แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสอง ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคแรก โจทก์ฎีกาว่า ไม่สมควรลดมาตราส่วนโทษให้จำเลย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังมาว่า ในขณะจำเลยกระทำความผิดนั้น จำเลยมิได้กระทำต่อหน้าธารกำนัล โดยจำเลยอยู่กับผู้เสียหายโดยลำพังในห้อง การกระทำของจำเลยมิได้เป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายสาหัส จึงเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัวหรือความผิดอันยอมความได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 281 และคดียังไม่ถึงที่สุด ผู้เสียหายจะถอนคำร้องทุกข์เสียก็ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายในลักษณะเป็นการโทรมหญิง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๖ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๒๕ มาตรา ๓
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยเป็นผู้กระทำชำเราผู้เสียหายเพียงคนเดียว การกระทำของจำเลยไม่เป็นการโทรมหญิง พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๖ วรรคแรก พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๒๕ มาตรา ๓ วางโทษจำคุก ๕ ปี คำเบิกความรับของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ ๑ ใน ๕ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๔ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีอายุ ๑๘ ปี ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๖ คงจำคุก ๒ ปี ๖ เดือน ลดโทษให้ ๑ ใน ๕ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๒ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาว่า ไม่สมควรลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๖
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์ โจทก์จำเลยไม่คัดค้าน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๖ วรรคแรก ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ศาลฎีกาต้องวินิจฉัย ประกอบข้อที่โจทก์ฎีกาว่าไม่สมควรลดมาตราส่วนโทษให้จำเลย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลล่างทั้งสองฟังมาว่า ในขณะที่จำเลยกระทำความผิดนั้น จำเลยมิได้กระทำต่อหน้าธารกำนัล โดยจำเลยอยู่กับผู้เสียหายโดยลำพังในห้อง การกระทำของจำเลยก็มิได้เป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายสาหัส จึงเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัวหรือความผิดอันยอมความได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๑ และคดียังไม่ถึงที่สุด ผู้เสียหายจะถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ เมื่อผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙ (๒) ให้จำหน่ายคดีเสียจาก สารบบความ