คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9230/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยพร้อมกับเรียกค่าเสียหายจากจำเลยจึงถือไม่ได้ว่าเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ส่วนหนึ่งกับคดีมีทุนทรัพย์อีกส่วนหนึ่งปนกันมา ดังนี้ จะฎีกาข้อเท็จจริงได้หรือไม่ต้องแยกจากกัน กล่าวคือถ้าหากฎีกาประเด็นเรื่องขับไล่ก็ต้องพิจารณาว่าค่าเช่าเกินเดือนละ10,000 บาทหรือไม่ เมื่อโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยมีอัตราค่าเช่าเดือนละ10,500 บาท ฎีกาของจำเลยในส่วนเรื่องขับไล่จึงไม่ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคสอง ส่วนในเรื่องค่าเสียหายปรากฏว่าทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกามีจำนวนเพียง 132,000 บาท จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามมาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายหรือหากโจทก์ได้รับความเสียหายก็ไม่เกินเดือนละ 10,500 บาทนั้น เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท พร้อมทั้งส่งมอบที่ดินพิพาทคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย กับให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 231,000 บาท และชำระค่าเสียหายต่อไปอีกวันละ 1,750 บาทนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะออกจากที่ดินพิพาทและส่งมอบที่ดินพิพาทคืนโจทก์

