คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6453/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การว่าจ้างโจทก์ลงพิมพ์โฆษณาในสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ฉบับหน้าเหลืองภาษาอังกฤษเป็นการโฆษณาของบริษัท ย. ไม่ใช่บริษัทจำเลยที่ 1 แต่เป็นบริษัทในเครือของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2ไม่ใช่กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทจำเลยที่ 1 และกระทำไปโดยปราศจากอำนาจและจำเลยที่ 1 ไม่ให้สัตยาบันจำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกโดยลำพังตนเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 823 มูลความแห่งคดีจึงมิได้เป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้อันจะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59(1) มาใช้บังคับจึงนำเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้ให้การต่อสู้ไว้มิได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 104,121 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 70,830 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 2 รับผิดใช้เงินตามฟ้อง

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 75,789 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน70,830 บาท นับแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 2 ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเฉพาะในข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า การที่จำเลยที่ 1 ยกอายุความขึ้นต่อสู้คดีมีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้ยกเรื่องอายุความขึ้นต่อสู้คดีไว้ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 59(1) จึงต้องฟังว่าคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ขาดอายุความไปด้วยหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238ประกอบมาตรา 247 ว่า การโฆษณาในสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ฉบับหน้าเหลืองภาษาอังกฤษ เป็นการโฆษณาของบริษัทยูบีทีเอนจิเนียริ่งจำกัด ไม่ใช่บริษัทจำเลยที่ 1 แต่เป็นบริษัทในเครือของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ไม่ใช่กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทจำเลยที่ 1 และกระทำไปโดยปราศจากอำนาจและจำเลยที่ 1 ไม่ให้สัตยาบัน จำเลยที่ 2จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกโดยลำพังตนเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 823 ซึ่งจำเลยที่ 1ก็ให้การต่อสู้คดีไว้ตั้งแต่แรกว่าไม่เคยมอบหมายให้จำเลยที่ 2ทำการใด ๆ แทนจำเลยที่ 1 ผลแห่งการวินิจฉัยดังกล่าวทำให้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 มูลความแห่งคดีจึงมิได้เป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้อันจะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59(1) มาใช้บังคับ จึงนำเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้ให้การต่อสู้ไว้มิได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตามคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 2ชำระดอกเบี้ยของต้นเงินค่าจ้างนับแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2537แต่ศาลอุทธรณ์กลับพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 6กรกฎาคม 2537 จึงเป็นการพิพากษากำหนดดอกเบี้ยให้เกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้ก็ตามแต่ก็เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 75,789 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 70,830 บาทนับแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share