แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การบอกกล่าวบังคับจำนองนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 728 ไม่ได้กำหนดว่าต้องทำตามแบบอย่างใดบ้าง ผู้รับจำนองเพียงแต่มีจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันควร ก็ถือได้ว่าเป็นการบอกกล่าวบังคับจำนองที่ชอบด้วยบทมาตราดังกล่าวแล้ว ดังนั้น แม้โจทก์จะมอบอำนาจให้ ส. เป็นตัวแทนบอกกล่าวบังคับจำนองโดยไม่ได้ทำเป็นหนังสือมอบอำนาจก็ไม่เป็นโมฆะ นอกจากนี้เมื่อโจทก์ยอมรับเอาการบอกกล่าวบังคับจำนองที่ ส. ได้กระทำการไปในนามของโจทก์โดยการฟ้องคดีนี้ ย่อมถือว่าโจทก์ซึ่งเป็นตัวการได้ให้สัตยาบันแก่การบอกกล่าวบังคับจำนองนั้นแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 823 จึงถือได้ว่าโจทก์ได้บอกกล่าวบังคับจำนองแก่ลูกหนี้โดยถูกต้องตามกฎหมาย
สัญญาค้ำประกันมีข้อความให้สัญญาสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2541 ก็มีความหมายว่าจำเลยที่ 3 ยอมค้ำประกันการชำระหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์อยู่ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2541 เมื่อหนี้รายนี้จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามสัญญาซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2541 จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ ส่วนการนำคดีมาฟ้องให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าว โจทก์จะยื่นฟ้องเมื่อใดก็ได้ภายในกำหนดอายุความ
สัญญาทรัสต์รีซีทระบุว่า ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญา ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเกินได้ตามประกาศธนาคารโจทก์ ซึ่งตามประกาศธนาคารโจทก์ก็คืออัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ไม่ได้ผิดนัด เท่ากับอัตราดอกเบี้ยลูกค้าชั้นดีมีกำหนดเวลา (MLR) บวกส่วนต่าง (Margin) แต่ปรากฏว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าว โจทก์กลับคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดในกรณีลูกค้าผิดเงื่อนไขหรือผิดนัดชำระหนี้ซึ่งสูงกว่าอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ไม่ได้ผิดนัด จึงเป็นการคิดดอกเบี้ยไม่ถูกต้อง ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้อุทธรณ์ขึ้นมา ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินตามสัญญาทรัสต์รีซีท สัญญาค้ำประกัน และสัญญาจำนองจำนวน ๑๒๙,๘๒๖,๗๑๐.๒๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๖ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๙๘,๕๒๒,๙๖๗.๘๓ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ ๓ ออกขายทอดตลาด และยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสามให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์คิดอัตราแลกเปลี่ยนไม่ถูกต้องและยังมิได้ส่งมอบเอกสารการส่งสินค้าให้แก่จำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีท โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามคำฟ้อง เพราะสัญญาทรัสต์รีซีทไม่ได้กำหนดไว้ชัดเจน จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ไม่ได้แสดงเจตนาค้ำประกันหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ ไม่ได้จดทะเบียนจำนองเพื่อค้ำประกันหนี้ดังกล่าว สัญญาค้ำประกันสิ้นผลผูกพันแล้ว จำเลยที่ ๓ ไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองจากโจทก์ และทนายโจทก์ไม่มีอำนาจบอกกล่าวบังคับจำนอง ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จำเลยที่ ๒ ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ ๒ ออกจากสารบบความ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ร่วมกันชำระเงินจำนวน ๑๒๙,๘๒๖,๗๑๐.๒๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราผิดนัดผิดสัญญาตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศธนาคารโจทก์ แต่ต้องไม่เกินกว่าอัตราร้อยละ ๑๖ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๙๘,๕๒๒,๕๖๗.๘๓ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ให้ยึดทรัพย์สินที่จำเลยที่ ๓ จำนองไว้ออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาชำระ หากไม่พอชำระหนี้ ให้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ จนกว่าจะครบ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัย
