คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 318/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อกำหนดคดีภาษีอากร ฉบับลงวันที่ 30 มกราคม 2529 ข้อ 8 โจทก์บรรยายฟ้องสรุปได้ว่า เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2523จำเลยนำเข้าเครื่องอะไหล่อุปกรณ์วิทยุจากประเทศญี่ปุ่น และสำแดงราคาของสินค้าไว้ในใบขนสินค้าขาเข้า และแบบแสดงรายการการค้าลงวันที่ 17 ธันวาคม 2524 เป็นเงิน 161,780.06 บาท เพื่อเสียอากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาล พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 เห็นว่าไม่มีรายละเอียดราคาท้องตลาดสำหรับสินค้าของจำเลย จึงให้จำเลยวางเงินประกันไว้ 10,000 บาท ภายหลังได้มีการตรวจสอบราคาจากการนำเข้าของรายอื่น แล้วปรากฏว่าราคาสินค้าที่จำเลยสำแดงไว้ต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาดที่มีราคา 359,173.29บาท เจ้าพนักงานประเมินจึงประเมินค่าภาษีอากรที่จำเลยจะต้องชำระเพิ่มขึ้น แต่จำเลยไม่ชำระ การบรรยายฟ้องดังนี้จึงแสดงถึงสภาพข้ออ้างและข้อหาตลอดจนการที่ถูกโต้แย้งสิทธิไว้อย่างชัดแจ้งจำเลยสามารถเข้าใจคำฟ้องและต่อสู้คดีได้ถูกต้องชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17แล้ว ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม การอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีของศาลภาษีอากรกลางเป็นการอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณา ซึ่งปกติจำเลยจะต้องโต้แย้งคำสั่งของศาลเพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อไป แต่ในกรณีที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีและมีคำพิพากษาในวันเดียวกันทำให้จำเลยไม่มีระยะเวลาหรือโอกาสโต้แย้งคำสั่งได้ จำเลยจึงมีสิทธิอุทธรณ์โดยไม่ต้องโต้แย้งได้ จำเลยมิได้อุทธรณ์การประเมินในส่วนของภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล ทั้งในชั้นพิจารณาของศาล จำเลยมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานตามข้อกำหนดคดีภาษีอากร ข้อ 8 ทำให้จำเลยไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบตามข้อต่อสู้ของจำเลย และในวันนัดชี้สองสถานจำเลยทราบนัดแล้วก็ไม่มาศาล อีกทั้งนับจากวันที่จำเลยยื่นคำให้การจนถึงวันนัดสืบพยานโจทก์เป็นเวลาถึงสองเดือนเศษ ซึ่งเป็นระยะเวลานานพอควร จำเลยควรที่จะติดตามและสอบถามถึงวันนัดที่จำเลยมีวันว่างเพื่อจะได้ขอเลื่อนคดีเสียก่อนนั้นได้ แต่ตามพฤติการณ์ของจำเลยกลับปรากฏว่า จำเลยไม่เอาใจใส่และสนใจดำเนินคดีเท่าที่ควร ที่ศาลภาษีอากรกลางไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีเป็นผลมาจากความบกพร่องของจำเลยเอง จึงเป็นการใช้ดุลยพินิจที่มีเหตุผลสมควรแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระเงินค่าภาษีอากรเงินเพิ่มภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาล รวมเป็นเงิน 212,786.98 บาท
จำเลยให้การว่า เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ประเมินราคาสินค้าสูงกว่าความเป็นจริง เป็นการไม่ชอบธรรม จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในค่าภาษีอากรที่เพิ่มขึ้นรวมทั้งเงินเพิ่ม ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมไม่ได้บรรยายให้แจ้งชัดว่าจำเลยนำเข้าสินค้าอย่างไร เมื่อใดโดยวิธีใดและสินค้าแต่ละประเภทซึ่งจำเลยนำเข้าจะต้องเทียบเคียงเพื่อเสียภาษีอย่างไร และจำเลยสำแดงเท็จส่วนไหน รายการใดบ้างฟ้องของโจทก์บรรยายฟุ่มเฟือยวกวนจนทำให้จำเลยไม่เข้าใจฟ้องเพื่อต่อสู้คดีโจทก์ได้ ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่จำเลย ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน212,786.98 บาท แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยเป็นข้อแรกว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยนำสินค้าเข้าอย่างใด เมื่อใดโดยวิธีใด และสินค้าแต่ละประเภทที่จำเลยนำเข้าจะต้องเทียบเคียงเพื่อเสียภาษีอย่างไร จำเลยสำแดงเท็จในส่วนไหนรายการใดบ้างจึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม ข้อโต้แย้งในชั้นอุทธรณ์ดังกล่าวนี้ เห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องสรุปได้ว่า เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2523 จำเลยนำเข้าเครื่องอะไหล่อุปกรณ์วิทยุ จากประเทศญี่ปุ่น และสำแดงราคาของสินค้าไว้ในใบขนสินค้าขาเข้า และแบบแสดงรายการการค้า ลงวันที่17 ธันวาคม 2524 เป็นเงิน 161,780.06 บาท เพื่อเสียภาษีอากรได้แก่อากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาล พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 เห็นว่า ไม่มีรายละเอียดราคาท้องตลาดสำหรับสินค้าของจำเลย จึงให้จำเลยวางเงินประกันไว้ 10,000 บาท ภายหลังได้มีการตรวจสอบราคาจากการนำเข้าของรายอื่นแล้ว ปรากฏว่าราคาสินค้าที่จำเลยสำแดงไว้ต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาดที่มีราคา359,173.29 บาท เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 จึงประเมินค่าภาษีอากรที่จำเลยจะต้องชำระเพิ่มขึ้น แต่จำเลยไม่ชำระการบรรยายฟ้องดังนี้ จึงแสดงถึงสภาพข้ออ้างและข้อหาตลอดจนการที่โจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิไว้อย่างชัดแจ้ง จำเลยสามารถเข้าใจคำฟ้องและต่อสู้คดีได้ตรงกับการกล่าวอ้างของโจทก์แล้ว คำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17 แล้ว ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุมแล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการประเมินภาษีอากรของโจทก์ถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว
จำเลยอุทธรณ์เป็นประการสุดท้ายว่า ศาลภาษีอากรกลางไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีตามคำร้องของจำเลย ฉบับลงวันที่ 24 ธันวาคม 2533เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและเป็นเหตุให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดีพิเคราะห์แล้ว การอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวเป็นการอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาซึ่งปกติจำเลยจะต้องโต้แย้งคำสั่งของศาลเพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อไป แต่ในกรณีนี้ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดี และมีคำพิพากษาไปในวันเดียวกัน ทำให้จำเลยไม่มีระยะเวลาหรือโอกาสโต้แย้งคำสั่งได้ จำเลยจึงมีสิทธิอุทธรณ์โดยไม่ต้องโต้แย้งได้ และในปัญหานี้ เห็นว่า หลังจากจำเลยยื่นคำให้การแล้ว ศาลภาษีอากรกลางนัดชี้สองสถานในวันที่ 20 พฤศจิกายน2533 ปรากฏว่า จำเลยมิได้ยื่นบัญชีระบุพยาน ศาลภาษีอากรกลางจึงสั่งไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาในวันชี้สองสถานว่า จำเลยไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบแก้และให้เลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 24 ธันวาคม2533 ซึ่งในวันนัดสืบพยานโจทก์ดังกล่าว จำเลยร้องขอเลื่อนคดีอ้างว่า ทนายจำเลยติดว่าความในคดีอื่นซึ่งนัดไว้ก่อนแล้ว ดังนี้ได้ความว่าจำเลยมิได้อุทธรณ์การประเมินในส่วนของภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล ทั้งในชั้นพิจารณาของศาล จำเลยมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานตามข้อกำหนดคดีภาษีอากร ลงวันที่ 30 มกราคม 2529ข้อ 8 ซึ่งทำให้จำเลยไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบตามข้อต่อสู้ของจำเลยและในวันนัดชี้สองสถานซึ่งจำเลยทราบนัดตามคำสั่งของศาลแล้วก็ไม่มาศาล นับจากวันที่จำเลยยื่นคำให้การ คือวันที่ 10 ตุลาคม 2533ซึ่งเป็นวันเดียวกับวันที่ศาลมีคำสั่งนัดชี้สองสถาน ถึงวันนัดสืบพยานโจทก์เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2533 เป็นเวลาถึงสองเดือนเศษซึ่งเป็นระยะเวลาที่นานพอสมควร จำเลยน่าที่จะติดตามและสอบถามถึงวันนัดที่จำเลยมีวันว่างเพื่อขอเลื่อนคดีเสียก่อนนั้นได้ หากจำเลยประสงค์จะซักค้านพยานโจทก์ดังอุทธรณ์ของจำเลยเสียแต่เนิ่น ๆแต่ในทางตรงกันข้ามพฤติการณ์ของจำเลยกลับปรากฏว่า จำเลยไม่เอาใจใส่และสนใจดำเนินคดีเท่าที่ควร ที่ศาลภาษีอากรกลางไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีเป็นผลมาจากความบกพร่องของจำเลยเอง และคำสั่งเช่นว่านี้เป็นดุลพินิจที่มีเหตุสมควร
พิพากษายืน

Share