คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3919/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยให้การว่า โจทก์ยังไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลเนื่องจากโจทก์ยังไม่ดำเนินการตามกระบวนการระงับข้อพิพาทของสัญญา เป็นการฝ่าฝืนต่อเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญาว่าจ้างโจทก์ โจทก์ก็นำสืบยอมรับว่ามีข้อตกลงอนุญาโตตุลาการอยู่ในสัญญาจ้างดังกล่าวซึ่งเป็นสัญญาหลัก เพียงแต่โจทก์นำสืบว่าตามข้อสัญญาดังกล่าวโจทก์มีสิทธิเลือกที่จะไม่ใช้วิธีระงับข้อพิพาทโดยกระบวนการอนุญาโตตุลาการโดยเลือกฟ้องคดีต่อศาล ดังนั้นก่อนที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ และจำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่ ควรที่จะวินิจฉัยเสียก่อนว่ามีหรือไม่มีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้ด้วยเหตุประการอื่น หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นได้ รวมทั้งข้อที่ว่าข้อตกลงอนุญาโตตุลาการใช้บังคับไม่ได้เพราะโจทก์มีสิทธิเลือกที่จะไม่ใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการระงับข้อพิพาท โดยเลือกที่จะฟ้องคดีต่อศาลแทน ดังที่โจทก์นำสืบหรือไม่ ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 10 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับกับสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยในขณะทำสัญญา ซึ่งหากศาลเห็นว่าโจทก์ต้องไปดำเนินการตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการตามสัญญาก่อน ก็สั่งจำหน่ายคดีเสียเพื่อให้โจทก์ดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยปัญหาอายุความว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วพิพากษายกฟ้อง ย่อมเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยคำพิพากษาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2535 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเทศญี่ปุ่น ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง ออกแบบทางวิศวกรรม และอื่นๆ จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดจดทะเบียนตามกฎหมายไทย ประกอบกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง และตั้งหรือเช่าโรงงานเพื่อผลิตสินค้าดังกล่าว โจทก์โดยนายโตชิฮิโกะ ประธานและหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารลงลายมือชื่อมอบอำนาจให้นายศักดิ์ณรงค์ฟ้องและดำเนินคดีนี้แทน เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2540 จำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ออกแบบและวางระบบทางวิศวกรรมสำหรับโครงการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมัน โดยให้โจทก์ออกแบบสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม วางระบบทางวิศวกรรม และถอดแบบคำนวณราคาต้นทุนการก่อสร้างจากแบบและระบบทางวิศวกรรมแล้วส่งมอบผลงานให้จำเลยในรูปของเอกสารและซอฟแวร์ ในอัตราค่าจ้างทั้งสิ้น 13,500,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยแบ่งค่าจ้างเป็น 3 ส่วน คือค่าจ้างออกแบบพื้นฐาน 3,078,000 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าจ้างการให้บริการเชิงรายละเอียดด้านวิศวกรรม 7,722,000 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าจ้างถอดแบบและคิดคำนวณราคาก่อสร้าง 2,700,000 ดอลลาร์สหรัฐ และแบ่งชำระเงินค่าจ้าง 3 ครั้ง คือ ชำระเงินดาวน์ร้อยละ 5 ของค่าจ้างทั้งหมดภายใน 14 วัน นับแต่วันลงนามในสัญญา ชำระเงินงวดแรกร้อยละ 10 ของค่าจ้างทั้งหมดภายในสิ้นเดือนที่ 5 นับจากวันที่สัญญามีผลบังคับ และชำระเงินงวดที่สองร้อยละ 85 ของค่าจ้างทั้งหมดเมื่อจำเลยยอมรับผลงานหรือชุดซอฟแวร์งานและรายงานผลการคำนวณราคาทั้งหมดแล้ว ทั้งนี้โจทก์ต้องส่งมอบงานให้แก่จำเลยภายใน 9 เดือน นับแต่วันลงนามในสัญญาและหลังจากจำเลยชำระเงินดาวน์ร้อยละ 5 ของมูลค่าสัญญาแล้ว หลังทำสัญญา โจทก์ทำการออกแบบและวางระบบงานวิศวกรรมกับคิดคำนวณราคาจากแบบอย่างครบถ้วนถูกต้องตรงตามสัญญา