ว่า โจทก์ได้บอกกล่าวบังคับจำนองแก่ลูกหนี้โดยถูกต้องตามกฎหมายแล้วหรือไม่ เห็นว่า หนังสือทวงถามให้ชำระหนี้และหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองเอกสารหมาย จ. ๘ จ. ๑๐ และ จ. ๑๒ ระบุว่านายสรรค์ ธรรมสถิตย์มั่น ในฐานะทนายความผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ขอให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ชำระหนี้ และให้ไถ่ถอนจำนองภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันได้รับหนังสือฉบับนี้ การมอบอำนาจดังกล่าวแม้โจทก์ไม่มีหนังสือการมอบอำนาจมาแสดง แต่นายสรรค์ผู้รับมอบอำนาจและนายไพบูลย์ ประกอบการดี ผู้รับมอบอำนาจช่วงแทนโจทก์เบิกความตรงกันว่า โจทก์ได้มอบอำนาจด้วยวาจาให้นายสรรค์ทนายความเป็นผู้บอกกล่าวบังคับจำนอง และต่อมาโจทก์ก็ได้แต่งตั้งให้นายสรรค์เป็นทนายความฟ้องร้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ ข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้ว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายสรรค์ทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยที่ ๓ จริง การบอกกล่าวบังคับจำนองนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๒๘ ไม่ได้กำหนดว่าต้องทำตามแบบอย่างใดบ้าง ผู้รับจำนองเพียงแต่มีจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควร ก็ถือได้ว่าเป็นการบอกกล่าวบังคับจำนองที่ชอบด้วยบทมาตราดังกล่าวแล้ว การบอกกล่าวบังคับจำนองจึงไม่ใช่แบบเพื่อความสมบูรณ์ของนิติกรรม ดังนั้น แม้โจทก์จะมอบอำนาจให้นายสรรค์เป็นตัวแทนบอกกล่าวบังคับจำนองโดยไม่ได้ทำเป็นหนังสือมอบอำนาจ ก็ไม่เป็นโมฆะ นอกจากนี้เมื่อโจทก์ยอมรับเอาการบอกกล่าวบังคับจำนองที่นายสรรค์ได้กระทำการไปในนามของโจทก์โดยการฟ้องคดีนี้ ย่อมถือว่าโจทก์ซึ่งเป็นตัวการได้ให้สัตยาบันแก่การบอกกล่าวบังคับจำนองนั้นแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๒๓ จึงถือได้ว่าโจทก์ได้บอกกล่าวบังคับจำนองแก่ลูกหนี้โดยถูกต้องตามกฎหมายแล้วเช่นเดียวกัน
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า สัญญาค้ำประกันสิ้นสุดลงในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๑ แต่โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นเวลาหลังจากสัญญาสิ้นสุดลงแล้ว จำเลยที่ ๓ ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ ๓ ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหนี้โจทก์อยู่ก่อนวันทำสัญญา (วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๐) ขณะทำสัญญา และหลังจากวันทำสัญญาในวงเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทจำนวน ๒๕๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท และอุปกรณ์แห่งหนี้อันได้แก่ดอกเบี้ยที่ค้างชำระจนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้จนสิ้นเชิง ดังนั้น แม้สัญญาค้ำประกันจะมีข้อความให้สัญญาฉบับดังกล่าวสิ้นสุดในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๑ ก็มีความหมายว่าจำเลยที่ ๓ ยอมค้ำประกันการชำระหนี้ที่จำเลยที่ ๑ เป็นหนี้โจทก์อยู่ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๑ เมื่อหนี้รายนี้จำเลยที่ ๑ เป็นหนี้โจทก์ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๑ จำเลยที่ ๓ ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ ส่วนการนำคดีมาฟ้องให้จำเลยที่ ๓ ชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าว โจทก์จะยื่นฟ้องเมื่อใดก็ได้ภายในกำหนดอายุความ อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปรากฏตามสัญญาทรัสต์รีซีทเอกสารหมาย จ. ๓๒ ถึง จ. ๔๒ ข้อ ๔ ว่า จำเลยที่ ๑ ต้องนำเงินมาชำระค่าสินค้าในจำนวนและกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในรายละเอียดแนบท้ายสัญญา ตลอดจนยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ตามประกาศธนาคารโจทก์นับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระเงินค่าสินค้าแทนจำเลยที่ ๑ รวมทั้งค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายใด ๆ อันเกี่ยวกับหนี้ทรัสต์รีซีท และข้อ ๗ ว่า ในกรณีที่จำเลยที่ ๑ ตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญา จำเลยที่ ๑ ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราที่กำหนดในข้อ ๔ ซึ่งตามประกาศธนาคารโจทก์ที่ปรากฏอยู่ในสำนวนก็คืออัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ไม่ได้ผิดนัด เท่ากับอัตราดอกเบี้ยลูกค้าชั้นดีมีกำหนดระยะเวลา (Minimum Lending Rate) บวกส่วนต่าง (Margin) ตามประกาศธนาคารโจทก์ แต่ปรากฏว่าเมื่อจำเลยที่ ๑ ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีท โจทก์กลับคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดในกรณีลูกค้าผิดเงื่อนไขหรือผิดนัดชำระหนี้ซึ่งสูงกว่าอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ไม่ได้ผิดนัดดังกล่าว จึงเป็นการคิดดอกเบี้ยไม่ถูกต้อง ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้อุทธรณ์ขึ้นมา ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ร่วมกันชำระต้นเงินจำนวน ๙๘,๕๒๒,๙๖๗.๘๓ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ไม่ผิดนัดตามประกาศธนาคารโจทก์ เรื่อง อัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อทั้งที่ประกาศไว้ก่อนวันฟ้อง และที่ประกาศต่อไปหลังวันฟ้องของต้นเงินหนี้ทรัสต์รีซีทคงเหลือแต่ละสัญญาตามตารางการคิดดอกเบี้ยเอกสารหมาย จ. ๗๒ ถึง จ. ๘๒ นับแต่วันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๐ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับค่าธรรมเนียมและอากรแสตมป์จำนวน ๑๗๒ บาท แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกินจำนวน ๓๑,๓๐๓,๕๗๐.๔๑ บาท และดอกเบี้ยหลังฟ้องต้องไม่เกินอัตราร้อยละ ๑๖ ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง.