครึ่ง นอกจากนี้โจทก์ยังได้ซื้อที่ดินมือเปล่าซึ่งอยู่ด้านหลังติดกับที่ดินดังกล่าวของจำเลยที่ 3 รวมไปด้วย ที่ดินมือเปล่าตกลงขายกันไร่ละ 10,000บาท และมีการทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินมือเปล่าตามเอกสารหมาย จ.3 ข้อความในสัญญาตรงตามที่คู่สัญญาตกลงกัน โดยนายรักษ์พยานโจทก์ลงลายมือชื่อเป็นพยานและได้ความตามคำเบิกความของจำเลยที่ 1 และที่ 4 นางสาวทิพวรรณและนางสาววรรณภาพยานจำเลยที่ 3 และที่ 4 ว่า ภายหลังทำสัญญาจะซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.3 แล้วประมาณ 3 วันมีการอ่านสัญญาดังกล่าว เห็นว่าไม่ตรงกันกับที่ตกลงกันจึงตามนายรักษ์ให้มาทำการแก้ไขสัญญา แต่โจทก์ไม่ยอมแก้ไขเมื่อโจทก์จะนำเงินที่เหลือมาชำระจำเลยที่ 2 ก็ยอมรับ เห็นได้ว่าหากจำเลยที่ 4 ทราบว่าสัญญาจะซื้อจะขายตามเอกสารหมาย จ.3 ระบุราคาที่ดินทั้งหมดที่ตกลงซื้อขายกันผิดพลาดไป แม้จะอ้างว่าได้ให้นายรักษ์พยานโจทก์มาแก้ไขสัญญา แต่โจทก์ไม่ยอมแก้ไข จำเลยที่ 4 เจ้าของที่ดินก็หากระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อแสดงให้ปรากฏว่าสัญญาดังกล่าวระบุราคาที่ดินทั้งหมดผิดพลาดจากที่ตกลงกันไว้จนจำเลยที่ 4 ไม่สามารถโอนขายส่งมอบที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้ แต่จำเลยที่ 3 และที่ 4 เพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างขึ้นเป็นข้อต่อสู้เป็นครั้งแรกเมื่อยื่นคำให้การคดีนี้ภายหลังทำสัญญาจะซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.3 กับโจทก์ล่วงพ้นมาแล้ว 5 ปีเศษ ทั้งเมื่อโจทก์และนายรักษ์ นายประสิทธิ์มาเบิกความ ฝ่ายจำเลยก็หาได้ซักค้านในประเด็นปัญหาเรื่องราคาที่ดินดังกล่าวไว้ เพื่อให้โจทก์และพยานโจทก์อธิบายให้ความจริงปรากฏแต่อย่างใดไม่ แต่นำสืบเพียงว่าราคาที่ดินที่เขียนในสัญญาผิดจากที่ตกลงกันไว้ จึงเป็นข้อพิรุธปราศจากน้ำหนักที่จะรับฟัง พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักมั่นคงกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตกลงทำสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.3 ตามข้อความที่ระบุไว้ในสัญญาดังกล่าวจริง โดยมิได้เข้าใจผิดในราคาที่ดินที่ตกลงซื้อขายกัน สัญญาจะซื้อขายดังกล่าวหาตกเป็นโมฆะไม่ สำหรับค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ชดใช้เพราะการผิดสัญญาจะซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.3 จำนวน 30,000 บาทนั้น แม้ตามสัญญาดังกล่าวจะกำหนดค่าเสียหายไว้จำนวน 50,000 บาท และโจทก์เรียกร้องเพียง 30,000 บาทก็ตามแต่การกำหนดค่าเสียหายตามสัญญาดังกล่าวมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ซึ่งหากกำหนดหรือเรียกร้องสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 383 วรรคหนึ่ง สำหรับกรณีนี้เบี้ยปรับตามที่โจทก์เรียกร้องเห็นว่าสูงเกินส่วนจึงเห็นควรกำหนดให้โจทก์ 10,000 บาท ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่า โจทก์ จำเลยที่ 3 และที่ 4 ตกลงจะซื้อขายที่ดินตามสัญญาเอกสารหมาย จ.3 คำนวณแล้วไร่ละ8,000 บาท เป็นราคาแตกต่างกับราคาที่ดินที่อยู่ติดกันควรมีราคาใกล้เคียงกันเชื่อว่าเขียนราคาไว้ผิดพลาด กรณีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 เข้าใจผิดในสิ่งเป็นสาระสำคัญของนิติกรรมในขณะทำนิติกรรม จึงทำให้สัญญาจะซื้อขายที่ดินมือเปล่าตามเอกสารหมาย จ.3 เป็นโมฆะนั้น ศาลฎีกายังไม่เห็นพ้องด้วย เพราะเมื่อพิจารณาสภาพที่ตั้งที่ดินมือเปล่าจำนวนประมาณ 5 ไร่ ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ที่ทำสัญญาจะซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.3 ให้แก่โจทก์ตามที่ปรากฏในสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 แล้ว จะเห็นได้ว่าที่ดินมือเปล่าดังกล่าวแม้จะอยู่ติดกับที่ดินที่มีโฉนดซึ่งจำเลยที่ 2 ทำสัญญาจะซื้อขายให้แก่โจทก์ในราคาไร่ละ 100,000 บาท ก็ตาม แต่ทางออกสู่ถนนสาธารณะจากที่ดินมือเปล่าดังกล่าวจำต้องอาศัยผ่านที่ดินมีโฉนดที่จำเลยที่ 2 ตกลงขายให้แก่โจทก์แล้ว ดังนั้น ที่ดินมือเปล่าของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ที่ตกลงขายให้แก่โจทก์จึงเป็นที่ดินที่ไม่มีทางออกสู่ถนนสาธารณะดังเช่นที่จำเลยที่ 