คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3900/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนแบ่งแยกและโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ย่อมมีอำนาจพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) มิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานโดยมิได้สอบถามข้อเท็จจริงใด ๆ จากคู่ความแล้วพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์จากข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำฟ้องเท่านั้น จึงเป็นคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 ซึ่งทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องมิให้ถือว่าเป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณาตามมาตรา 227 ดังนั้น แม้โจทก์จะมิได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นไว้ อุทธรณ์ของโจทก์ก็ไม่เป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้าม โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ตามมาตรา 24 วรรคท้าย ประกอบด้วยมาตรา 227
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจาก ท. โจทก์ชำระราคาและเข้าครอบครองตลอดมา แต่ ท. ยังมิได้จดทะเบียนโอนให้แก่โจทก์ ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่ง ท. และทายาทอื่นรวม 4 คน ร่วมกันรับมรดกมาจาก อ. เจ้ามรดก ต่อมา ม. ทายาทคนหนึ่งของ อ. จดทะเบียนให้จำเลยเข้าร่วมเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในส่วนของตน และที่ดินดังกล่าวได้ออกเป็นโฉนดที่ดิน ที่ดินที่จำเลยได้รับมาจากการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมนั้นรวมที่ดินพิพาทกับที่ดินอื่นอีกส่วนหนึ่งที่จำเลยได้รับสิทธิมาจาก ม. ต่อมา ท. ถึงแก่ความตาย โจทก์จึงมาฟ้องจำเลย ดังนี้ หากโจทก์ได้รับความเสียหายเพราะ ท. ไม่จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์ก็ชอบที่จะว่ากล่าวเอากับ ท. หรือทายาทของ ท. หรือหากโจทก์เห็นว่าสิทธิของโจทก์ถูกกระทบกระเทือนอันเนื่องมาจากมีการออกโฉนดที่ดินและแบ่งแยกโฉนดที่ดินทับที่ดินพิพาทที่โจทก์ครอบครองก็ชอบที่จะฟ้องผู้เกี่ยวข้องเพื่อขอให้เพิกถอนการกระทำดังกล่าว แต่โจทก์จะมาฟ้องเพื่อขอให้จดทะเบียนแบ่งแยกและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในส่วนที่เป็นที่ดินพิพาทให้แก่โจท์หาได้ไม่ เพราะจำเลยไม่มีหน้าที่ในทางนิติกรรมหรือสัญญาใด ๆ ที่จะต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้เป็นไปตามคำขอของโจทก์ได้
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายซึ่งทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 การที่โจทก์อุทธรณ์และจำเลยฎีกาต่อมาเป็นการอุทธรณ์และฎีกาตามมาตรา 227 ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียงชั้นละ 200 บาท ตามตาราง 1 ข้อ 2 ข. ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมิใช่เสียตามทุนทรัพย์ที่พิพาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินพิพาทเนื้อที่ประมาณ 1 งาน 40 ตารางวา เดิมเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 194 หมู่ที่ 3 ตำบลสามเรือน อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย เนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ 2 งาน 73 ตารางวา ซึ่งนายเอก สุขสำราญ เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง เมื่อนายเอกถึงแก่ความตาย นายเทิ้ม สุขสำราญ นายทิพย์ สุขสำราญ นางประทีป สาดเพ็ง และนางสุทิน ทองมอญ ทายาทของนายเอกตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกและต่างครอบครองทำกินในที่ดินดังกล่าวเป็นสัดส่วน โดยนายทิพย์ครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันออกและที่ดินด้านทิศตะวันตกอีกส่วนหนึ่ง เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2540 นายทิพย์ตกลงขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในราคา 25,000 บาท วันทำสัญญานายทิพย์ได้รับเงินค่าที่ดินจากโจทก์ครบถ้วนและได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้ว และตกลงจะไปจดทะเบียนโอนสิทธิในที่ดินให้แก่โจทก์หลังจากจดทะเบียนรับโอนมรดกจากนายเอก โจทก์เข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมา ต่อมาวันที่ 10 มิถุนายน 2541 นายเทิ้มในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเอกได้จดทะเบียนโอนมรดกใส่ชื่อนายเทิ้ม นายทิพย์ นางประทีป และนางสุทินเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองในที่ดินร่วมกัน โจทก์ทวงถามให้นายทิพย์จดทะเบียนโอนและแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ แต่นายทิพย์ขอผัดผ่อนเรื่อยมาจนกระทั่งถึงแก่ความตายเมื่อปี 2544 หลังจากนั้นโจทก์จึงทราบว่าในปี 2541 ทายาทของนายเอกได้นำที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวทั้งแปลงไปดำเนินการออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 21932 ตำบลสามเรือน อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย เนื้อที่ 3 ไร่ 3 งาน 29 ตารางวา ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 ซึ่งมีชื่อจำเลยเข้าถือกรรมสิทธิ์รวมด้วย และในวันที่ 21 ธันวาคม 2541 มีการจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวม ปรากฏว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 21944 ตำบลสามเรือน อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย เนื้อที่ 2 งาน 49 ตารางวา ซึ่งจำเลยได้รับมาจากการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมนั้นเป็นที่ดินพิพาทรวมกับที่ดินอีกส่วนหนึ่งที่จำเลยได้รับสิทธิมาจากนายเทิ้มเมื่อครั้งที่ดินทั้งแปลงยังมีหลักฐานเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ โจทก์จึงทวงถามให้จำเลยจดทะเบียนโอนและแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 21944 ส่วนที่เป็นที่ดินพิพาท เนื้อที่ประมาณ 1 งาน 40 ตารางวา ให้แก่โจทก์ แต่จำเลยขอผัดผ่อนแล้วในที่สุดก็เพิกเฉยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 21944 ตำบลสามเรือน อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย ให้แก่โจทก์เป็นจำนวนเนื้อที่ 1 งาน 40 ตารางวา หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า จำเลยได้รับสิทธิในที่ดินมาจากนายเทิ้ม สุขสำราญ มิใช่นายทิพย์ สุขสำราญ จำเลยจึงไม่มีนิติสัมพันธ์หรือความผูกพันตามสัญญาที่จะต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 21944 ให้แก่โจทก์ ขณะโจทก์ซื้อที่ดินจากนายทิพย์เมื่อปี 2540 นายทิพย์ยังไม่มีชื่อเป็นผู้ถือสิทธิในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ นายทิพย์เพิ่งรับโอนมรดกเมื่อปี 2541 ที่ดินที่นายทิพย์ขายให้แก่โจทก์จึงอาจเป็นคนละแปลงกัน และขณะเจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดเพื่อแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 21932 ออกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 21944 โจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้าน แสดงว่าโจทก์มิได้ครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์ไม่เคยบอกกล่าวให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 21944 ให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องและคำให้การแล้ว เห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดสืบพยาน และนัดฟังคำพิพากษา
