แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 249, 335(13) ก.ม.ลักษณะอาญา จำเลยให้การต่อสู้ว่าทำโดยป้องกันตัว ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 251 จำเลยอุทธรณ์ว่าทำโดยป้องกันไม่เกินสมควรแก่เหตุ ดังนี้ ศาลอุทธรณ์ย่อมพิพากษาชี้ขาดว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นการป้องกันตัวตามกฎหมาย แต่จำเลยกระทำโดยบรรดาลโทษะให้ลงโทษจำเลยเพียงกึ่งหนึ่งตาม มาตรา 55 ได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ก.ม.ลักษณะอาญา มาตรา ๒๔๙,๓๓๕ (๓) และริบมีดของกลาง จำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้ว่า ผู้ตายใช้ขวานไล่ฟันจำเลย ๆ จึงใช้มีดแทงผู้ตาย เพื่อป้องกันตัว มิได้มีเจตนา ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีผิดตาม ก.ม. ลักษณะอาญา มาตรา ๒๕๑ จำคุก ๓ ปี ริบมีดของกลาง ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยบรรดาลโทษะ พิพากษาให้ลงโทษจำเลยเพียงกึ่งหนึ่งตามมาตรา ๕๕ จำคุก ๑ ปี ๖ เดือน ลดฐานรับสารภาพ เหลือโทษจำคุก ๙ เดือน ให้รอการลงอาญาไว้
โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาฉะเพาะข้อว่า ข้อบรรดาลโทษะ จำเลยไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ตั้งแต่ศาลชั้นต้น ไม่มีประเด็นที่ศาลอุทธรณ์จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในการพิจารณาคดีตามข้ออุทธรณ์ของจำเลยนั้น ศาลอุทธรณ์พิจารณาได้ความว่า จำเลยกระทำผิดเพียงใด หรือว่า จำเลยได้รับความยกเว้น หรือลดหย่อนอาญาลงอย่างใด ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจพิพากษาไปตามนั้นได้ แม้จำเลยจะไม่ได้ให้การต่อสู้คดีเลย ศาลก็พิพากษาให้เป็นประโยชน์แก่จำเลยได้
พิพากษายืน