1 เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้าน จึงจำต้องขายให้แก่โจทก์ในราคาต่ำจึงไม่อาจนำไปเปรียบเทียบกับราคาที่ดินที่อยู่ใกล้เคียงดังศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยได้ เมื่อคำนึงถึงที่ดินมือเปล่าของจำเลยที่ 3และที่ 4 ที่ไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินทั้งเป็นที่ดินที่ไม่มีทางออกสู่ถนนสาธารณะด้วยแล้ว การที่ตกลงขายให้โจทก์ราคาไร่ละ 10,000 บาท จึงหาใช่ราคาต่ำเกินสมควรจนคาดหมายได้ว่าเขียนราคาในสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.3 ผิดพลาดจากราคาที่ตกลงกันไม่ ส่วนสัญญาจะซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.3 มีข้อความระบุว่าจะลงนามโอนกรรมสิทธิ์กันอีกครั้ง ซึ่งโจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นสามีภริยากันจะส่งมอบการครอบครองที่ดินมือเปล่าดังกล่าวให้พร้อมกับการจดทะเบียนโอนที่ดินมีโฉนดที่ตกลงทำสัญญาจะซื้อขายกันไว้ตามเอกสารหมาย จ.2 แสดงว่าจะมีการส่งมอบการครอบครองที่ดินมือเปล่าและลงนามโอนกรรมสิทธิ์กันอีกครั้งเมื่อมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินมีโฉนดที่ดินแปลงหน้ากันตามสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.2 นั่นเอง จึงหาทำให้สัญญาจะซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.3 เป็นสัญญาซื้อขายเด็ดขาดอันต้องตกเป็นโมฆะดังข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ต้องผูกพันตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินมีโฉนดตามเอกสารหมาย จ.2 หรือไม่ ข้อเท็จจริงซึ่งคู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า ที่ดินที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาจะซื้อขายตามเอกสารหมายจ.2 เนื้อที่จำนวน 1 ไร่ 2 งาน เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมายจ.1 ซึ่งมีชื่อนายสด อุ่นธรรม สามีจำเลยที่ 2 และเป็นบิดาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ครั้นนายสดถึงแก่กรรมเมื่อปี 2530 แล้วจำเลยที่ 2 ผู้เป็นมารดาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ครอบครองที่ดินมีโฉนดตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งมีที่ดินพิพาทและที่ดินแปลงอื่นรวมอยู่ด้วย จนกระทั่งวันที่ 1 สิงหาคม 2533 และวันที่ 6 สิงหาคม2533 ขณะจำเลยที่ 2 ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.2กับโจทก์ มีจำเลยที่ 1 และที่ 3 อยู่ด้วย ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกที่ต้องตกแก่ทายาทโดยธรรมของนายสดเจ้ามรดก ขณะนายสดถึงแก่กรรมจำเลยที่ 2 ในฐานะภริยาและบุตรจำนวน 7 คน ซึ่งมีจำเลยที่ 1 และที่ 3 ด้วย เป็นทายาทโดยธรรมของนายสดเจ้ามรดกมีส่วนในที่ดินพิพาท เมื่อที่ดินพิพาทรวมทั้งที่ดินแปลงอื่นของนายสดเจ้ามรดกยังมิได้แบ่งปันกันในระหว่างทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก แต่ให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 และบุตรคนอื่นอีก 5 คน ครอบครองแทน ขณะที่นายรักษ์นายหน้าขายที่ดินนำโจทก์มาทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 และที่ 3ก็อยู่ด้วยขณะที่จำเลยที่ 2 พิมพ์ลายนิ้วมือเป็นผู้จะขายและโจทก์ลงลายมือชื่อเป็นผู้จะซื้อในสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.2 และ จ.6 โดยเฉพาะจำเลยที่ 1 นอกจากขณะทำสัญญาดังกล่าวจะอยู่ด้วยแล้วยังได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญาตามเอกสารหมาย จ.6 และอ่านข้อความในสัญญาตามเอกสารหมาย จ.2 นอกจากนี้โจทก์และนายรักษ์พยานโจทก์ยังเบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเงินมัดจำซื้อที่ดินพิพาทจำนวน 45,000 บาท จากโจทก์ด้วย พฤติการณ์เช่นนี้แสดงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 รู้เห็นและยินยอมให้จำเลยที่ 2 มารดาเป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้จะขายทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์ฝ่ายผู้จะซื้อ แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ลงลายมือชื่อไว้ในสัญญาในฐานะคู่สัญญาฝ่ายผู้จะขายที่ดินพิพาทก็ตาม