คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1971/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในฐานะผู้จัดการมรดกจึงเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองในที่ดินแทนทายาททุกคนและมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินให้แก่ทายาททุกคนเท่านั้น ไม่มีสิทธินำที่ดินส่วนที่ตกได้แก่ทายาทคนใดไปขาย โดยทายาทผู้นั้นไม่ยินยอม ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิและไม่มีอำนาจที่จะนำที่ดินส่วนที่ตกได้แก่โจทก์ตามที่ตกลงกันไว้ไปขายให้แก่ผู้ใด โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ฉะนั้น แม้จำเลยที่ 2 จะรับซื้อที่ดินดังกล่าวไว้สุจริตเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้วก็ตาม ก็ไม่ได้สิทธิเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินในส่วนของโจทก์ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิและไม่มีอำนาจโอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2
การที่โจทก์มาฟ้องเรียกเอาที่ดินส่วนของโจทก์คืนนั้น จึงเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความเรียกคืน กรณีจึงไม่ใช่เรื่องการเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 เพระการที่จะเป็นเรื่องเพิกถอนการฉ้อฉลได้นั้น จำเลยที่ 1 ผู้โอนจะต้องมีสิทธิโอนอยู่แล้ว แต่การโอนทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียหายเท่านั้น จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่มีสิทธิและไม่มีอำนาจดังกล่าวมาแล้ว จึงนำอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 ในการเพิกถอนการฉ้อฉลมาใช้บังคับไม่ได้และเมื่อคดีนี้ไม่ใช่เรื่องการขอเพิกถอนการฉ้อฉลแต่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 รับซื้อที่ดินมาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่มีสิทธิขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว แม้จำเลยที่ 2 จะรับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้วก็ตาม จำเลยที่ 2 ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินซึ่งเป็นไปตามหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 จึงไม่มีผลทางกฎหมายที่จะใช้ยันแก่โจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนซื้อขายที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 1287 ตำบลบงเหนือ อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ระหว่างจำเลยทั้งสอง และบังคับให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกไปดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ไปดำเนินการโอนขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 1287 ตำบลบงเหนือ อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 2,000 บาท
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบโต้แย้งกันฟังยุติได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นพี่น้องร่วมมารดาเดียวกันของนางอ่อนจันทร์ กับนายจันทร์ดี ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นบุตรของนางอ่อนจันทร์ กับนายชิต บิดามารดาของโจทก์อยู่กินฉันสามีภริยากันโดยไม่ได้จดทะเบียน ส่วนบิดามารดาของจำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกัน จำเลยที่ 1 มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน ที่ดินพิพาทเดิมมีเนื้อที่ 24 ไร่ เป็นของนางอำคา ขายให้แก่นายชิต บิดาจำเลยที่ 1 ต่อมานางอ่อนจันทร์ มารดาโจทก์ได้ร่วมกับนายชิต บิดาจำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินเพิ่มอีก 13 ไร่ นำรวมเข้ากับที่ดินเดิมเป็นประมาณ 37 ไร่ แล้วขอแบ่งแยกออกเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.1 ต่อมานายชิต บิดาจำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 ให้เป็นผู้จัดการมรดกของนายชิต จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดก ได้ทำบันทึกตกลงแบ่งแยกที่ดินมรดกให้แก่ทายาท เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2538 แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ไม่โอนที่ดินพิพาทส่วนที่เหลือจำนวน 13 ไร่ ให้แก่โจทก์ตามที่ได้ตกลงกันไว้ โจทก์จึงยื่นฟ้องต่อศาลชั้นต้น ขอให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทจำนวน 13 ไร่ ดังกล่าว ตามที่ตกลงกันไว้ให้แก่โจทก์ ต่อมาวันที่ 6 กรกฎาคม 2541 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 คดีถึงที่สุด คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงผูกพันจำเลยที่ 1 และในระหว่างดำเนินคดีดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2538
คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทหรือไม่ จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยคบคิดกันฉ้อฉลโจทก์หรือไม่และฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ที่จะขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 แล้วหรือไม่ เห็นว่า สำหรับประเด็นแรกโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทหรือไม่นั้น ทางพิจารณาได้ความว่า โจทก์เป็นบุตรของนางอ่อนจันทร์กับนายจันทร์ดี ซึ่งอยู่กินกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส และต่อมามารดาโจทก์ได้จดทะเบียนสมรสกับนายชิต บิดาจำเลยที่ 1 และมีบุตรด้วยกัน 3 คน คือจำเลยที่ 1 นายอุดม นายสวัสดิ์ชัย โจทก์จึงไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายชิต บิดาจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทรัพย์มรดกของบิดาจำเลยที่ 1 แต่โจทก์มีสิทธิรับมรดกของจำเลยที่ 1 ในส่วนที่ตกแก่มารดาโจทก์ในฐานะคู่สมรสและถือเป็นทายาทคนหนึ่งของบิดาจำเลยที่ 1 เมื่อมารดาโจทก์มาอยู่กินกับนายชิต ได้ร่วมกันซื้อที่ดินพิพาทเพิ่มเติมประมาณ 13 ไร่ จากที่ดินเดิม 24 ไร่ ที่ซื้อจากนางอำคารวมเป็น 37 ไร่เศษ แล้วแบ่งแยกเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.1 ดังนี้เมื่อนายชิตถึงแก่กรรม ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.1 