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนแบ่งแยกและโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ได้ พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาล ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อคำพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์อุทธรณ์โดยมิได้ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอนั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษายกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนแบ่งแยกและโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ย่อมมีอำนาจพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (2) หาใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอไม่ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้นได้สอบถามข้อเท็จจริงจากคู่ความ โดยมีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินให้ทำแผนที่วิวาท เพื่อจะสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานแล้ววินิจฉัยชี้ขาดคดีโดยอาศัยข้อเท็จจริงจริงที่ได้ความ มิใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 แต่เป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณาซึ่งโจทก์มิได้โต้แย้งไว้ อุทธรณ์ของโจทก์จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 (2) นั้น เห็นว่า แม้ศาลชั้นต้นสั่งให้ทำแผนที่วิวาท แต่ศาลชั้นต้นก็มิได้สอบถามข้อเท็จจริงใด ๆ จากคู่ความดังที่โจทก์อ้างข้อเท็จจริงตามสำนวนคงปรากฏเพียงว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานแล้วพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์จากข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำฟ้องเท่านั้น จึงเป็นคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ซึ่งทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง มิให้ถือว่าเป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 227 ดังนั้น แม้โจทก์จะมิได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นไว้ อุทธรณ์ของโจทก์ก็ไม่เป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้าม โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ตามมาตรา 24 วรรคท้าย ประกอบด้วยมาตรา 227 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกและโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายฟ้องประกอบเอกสารท้ายฟ้องเป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากนายทิพย์ สุขสำราญ โจทก์ชำระราคาครบถ้วนและเข้าครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของตลอดมา แต่นายทิพย์ยังมิได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามข้อตกลง ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งนายทิพย์และทายาทอื่นรวม 4 คน ร่วมกันรับมรดกมาจากนายเอก สุขสำราญ ผู้เป็นเจ้ามรดก ต่อมานายเทิ้ม สุขสำราญ ทายาทคนหนึ่งของนายเอกจดทะเบียนให้จำเลยเข้าร่วมเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในส่วนของตน และที่ดินดังกล่าวได้ออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 21932 ก่อนที่จะมีการจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมออกเป็นโฉนดที่ดินแปลงย่อยในระหว่างผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมด้วยกัน โดยที่ดินโฉนดเลขที่ 21944 ที่จำเลยได้รับมาจากการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมนั้นรวมที่ดินพิพาทกับที่ดินอื่นอีกส่วนหนึ่งที่จำเลยได้รับสิทธิมาจากนายเทิ้ม ต่อมานายทิพย์ถึงแก่ความตายโจทก์ได้รับความเสียหายจึงมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ดังนี้ หากโจทก์ได้รับความเสียหายเพราะนายทิพย์ไม่จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์ก็ชอบที่จะว่ากล่าวเอากับนายทิพย์หรือทายาทของนายทิพย์ซึ่งต้องรับไปทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดตามสัญญาที่นายทิพย์ทำไว้กับโจทก์ หรือหากโจทก์เห็นว่าสิทธิของโจทก์ถูกกระทบกระเทือนหรือต้องเสียหายอันเนื่องมาจากมีการออกโฉนดที่ดินและแบ่งแยกโฉนดที่ดินทับที่ดินพิพาทที่โจทก์ครอบครอง ก็ชอบที่จะฟ้องผู้เกี่ยวข้องเพื่อขอให้เพิกถอนการกระทำดังกล่าว แต่โจทก์จะมาฟ้องจำเลยเพื่อขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 21944 ในส่วนที่เป็นที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์หาได้ไม่ เพราะจำเลยไม่มีหน้าที่ในทางนิติกรรมหรือสัญญาใด ๆ ที่จะต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แต่อย่างใด ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้เป็นไปตามคำขอของโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
อนึ่ง คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายซึ่งทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 การที่โจทก์อุทธรณ์และจำเลยฎีกาต่อมาเป็นการอุทธรณ์และฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 227 ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียงชั้นละ 200 บาท ตามตาราง 1 ข้อ 2 ข. ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มิใช่เสียตามทุนทรัพย์ที่พิพาท จึงเห็นควรสั่งคืนค่าขึ้นศาลที่โจทก์เสียเกินมาในชั้นอุทธรณ์และที่จำเลยเสียเกินมาในชั้นฎีกาแก่โจทก์และจำเลย”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกิน 200 บาท แก่โจทก์ และคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาท แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลนอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ.

Share