แต่การแสดงออกของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ดังกล่าวเป็นการเชิดให้จำเลยที่ 2 ผู้เป็นมารดาและผู้ครอบครองที่ดินพิพาทออกเป็นตัวแทนหรือยินยอมให้จำเลยที่ 2 เชิดตัวเองเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทอันจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อยู่ด้วย จำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันต่อโจทก์ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาท เอกสารหมาย จ.2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 และการที่จำเลยที่ 2 เชิดตัวเองเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เข้าเป็นคู่สัญญากับโจทก์ ก็หาจำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 798 ไม่ ทั้งการที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 หาใช่เป็นการนำสืบเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.2 อันต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) ไม่ เพราะการนำสืบพยานบุคคลของโจทก์เป็นแต่เพียงนำสืบความจริงว่า จำเลยที่ 2 เชิดตัวเองเป็นตัวแทนเข้าเป็นคู่สัญญากับโจทก์ดังกล่าวเท่านั้น ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 มิได้คัดค้านการทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.2 เพราะขณะนั้นจำเลยที่ 1 ยังไม่ทราบว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่าแม้จำเลยที่ 1 อ้างว่าขณะนายสดบิดาถึงแก่กรรมมีการทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองไว้ จึงไม่ทราบว่าที่ดินพิพาทบิดาจะยกให้แก่ผู้ใด ก็ปรากฏข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ว่า พินัยกรรมของบิดาจำเลยที่ 1 ดังกล่าวตกเป็นโมฆะจึงมีผลว่าขณะทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทนั้น จำเลยที่ 1 มีส่วนถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทอยู่ด้วยในฐานะทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกผู้เป็นบิดา ดังนั้นเมื่อต่อมาภายหลังมีการแบ่งปันมรดกกันในระหว่างทายาทโดยธรรมแล้วจำเลยที่ 1 ได้รับส่วนแบ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินมีโฉนดตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งมีที่ดินพิพาทรวมอยู่ด้วย จำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทเอกสารหมาย จ.2 โอนขายให้แก่โจทก์ สำหรับที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า สัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.2 ไม่มีข้อความว่าคู่สัญญาจะไปทำสัญญาซื้อขายโอนที่ดินกันต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ไหน เมื่อใด สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาซื้อขายเด็ดขาดเป็นโมฆะนั้นเห็นว่าตามสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.2 มีข้อความว่า คู่สัญญาตกลงโอนกรรมสิทธิ์เมื่อสำนักงานที่ดินจังหวัดนครนายกได้ทำการแบ่งแยกเรียบร้อย เป็นที่เข้าใจได้ว่ามีการกำหนดเงื่อนไขการโอนทางทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ดินจังหวัดนครนายก เมื่อมีการแบ่งแยกที่ดินพิพาทออกจากที่ดินแปลงใหญ่ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1แล้ว หาใช่คู่สัญญามีเจตนาไม่ทำการโอนกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนและถือว่าเป็นสัญญาซื้อขายเด็ดขาดตกเป็นโมฆะดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกาไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ส่งมอบการครอบครองที่ดินมือเปล่าจำนวน 5 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังทางทิศตะวันออกของที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 13026 ตำบลเขาพระ อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก ตามตำแหน่งในรูปแผนที่ดินเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 2 ให้แก่โจทก์ และใช้ค่าเสียหายจำนวน 10,000 บาท แก่โจทก์ และรับเงินค่าที่ดินที่เหลือจำนวน 40,000 บาท จากโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share