คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 39/2543

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

กรณีที่คู่ความจะมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 207 ซึ่งนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่กระบวนพิจารณาคดีล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 จะต้องเป็นคู่ความซึ่งศาลแสดงว่า ขาดนัดพิจารณาและมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แพ้คดีในประเด็นที่พิพาท
ฎีกาจำเลยที่ขอให้ไต่สวนคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ พอถือได้ว่าจำเลยมุ่งหมายจะให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีแล้วให้จำเลยนำพยานเข้าสืบตามที่จำเลยได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นไว้จึงต้องพิจารณาว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีและงดสืบพยานจำเลยชอบด้วยกระบวนพิจารณาหรือไม่
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 40 วรรคหนึ่งซึ่งนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่กระบวนพิจารณาคดีล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 ซึ่งใช้บังคับในขณะที่จำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี มีเจตนารมณ์จะให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ชักช้า การเลื่อนคดีก็อนุญาตให้เลื่อนได้เพียง ครั้งเดียว คู่ความที่ได้รับอนุญาตให้เลื่อนคดีไปแล้วจะขอเลื่อนคดีอีกได้ก็ต่อเมื่อเข้าข้อยกเว้นตามที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติดังกล่าว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาด และพิพากษาให้จำเลยทั้งสองล้มละลาย จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การต่อสู้คดีศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์เสร็จแล้วนัดสืบพยานจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีติดต่อกันหลายนัด ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยทั้งสองประวิงคดี ให้งดสืบพยานจำเลยทั้งสอง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14

จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องว่า จำเลยทั้งสองมีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้โจทก์ได้ ขอให้ไต่สวนคำร้องและให้พิจารณาใหม่

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าไม่มีเหตุไต่สวนคำร้องหรือพิจารณาใหม่ยกคำร้อง

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสองว่า มีเหตุสมควรไต่สวนคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า กรณีที่คู่ความจะมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 207 ซึ่งนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่กระบวนพิจารณาคดีล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 นั้น จะต้องเป็นคู่ความซึ่งศาลแสดงว่าขาดนัดพิจารณา และมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แพ้คดีในประเด็นที่พิพาทแต่คดีนี้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์เสร็จแล้วนัดสืบพยานจำเลยทั้งสองจำเลยทั้งสองขอเลื่อนคดีหลายนัด นัดสุดท้ายศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยทั้งสองประวิงคดีจึงไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี และให้งดสืบพยานจำเลยทั้งสองกรณีไม่ใช่เรื่องศาลสั่งว่าจำเลยทั้งสองขาดนัดพิจารณา จำเลยทั้งสองจะขอให้พิจารณาใหม่ตามบทกฎหมายดังกล่าวไม่ได้ แต่เมื่อพิจารณาจากฎีกาจำเลยทั้งสองที่ขอให้ไต่สวนคำร้องขอให้พิจารณาแล้วพอจะถือได้ว่าจำเลยทั้งสองมุ่งหมายจะให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองเลื่อนคดีแล้วให้จำเลยทั้งสองนำพยานเข้าสืบตามที่จำเลยทั้งสองได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นไว้ จึงต้องพิจารณาว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองเลื่อนคดีและงดสืบพยานจำเลยทั้งสองชอบด้วยกระบวนพิจารณาหรือไม่ ในเรื่องนี้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 40วรรคหนึ่ง ซึ่งนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่กระบวนพิจารณาคดีล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 ซึ่งใช้บังคับในขณะที่จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี บัญญัติว่า “เมื่อศาลได้กำหนดวันนั่งพิจารณาและแจ้งให้คู่ความทราบแล้ว ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีเหตุจำเป็นที่จะต้องขอเลื่อนการนั่งพิจารณาต่อไป โดยเสนอคำขอในวันนั้นหรือก่อนวันนั้นศาลจะสั่งให้เลื่อนต่อไปก็ได้ แต่เมื่อศาลได้สั่งให้เลื่อนไปแล้ว คู่ความฝ่ายนั้นจะขอเลื่อนการนั่งพิจารณาอีกไม่ได้เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้และคู่ความฝ่ายที่ขอเลื่อนแสดงให้เป็นที่พอใจของศาลได้ว่าถ้าศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนต่อไปอีกจะทำให้เสียความยุติธรรมก็ให้ศาลสั่งให้เลื่อนคดีต่อไปได้เท่าที่จำเป็นแม้จะเกินกว่าหนึ่งครั้ง” บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมีเจตนารมณ์จะให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ชักช้า การเลื่อนคดีก็อนุญาตให้เลื่อนได้เพียงครั้งเดียว คู่ความที่ได้รับอนุญาตให้เลื่อนคดีไปแล้วจะขอเลื่อนคดีอีกได้ก็ต่อเมื่อเข้าข้อยกเว้นตามที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติดังกล่าวการขอเลื่อนคดีนัดที่เป็นปัญหานี้ คือ นัดวันที่ 30 ตุลาคม 2540มิใช่การขอเลื่อนคดีครั้งแรกของจำเลยทั้งสอง เพราะก่อนหน้านี้จำเลยทั้งสองเคยได้รับอนุญาตให้เลื่อนคดีมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 6สิงหาคม 2540 จำเลยทั้งสองขอเลื่อนคดีโดยอ้างว่า จำเลยที่ 2 ติดธุระสำคัญที่กรุงเทพมหานครมาเบิกความเป็นพยานไม่ได้ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 2กันยายน 2540 จำเลยทั้งสองขอเลื่อนคดีโดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 ป่วยมีอาการท้องร่วงไม่สามารถมาเบิกความเป็นพยานได้ การเลื่อนคดีนัดที่เป็นปัญหาเป็นการขอเลื่อนคดีครั้งที่ 3 โดยปกติจำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิขอเลื่อนคดีได้อีก ที่จำเลยทั้งสองขอเลื่อนคดีในนัดนี้โดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 ป่วยมีอาการท้องร่วงเช่นเดียวกับครั้งที่ 2 แม้จะมีใบรับรองแพทย์และท้ายคำร้องจะระบุว่า “เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ขอศาลได้โปรดอนุญาต” คำร้องขอเลื่อนคดีของจำเลยทั้งสองเช่นนี้ มิได้แสดงให้เป็นที่พอใจของศาลได้ว่าถ้าศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีต่อไปอีกจะทำให้เสียความยุติธรรม จึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นดังกล่าวข้างต้นนอกจากนี้ในการเลื่อนคดีครั้งที่ 1 และที่ 2 ศาลชั้นต้นได้กำชับทนายความจำเลยทั้งสองว่าหากจำเลยทั้งสองขอเลื่อนคดีอีกไม่ว่าด้วยเหตุใด จะถือว่าจำเลยทั้งสองประวิงคดีและจะงดสืบพยานจำเลยทั้งสอง แต่จำเลยทั้งสองก็หาได้นำพาไม่แม้จำเลยทั้งสองจะอ้างว่า จำเลยที่ 2 ป่วยมีอาการท้องร่วงไม่สามารถมาศาลได้ แต่จำเลยทั้งสองก็ไม่ได้นำพยานอื่นมาศาล ทั้งที่ตามบัญชีพยานจำเลยทั้งสองระบุพยานนำไว้หลายปาก พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองส่อถึงความไม่เอาใจใส่หรือไม่ให้ความสำคัญแก่คดีของจำเลยทั้งสองเท่าที่ควรถือได้ว่าจำเลยทั้งสองประวิงคดี ที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองเลื่อนคดีและให้งดสืบพยานจำเลยทั้งสอง จึงชอบด้วยกระบวนพิจารณา”

พิพากษายืน

Share