จึงเป็นทรัพย์มรดกที่ตกแก่มารดาโจทก์ในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งตกแก่ทายาทที่เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายชิต กับมารดาโจทก์คือจำเลยที่ 1 กับพี่น้องรวม 3 คน คนละหนึ่งส่วน โดยมารดาโจทก์ยังมีส่วนได้รับในฐานะทายาทชั้นบุตรด้วยอีก 1 ส่วน และเมื่อมารดาโจทก์ถึงแก่กรรมในภายหลัง ส่วนที่ตกเป็นมรดกของมารดาโจทก์ก็ย่อมตกแก่โจทก์ ซึ่งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของมารดาโจทก์ โจทก์จึงมีส่วนได้ในที่ดินพิพาทที่เป็นทรัพย์มรดกของนายชิต บิดาจำเลยที่ 1 ด้วย…โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ตกลงแบ่งที่ดินมรดกกันต่อหน้าผู้ใหญ่บ้านและคณะกรรมการหมู่บ้าน หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 จึงไปดำเนินการขอแบ่งแยกที่ดินพิพาทออกเป็นแปลงตามที่ตกลงกันไว้จริงโดยคงเหลือที่ดินในหนังสือรับรองการทำประโยชน์จำนวน 13 ไร่เศษ ซึ่งจำเลยที่ 1 ตกลงให้ตกเป็นของโจทก์ตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย ล.1 ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทกันในคดีนี้คือ ที่ดินส่วนที่เหลือจำนวน 13 ไร่เศษในหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.1 ซึ่งต่อมาภายหลังจำเลยที่ 1 ได้โอนขายให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2538 นั้น เป็นของโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายชิต เป็นผู้ถือสิทธิครอบครองแทนเท่านั้น
ปัญหาวินิจฉัยต่อไปในประเด็นที่ 2 และที่ 3 ว่า จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสมรู้ร่วมคิดกันฉ้อฉลโจทก์หรือไม่ และฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ที่จะขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 แล้วหรือไม่นั้น เห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า การที่จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 นั้น เป็นการทำนิติกรรมฉ้อฉลโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามที่วินิจฉัยมาแล้วว่า จำเลยที่ 1 มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายชิต จึงเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแทนทายาททุกคนและมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรกดที่ดินพิพาทให้แก่ทายาททุกคนเท่านั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทส่วนที่ตกได้แก่ทายาทคนใดไปขายให้บุคคลใด โดยทายาทผู้นั้นไม่ยินยอมทั้งสิ้น ดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิและไม่มีอำนาจที่จะนำที่ดินพิพาทส่วนที่ตกได้แก่โจทก์ตามที่ตกลงกันไว้จำนวน 13 ไร่เศษ ไปขายให้แก่ผู้ใด โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ฉะนั้นแม้จำเลยที่ 2 จะรับซื้อที่ดินดังกล่าวไว้สุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้วก็ตาม จำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้สิทธิเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินพิพาทในส่วนของโจทก์ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิและไม่มีอำนาจโอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 นั่นเอง ดังนั้นการที่โจทก์มาฟ้องเรียกเอาที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์คืนนั้น จึงเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความเรียกคืน กรณีจึงไม่ใช่เรื่องการเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 เพราะการที่จะเป็นเรื่องเพิกถอนการฉ้อฉลได้นั้น จำเลยที่ 1 ผู้โอนจะต้องมีสิทธิโอนอยู่แล้ว แต่การโอนทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียหายเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงคดีนี้ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่มีสิทธิและไม่มีอำนาจดังกล่าวมาแล้ว จึงนำอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 ในการเพิกถอนการฉ้อฉลมาใช้บังคับไม่ได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ 1 ปี ตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาโต้แย้งมา และเมื่อคดีนี้ไม่ใช่เรื่องการขอเพิกถอนการฉ้อฉลแต่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 รับซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่มีสิทธิขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว แม้จำเลยที่ 2 จะรับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้วก็ตาม จำเลยที่ 2 ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นไปตามหลักที่ว่า ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 จึงไม่มีผลทางกฎหมายที่จะใช้ยันแก่โจทก์ได้
อนึ่ง คดีนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแย่งการครอบครองที่โจทก์จะต้องฟ้องเรียกคืนซึ่งการครอบครองภายในกำหนด 1 ปี ดังที่จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ด้วย เพราะในเรื่องการแย่งการครอบครองนั้น จะมีได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น เมื่อตามคำให้การของจำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์แล้ว จึงไม่มีประเด็นเรื่องการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 ฉะนั้น จำเลยที่ 2 จะโต้แย้งว่าโจทก์ไม่ใช้สิทธิเรียกคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่นายบัวคำ สามีของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2539 ตามบันทึกตกลงประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.5 ที่ทำที่สถานีตำรวจภูธร อำเภอสว่างแดนดิน แล้วโจทก์จึงสิ้นสิทธิฟ้องเรียกเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 นั้นก็ฟังไม่ได้เช่นกัน
ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์เป็นเรื่องติดตามเอาทรัพย์คืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความไม่ใช่เรื่องเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 จึงไม่ขาดอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 แล้วพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาท ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์นั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,000 บาท แทนโจทก์

Share