คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3251/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พลตำรวจ พ. เข้าจับกุมคนร้ายรายเดียวกับที่ ส.ต.อ. น. บิดาโจทก์ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้เป็นผู้เข้าจับกุม การกระทำของพลตำรวจ พ. จึงเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2 (16), 17 การที่พลตำรวจ พ. สำคัญผิดว่า ส.ต.อ. น. ซึ่งแต่งกายนอกเครื่องแบบ และถือปืนยืนอยู่ในที่เกิดเหตุเป็นคนร้ายและได้ใช้อาวุธปืนยิง ส.ต.อ. น. ถึงแก่ความตายถือได้ว่าพลตำรวจ พ. ใช้ปืนยิง ส.ต.อ. น. เป็นไปในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ราชการ ในฐานะเจ้าพนักงานตำรวจ เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยในฐานะเป็นกรมในรัฐบาลและเป็นเจ้าสังกัดของพลตำรวจ พ. จึงมีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าพลตำรวจพีระพงษ์ซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดของจำเลยใช้ปืนยิงสิบตำรวจเอกนัดบิดาโจทก์ถึงแก่ความตาย ในขณะที่กำลังปฏิบัติราชการ อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้บังคับจำเลยในฐานะเป็นกรมเจ้าสังกัดของพลตำรวจพีระพงษ์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า การกระทำละเมิดของพลตำรวจพีระพงษ์เกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่อของพลตำรวจพีระพงษ์เอง และมิใช่เป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่จึงไม่ผูกพัน จำเลยให้ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาปฏิเสธความรับผิดว่า พลตำรวจพีระพงษ์ใช้อาวุธปืนยิงสิบตำรวจเอกนัดเป็นการฆ่าโดยเจตนา ไม่ใช่เป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจ จำเลยจึงไม่มีหน้าที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์นั้น เห็นว่า แม้การกระทำของพลตำรวจพีระพงษ์จะเป็นความผิดในทางอาญาและศาลมณฑลทหารบกที่ ๕ (ศาลจังหวัดตรัง) ได้มีคำพิพากษาลงโทษไปแล้วก็ตาม แต่การกระทำอันเป็นความผิดของพลตำรวจพีระพงษ์ดังกล่าวก็สืบเนื่องมาจากได้มีการกระทำผิดในทางอาญาฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเกิดขึ้นก่อน และผู้บังคับบัญชาได้มีคำสั่งให้สิบตำรวจเอกนัดกับพวกร่วมกันติดตามจับกุมคนร้ายในที่เกิดเหตุเมื่อพลตำรวจพีระพงษ์ได้ทราบถึงเหตุอันเป็นความผิดในทางอาญาเกิดขึ้นซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒(๑๖) และมาตรา ๑๗ ได้บัญญัติให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานตำรวจมีสิทธิที่จะสืบสวน จับกุมปราบปรามผู้กระทำผิดได้ จึงได้เข้าร่วมทำการจับกุมคนร้ายโดยไม่จำเป็นต้องได้รับคำสั่งหรือได้รับการมอบหมายจากผู้บังคับบัญชานั้นแต่อย่างใด แต่เนื่องจากความประมาทของพลตำรวจพีระพงษ์เป็นเหตุให้สำคัญผิดคิดว่าสิบตำรวจเอกนัดซึ่งแต่งกายนอกเครื่องแบบและถืออาวุธปืนยืนอยู่ในที่เกิดเหตุนั้นเป็นคนร้ายพลตำรวจพีระพงษ์ได้ใช้อาวุธปืนที่มีติดตัวไปยิงถูกสิบตำรวจเอกนัดถึงแก่ความตายในที่เกิดเหตุนั้นเอง ต่อมาหลังจากเกิดเหตุพันตำรวจโทสุนทร ธนทวี สารวัตรใหญ่สถานีตำรวจภูธรอำเภอกันตัง พยานจำเลยซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของเจ้าพนักงานตำรวจทั้งสองดังกล่าวทำการสอบสวนเรื่องราวที่เกิดขึ้นแล้ว มีความเห็นว่าเป็นการกระทำไปในขณะปฏิบัติหน้าที่ราชการจึงได้ทำสำนวนสอบสวนเป็นคดีวิสามัญฆาตกรรมเสนอต่ออธิบดีกรมอัยการเพื่อดำเนินการต่อไป ดังนี้ จากข้อเท็จจริงตามที่ได้ความดังกล่าว จึงถือได้ว่าการที่พลตำรวจพีระพงษ์ใช้อาวุธปืนยิงสิบตำรวจเอกนัดถึงแก่ความตายเป็นไปในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ราชการในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหาย จำเลยในฐานะเป็นกรมตำรวจในรัฐบาลและเป็นเจ้าสังกัดของพลตำรวจพีระพงษ์ผู้กระทำละเมิดในขณะปฏิบัติราชการตามหน้าที่ จึงมีหน้าที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสามตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๖
พิพากษายืน

Share