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยออกไปจากที่ดินพิพาทพร้อมส่งมอบที่ดินพิพาทคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยชำระค่าเสียหายจำนวน 231,000 บาท และค่าเสียหายต่อไปอีกวันละ 1,750 บาท นับแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะออกจากที่ดินพิพาทและส่งมอบที่ดินพิพาทคืนโจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าเสียหายจำนวน132,000 บาท และค่าเสียหายต่อไปอีกวันละ 1,000 บาท นับแต่วันที่ 21กุมภาพันธ์ 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะออกจากที่ดินพิพาท และส่งมอบที่ดินพิพาทคืนโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยพร้อมกับเรียกค่าเสียหายจากจำเลย จึงถือได้ว่าเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ส่วนหนึ่งกับคดีมีทุนทรัพย์อีกส่วนหนึ่งปนกันมา ดังนี้จะฎีกาข้อเท็จจริงได้หรือไม่ต้องแยกจากกัน กล่าวคือ ถ้าหากฎีกาประเด็นเรื่องขับไล่ก็ต้องพิจารณาว่าค่าเช่าเกินเดือนละ 10,000 บาท หรือไม่ เมื่อโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยมีอัตราค่าเช่าเดือนละ 10,500 บาท ฎีกาของจำเลยในส่วนเรื่องขับไล่จึงไม่ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคสอง ส่วนในเรื่องค่าเสียหายปรากฏว่าทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกามีจำนวนเพียง 132,000 บาท จึงมีจำนวนไม่เกิน 200,000 บาทย่อมต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายหรือหากโจทก์ได้รับความเสียหายก็ไม่เกินเดือนละ 10,500 บาท นั้น เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า นายสามารถ ปาทา ไม่มีอำนาจบอกเลิกสัญญาเช่า การบอกเลิกสัญญาเช่าจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า ในชั้นอุทธรณ์จำเลยอุทธรณ์ว่า ตามเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.10 ไม่ใช่หนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าแก่จำเลยและจำเลยไม่เคยได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าการบอกเลิกสัญญาเช่าจึงไม่ชอบ โดยจำเลยไม่ได้อุทธรณ์ว่านายสามารถไม่มีอำนาจบอกเลิกสัญญาเช่าแต่อย่างใด ดังนั้น ฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้เช่นกัน คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะ เพราะผู้ลงนามในช่องผู้ให้เช่าไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 538 บัญญัติว่า “เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่…” บทบัญญัติดังกล่าวหาได้กำหนดแบบของนิติกรรมการเช่าอสังหาริมทรัพย์ว่าจะต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายมิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆะแต่อย่างใดไม่ เพียงแต่กำหนดว่าในการเช่าอสังหาริมทรัพย์จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้เท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยมอบอำนาจให้นายสมภพ ตันเปี่ยมทรัพย์ เป็นตัวแทนในการทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์และนายสมภพได้ลงลายมือชื่อช่องผู้เช่าในสัญญาเช่าที่จอดรถ ตามเอกสารหมาย จ.3 แทนจำเลยแล้วโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องร้องบังคับคดีนี้ได้โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้ลงลายมือชื่อช่องผู้ให้เช่าแทนโจทก์จะมีอำนาจกระทำแทนโจทก์หรือไม่ สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยหาตกเป็นโมฆะดังที่จำเลยฎีกาไม่ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายว่า จำเลยผิดสัญญาเช่าหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาเช่าสถานที่จอดรถเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 2 ระบุว่า “ในการใช้ที่ดินที่เช่าตามวัตถุประสงค์ของสัญญานี้ผู้เช่าจะติดตั้งเต็นท์ชั่วคราวเพื่อคลุมรถยนต์โดยมีลักษณะเป็นเต็นท์โครงเหล็กหลังคาคลุมผ้าใบ…” ข้อ 6 ระบุว่า “ผู้เช่าต้องใช้ทรัพย์สินที่เช่าเพื่อใช้เป็นสถานที่จอดรถของผู้เช่าเองเท่านั้น ผู้เช่าต้องไม่ใช้ทรัพย์สินที่เช่าเพื่อการอื่นนอกเหนือจากวัตถุประสงค์แห่งสัญญานี้ และต้องไม่นำทรัพย์สินที่เช่าไปแล้วหาผลประโยชน์ หรือให้ผู้อื่นเช่าช่วงทั้งหมดหรือบางส่วน หรือให้บุคคลอื่นเข้าใช้ทรัพย์สินที่เช่าแทนโดยเด็ดขาด…”และข้อ 8 ระบุว่า “นอกเหนือจากการก่อสร้างตามข้อ 2 ผู้เช่าต้องไม่ดัดแปลง ต่อเติมสิ่งใด ๆ ลงบนสถานที่เช่าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ให้เช่าเป็นหนังสือ…” ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบโดยจำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งรับฟังได้ตามที่ปรากฏในภาพถ่ายหมาย จ.6 ว่ามีสิ่งปลูกสร้างอื่นมีลักษณะเป็นเรือนแถวถาวรที่มิใช่เต็นท์ชั่วคราวเพื่อคลุมรถยนต์ตามสัญญาข้อ 2 ปลูกอยู่บนที่ดินที่พิพาท ทั้งได้ความจากคำเบิกความของนางเพ็ญศรี ประวุฒิตานนท์ น้องสาวภริยาจำเลยซึ่งเป็นผู้ดูแลและผลประโยชน์ในที่ดินพิพาทแทนจำเลยว่า นายพัฒนา พัฒนานิผลติดต่อกับสามีนางเพ็ญศรีและตัวนางเพ็ญศรีขอจอดรถยนต์บริเวณที่ดินพิพาท นายพัฒนาจึงได้นำรถยนต์มาจอดพร้อมทั้งปลูกสร้างอาคารไว้สำหรับจอดรถด้วย อีกทั้งยังได้ความจากคำเบิกความของนางเพ็ญศรีตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่า นายพัฒนาเป็นผู้ปลูกสร้างอาคารที่ปรากฏในภาพถ่ายหมาย จ.6 นอกจากนี้ยังปรากฏจากข้อความในหนังสือสัญญาให้อาศัยที่จอดรถยนต์ระหว่างนางเพ็ญศรีกับนายพัฒนาตามเอกสารหมาย ล.1 ข้อ 3 ระบุว่า “…ในส่วนของการต่อเติมสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ที่ผู้อาศัยที่จอดรถยนต์ได้สร้างขึ้นให้ตกลงเป็นของผู้ให้อาศัยและจะเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนนี้จากผู้ให้อาศัยไม่ได้” ข้อความในสัญญาดังกล่าวย่อมแสดงว่านางเพ็ญศรีอนุญาตให้นายพัฒนาปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้างตามที่ปรากฏในภาพถ่ายหมาย จ.6 ลงในที่ดินพิพาท นางเพ็ญศรีเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ในที่ดินพิพาทแทนจำเลยการกระทำของนางเพ็ญศรีจึงมีฐานะเป็นตัวแทนของจำเลย เมื่อมีการปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้างอื่นที่มิใช่เต็นท์สำหรับใช้เป็นที่จอดรถยนต์ตามสัญญาเช่าสถานที่จอดรถเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 2 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ผู้ให้เช่าเป็นหนังสือตามข้อ 8 ของสัญญาดังกล่าวแล้ว จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดสัญญาเช่า กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยให้เช่าช่วงที่ดินพิพาทตามฎีกาของจำเลยด้วยหรือไม่ต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน”

พิพากษายืน

Share