พร้อมทั้งส่งมอบงานให้จำเลยรับไปเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2541 แต่จำเลยผิดสัญญาไม่ชำระค่าจ้างให้โจทก์ครบถ้วน โดยชำระเฉพาะเงินดาวน์ร้อยละ 5 ของมูลค่าจ้างตามสัญญาเป็นเงิน 675,000 ดอลลาร์สหรัฐ โจทก์ออกใบแจ้งหนี้ 3 ฉบับ ให้จำเลยชำระค่าจ้างงวดแรกร้อยละ 10 ของค่าจ้างทั้งหมดเป็นเงิน 261,630 ดอลลาร์สหรัฐ (หักภาษีแล้ว) 772,200 ดอลลาร์สหรัฐ และ 270,000 ดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ รวม 1,350,000 ดอลลาร์สหรัฐ ภายในวันที่ 29 กรกฎาคม 2540 ต่อมาโจทก์ออกใบแจ้งหนี้อีก 3 ฉบับ ให้จำเลยชำระค่าจ้างงวดที่สองร้อยละ 85 ของมูลค่าตามสัญญาเป็นเงิน 2,223,855 ดอลลาร์สหรัฐ (หักภาษีแล้ว) 6,563,700 ดอลลาร์สหรัฐ และ 2,295,000 ดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ รวม 11,475,000 ดอลลาร์สหรัฐ ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2541 รวมจำนวนเงินตามใบแจ้งหนี้ทั้งหกฉบับทั้งสิ้น 12,825,000 ดอลลาร์สหรัฐ แต่จำเลยไม่ชำระ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันครบกำหนดชำระตามใบแจ้งหนี้แต่ละฉบับจนถึงวันฟ้อง รวมเป็นเงินต้นและดอกเบี้ยทั้งสิ้น 17,797,750 ดอลลาร์สหรัฐ ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินจำนวน 17,797,750 ดอลล่าร์สหรัฐ (คิดเป็นเงินไทย 735,936,962.50 บาท) พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 12,825,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากโจทก์ไม่ได้เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย หนังสือรับรองบริษัทโจทก์ และหนังสือรับรองโนตารีปับลิกไม่ถูกต้อง นายศักดิ์ณรงค์ ไม่ใช่ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะไม่ฟ้องเรียกค่าจ้างตามใบแจ้งหนี้ทั้งหกฉบับจากจำเลยภายใน 2 ปี นับแต่วันถึงกำหนด โจทก์ยังไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องเพราะไม่ได้นำข้อพิพาทเข้าสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการตามเงื่อนไขสัญญาว่าจ้างข้อ 5.1 และโจทก์ยังไม่บอกกล่าวเตือนให้จำเลยชำระหนี้โดยถูกต้อง จำเลยจึงยังไม่ตกเป็นฝ่ายผิดนัดชำระหนี้ กับโจทก์สละสิทธิเรียกร้องค่าจ้างตามสัญญานับแต่เริ่มงานตามสัญญา เพราะโจทก์รู้ดีว่าจำเลยไม่มีความสามารถชำระค่าจ้างด้วยเหตุสุดวิสัยเนื่องจากในต้นปี 2540 รัฐบาลไทยประกาศลดค่าเงินบาททำให้ประเทศไทยเข้าสู่วิกฤติทางเศรษฐกิจ สถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศปฏิเสธมิให้จำเลยกู้เงิน โจทก์มีสิทธิตามสัญญาที่จะหยุดงานชั่วคราวและบอกเลิกสัญญา แต่โจทก์กลับสมัครใจเข้าเสี่ยงภัยทำงานออกแบบและประเมินค่าก่อสร้างทั้งหมดเสร็จสิ้น ทั้งที่ได้รับเงินค่าจ้างไปเพียงร้อยละ 5 ของค่าจ้างทั้งหมด นอกจากนี้ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินค่าจ้างงวดแรกร้อยละ 10 ของค่าจ้างทั้งหมด เป็นเงิน 1,350,000 ดอลลาร์สหรัฐ ตามใบแจ้งหนี้ 3 ฉบับ เพราะโจทก์ไม่จัดทำผังรวมเบื้องต้นของโครงการให้แล้วเสร็จ ไม่ส่งมอบผังรวมนี้ให้จำเลยและจำเลยไม่ได้ตรวจรับกับไม่เคยออกหนังสือรับรองว่าโจทก์จัดทำแล้วเสร็จ ทั้งโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเก็บเงินค่าจ้างงวดที่สองร้อยละ 85 ของค่าจ้างทั้งหมดเป็นเงิน 11,475,000 ดอลลาร์สหรัฐ ตามใบแจ้งหนี้ 3 ฉบับ เพราะโจทก์ไม่จัดทำเอกสารการออกแบบครบเต็มชุดกับรายงานประเมินค่าก่อสร้างทั้งหมดให้แล้วเสร็จและส่งมอบเอกสารเหล่านี้ให้จำเลย กับจำเลยไม่ได้ตรวจรับเอกสารและออกหนังสือรับรองแก่โจทก์ว่าโจทก์จัดทำแล้วเสร็จ นอกจากนั้นโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตให้โอกาสจำเลยเพียงตรวจดูเนื้อความรวมๆ ของเอกสารออกแบบกับรายงานประเมินค่าก่อสร้าง โดยไม่มีโอกาสและเวลาเพียงพอในการตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ด้านเทคนิคของเอกสารทั้งหมด และโจทก์เพิกเฉยไม่จัดทำเอกสารออกแบบต่อไปให้แล้วเสร็จโดยไม่แก้ไขงานตามที่จำเลยแจ้งความเห็นทางเทคนิคขอให้แก้ไข ทั้งเอกสารการออกแบบของโจทก์ไม่สามารถนำไปก่อสร้างโครงการได้จริงเพราะเมื่อจำเลยได้ผู้ลงทุนโครงการแล้วจะนำเอกสารการออกแบบของโจทก์ไปใช้ก่อสร้าง โจทก์ปฏิเสธที่จะประกันงานและรับผิดชอบต่อเอกสารการออกแบบ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังยุติตามที่คู่ความไม่อุทธรณ์โต้เถียงกันว่าจำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ออกแบบวิศวกรรมสำหรับโครงสร้างโรงกลั่นน้ำมันให้จำเลยในลักษณะหัวจรดท้าย ณ จังหวัดสงขลา โดยกำหนดให้โจทก์มีหน้าที่จัดทำเอกสารการออกแบบงานวิศวกรรมครบเต็มชุด และประเมินค่าก่อสร้างทั้งหมด ให้แล้วเสร็จภายใน 9 เดือน นับแต่วันที่สัญญามีผลใช้บังคับ ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.5 หรือ ล. พร้อมคำแปล โจทก์อุทธรณ์ประการแรกว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ประการที่สอง โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ และประการที่สาม จำเลยต้องรับผิดชำระหนี้เงินค่าจ้างงวดแรกและงวดที่สองตามใบแจ้งหนี้ทั้งหกฉบับให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด ซึ่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์เป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมฟ้องเรียกเอาค่าการงานที่ทำจากจำเลยเกินสองปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (17) และไม่วินิจฉัยประเด็นอื่นๆ ต่อไป พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยให้การต่อสู้ข้อหนึ่งว่า โจทก์ยังไม่มีสิทธินำคดีนี้มาฟ้องต่อศาลเนื่องจากโจทก์ยังไม่ดำเนินการตามกระบวนการระงับข้อพิพาทของสัญญา และยังไม่ได้นำข้อพิพาทเข้าสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ เป็นการฝ่าฝืนต่อเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญาว่าจ้างโจทก์ดังกล่าวในข้อ 5.1 และในชั้นพิจารณาของศาล จำเลยก็ยังสืบพยานยืนยันข้อต่อสู้นี้ โดยโจทก์ซึ่งมีหน้าที่นำพยานเข้าสืบก่อนก็นำสืบว่ามีกระบวนการระงับข้อพิพาทตามสัญญา และมีข้อตกลงว่าหากดำเนินการตามกระบวนการนั้นแล้วไม่สามารถแก้ปัญหาข้อพิพาทได้ จะต้องนำข้อพิพาทเข้าสู่การระงับโดยอนุญาโตตุลาการจ้างดังกล่าวซึ่งเป็นสัญญาหลักเพียงแต่โจทก์นำสืบว่าตามสัญญาดังกล่าวโจทก์มีสิทธิเลือกที่จะไม่ใช้วิธีระงับข้อพิพาทโดยกระบวนการอนุญาโตตุลาการโดยเลือกฟ้องคดีต่อศาล ดังนั้นก่อนที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ และจำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่ ควรที่จะวินิจฉัยเสียก่อนว่ามีหรือไม่มีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้ด้วยเหตุประการอื่น หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นได้ รวมทั้งข้อที่ว่าข้อตกลงอนุญาโตตุลาการใช้บังคับไม่ได้เพราะโจทก์มีสิทธิเลือกที่จะไม่ใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาท โดยเลือกที่จะฟ้องคดีต่อศาลแทน ดังที่โจทก์นำสืบหรือไม่ ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 10 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับกับสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยในขณะทำสัญญา ซึ่งหากศาลเห็นว่าโจทก์ต้องไปดำเนินการตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการตามสัญญาก่อน ก็สั่งจำหน่ายคดีนี้เสียเพื่อให้โจทก์ไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ โดยศาลไม่ต้องวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทเรื่องอายุความฟ้องคดี อำนาจฟ้อง และความรับผิดของจำเลยในการชำระหนี้แก่โจทก์ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยปัญหาอายุความว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วพิพากษายกฟ้อง ย่อมเป็นเหตุที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยคำพิพากษาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2535 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1)”
พิพากษายกคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 10 เสียก่อน และมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share