คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 907/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้ฝ่ายผู้เสียหายจะถอนคำร้องทุกข์ในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคแรก และฐานพาบุคคลอายุเกินสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 283 ทวิ วรรคแรก แต่การถอนคำร้องทุกข์ดังกล่าวมิได้มีผลถึงกับทำให้ถือว่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของจำเลยตามฟ้องถูกลบล้างไปด้วย ศาลล่างทั้งสองจึงนำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของจำเลยตามฟ้องมาประกอบการใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้ หาใช่เป็นการนำข้อเท็จจริงนอกสำนวนมาพิจารณาลงโทษจำเลย อันเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 240 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 276, 283 ทวิ, 318
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 วรรคสาม ฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร จำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำคุก 4 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้วคงจำคุก 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่าฝ่ายผู้เสียหายได้ถอนคำร้องทุกข์ในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคแรก และฐานพาบุคคลอายุเกินสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเพื่อการอนาจาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 ทวิ วรรคแรก สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดสองฐานดังกล่าวจึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) แต่ศาลล่างทั้งสองยังนำข้อเท็จจริงตามคำฟ้องในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา และฐานพาบุคคลอายุเกินสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเพื่อการอนาจารมาประกอบดุลพินิจในการกำหนดโทษในความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 วรรคสาม ว่า พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรงและไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยอันเป็นการนำข้อเท็จจริงนอกสำนวนมาพิจารณาลงโทษจำเลยซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า แม้ฝ่ายผู้เสียหายจะถอนคำร้องทุกข์ในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคแรก และฐานพาบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเพื่อการอนาจาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 ทวิ วรรคแรก แต่การถอนคำร้องทุกข์ดังกล่าวมิได้มีผลถึงกับทำให้ถือว่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของจำเลยตามฟ้องถูกลบล้างไปด้วย ศาลล่างทั้งสองจึงนำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของจำเลยตามฟ้องมาประกอบการใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้หาใช่เป็นการนำข้อเท็จจริงนอกสำนวนมาพิจารณาลงโทษจำเลย อันเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 240 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ดังที่จำเลยกล่าวอ้างในฎีกาไม่ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการกำหนดโทษ หรือรอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า การที่จำเลยพรากผู้เสียหายที่ 1 มีอายุเกินสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล โดยผู้เสียหายที่ 1 ไม่เต็มใจไปด้วยเพื่อการอนาจาร ลักษณะการกระทำความผิดของจำเลยเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 และเป็นการคุกคามทางเพศโดยอาศัยความไร้เดียงสาของผู้เสียหายที่ 1 ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของสังคม พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน และมีภาระต้องอุปการะเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัว หรือมีเหตุอื่นดังที่จำเลยกล่าวอ้างในฎีกา ก็ไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย อย่างไรก็ตาม จำเลยได้ชดใช้ค่าเสียหายจนฝ่ายผู้เสียหายไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไป นับว่าจำเลยรู้สำนึกในความผิดและเป็นการบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้นแล้วว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ลงโทษจำคุกจำเลยถึง 4 ปี ก่อนลดโทษให้นั้น หนักเกินไป สมควรแก้ไขเสียใหม่ให้เหมาะสมสอดคล้องแก่พฤติการณ์แห่งคดี ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารจำคุก 3 ปี ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share