แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นนายจ้างของโจทก์ จำเลยผิดสัญญาจ้าง ขอให้จำเลยรับผิดจ่ายเงินตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 เป็นการฟ้องในมูลหนี้ตามสัญญาจ้างแรงงาน เมื่อจำเลยให้การต่อสู้และฟ้องแย้งว่าโจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลย ขอให้โจทก์ชำระเงินคืนและชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลย คำฟ้องแย้งของจำเลยไม่ใช่ฟ้องมูลหนี้มาจากการผิดสัญญาจ้างแรงงาน จึงไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลย เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2541 ตำแหน่งผู้จัดการโรงงาน ได้รับค่าจ้างเดือนละ 90,000 บาท ค่าเช่าที่พักอาศัยพร้อมเฟอร์นิเจอร์อีกเดือนละ 65,479.06 บาท รวมเป็นค่าจ้างที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ทุกวันสิ้นเดือน เดือนละ 155,479.06 บาท ต่อมาวันที่ 22 สิงหาคม 2546 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้แจ้งเหตุแห่งการเลิกจ้างและไม่ได้บอกกล่าวให้โจทก์ทราบล่วงหน้า โจทก์ไม่มีความผิด เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 932,874.36 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 155,479.06 บาท ค่าเสียหาย 3,731,497.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้นดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลย โจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัทอิชิฮาร่า พลาสติก อินดัสเตรียล จำกัด ซึ่งอยู่ในประเทศญี่ปุ่น บริษัทอิชิฮาร่า พลาสติก อินดัสเตรียล จำกัด ได้ส่งโจทก์มาเป็นผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยี ทางด้านวิศวกรรมในการประดิษฐิ์ ออกแบบ และควบคุมการผลิตพลาสติกและแม่พิมพ์ให้แก่จำเลยโดยจำเลยเป็นผู้จ่ายค่าตอบแทนให้แก่บริษัทอิชิฮาร่า พลาสติก อินดัสเตรียล จำกัด เป็นรายเดือน เดือนละ 830,000 เยน แล้วบริษัทอิชิฮาร่า พลาสติก อินดัสเตรียล จำกัด เป็นผู้จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ และเป็นผู้ควบคุมบังคับบัญชาโจทก์ จำเลยไม่มีสิทธิสั่งการควบคุม บังคับบัญชา หรือให้คุณให้โทษแก่โจทก์ โจทก์ได้รับอนุญาตให้ทำงานและพำนักในประเทศไทยเป็นระยะเวลาตามโครงการที่แน่นอนมีกำหนด 2 ปี จากกรมจัดหางาน แต่โจทก์กลับไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างจำเลยและบริษัทอิชิฮาร่า พลาสติก อินดัสเตรียล จำกัด โดยไม่ยอมถ่ายทอดสูตรทางวิศวกรรมการประดิษฐ์ การออกแบบการควบคุมการผลิตและเทคนิค ให้แก่จำเลย ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ต้องสูญเสียเงินที่จ่ายให้แก่บริษัทอิชิฮาร่าพลาสติก อินดัสเตรียล จำกัด ไปเป็นเงิน 48,970,000 บาท ต้องเสียค่าที่พักเป็นเงิน 3,425,126.06 บาท และค่าเช่ารถยนต์ 3,666,565.38 บาท ให้แก่โจทก์ และจากการกระทำของโจทก์ทำให้จำเลยเสียหายจากการมีวัตถุดิบเม็ดพลาสติกเหลือไม่อาจใช้ประโยชน์ได้เป็นเงิน 8,179,086.22 บาท และจากการทำหน้าที่ผิดพลาดของโจทก์ทำให้จำเลยต้องเสียค่าซ่อมแซมและค่าอะไหล่แม่พิมพ์เป็นเงิน 4,386,682.40 บาท กลางเดือนกรกฎาคม 2546 บริษัทอิชิฮาร่า พลาสติก อินดัสเตรียล จำกัด ตกเป็นบุคคลล้มละลายได้แจ้งให้จำเลยทราบและยกเลิกข้อตกลงให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคดังกล่าวแก่จำเลย และเลิกจ้างโจทก์ จำเลยจึงมีหนังสือแจ้งให้เลขาธิการคณะกรรมการการส่งเสริมการลงทุนทราบถึงการพ้นจากตำแหน่งของโจทก์ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2546 และแจ้งให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งดังกล่าว จึงไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ โจทก์ไม่อาจเรียกค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยจากจำเลย เงินค่าเช่าที่พักอาศัยและเฟอร์นิเจอร์ไม่ใช่ค่าจ้าง และโจทก์ไม่เสียหาย ขอให้ยกฟ้องโจทก์ และให้บังคับโจทก์คืนเงินที่จำเลยชำระให้แก่บริษัทอิชิฮาร่า พลาสติก อินดัสเตรียล จำกัด 46,970,000 บาท เงินค่าเช่าที่พักอาศัย 3,225,126.06 บาท เงินค่าเช่ารถยนต์ 3,666,565.38 บาท เงินค่าอะไหล่และค่าซ่อมแม่พิมพ์ 4,386,682.40 บาท ค่าสั่งซื้อเม็ดพลาสติก 8,179,086.22 บาท แก่จำเลย
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า รับคำให้การจำเลย เมื่อจำเลยให้การว่า โจทก์มิใช่ลูกจ้างจำเลย ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม ไม่รับฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นนายจ้างของโจทก์ จำเลยผิดสัญญาจ้างจึงฟ้องให้จำเลยรับผิดจ่ายเงินตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 เป็นการฟ้องในมูลหนี้ตามสัญญาจ้างแรงงาน เมื่อจำเลยให้การต่อสู้และฟ้องแย้งว่าโจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลย ขอให้โจทก์ชำระเงินคืนและชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลย โดยจำเลยปฏิเสธว่าโจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลย คำฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่ใช่ฟ้องมูลหนี้มาจากการผิดสัญญาจ้างแรงงาน คำฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมของโจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน