แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฎีกาขอให้พิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่คำฟ้องของโจทก์ที่ขอให้พิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา โดยผู้ร้องเป็นผู้ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 และค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิตดังกล่าว มิใช่ทรัพย์สินหรือราคาทรัพย์สินที่ผู้เสียหายสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำความผิดในคดีลักทรัพย์ วิ่งราว ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ โจรสลัด กรรโชก ฉ้อโกง ยักยอกหรือรับของโจร ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 โจทก์จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้บังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้อง โจทก์ไม่มีสิทธิฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 78, 157, 160
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางสาวสุพรรณี บุตรสาวของนายสุนทร ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โดยเรียกค่าฌาปนกิจศพเป็นเงิน100,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะ 50,000 บาท รวมเป็นเงิน 150,000 บาท
จำเลยไม่ให้การในคดีส่วนแพ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 78 วรรคหนึ่ง, 157, 160 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 และความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 ปี ฐานหลบหนีไม่หยุดช่วยเหลือหรือแจ้งเหตุให้เจ้าหน้าที่ที่อยู่ใกล้เคียงทราบเหตุในทันที จำคุก 2 เดือน รวมจำคุก 6 ปี 2 เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี 6 เดือน 45 วัน และให้จำเลยจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องเป็นเงิน 70,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ และยกคำร้องของผู้ร้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ขณะที่จำเลยขับรถแล่นทับผู้ตาย ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีเพียงนายธีระวัฒน์มาเบิกความว่าก่อนที่จำเลยจะขับรถมาทับร่างของผู้ตาย เห็นผู้ตายยังคงหายใจ แต่นายธีระวัฒน์เบิกความว่าเมื่อรถยนต์กระบะเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ของผู้ตายแล้วหลบหนีไปพยานจึงจอดรถจักรยานยนต์แล้วเข้าไปดูเพื่อช่วยเหลือผู้ตายเห็นที่ศีรษะของผู้ตายแตกและผู้ตายยังคงหายใจแรง ๆ ขณะที่นายธีระวัฒน์เห็นผู้ตายหายใจจึงเป็นเวลาภายหลังเกิดเหตุใหม่ ๆ ซึ่งต่อมาได้มีผู้เข้ามาช่วยเหลือจัดการป้องกันสถานที่เกิดเหตุอย่างน้อยสองคน โดยมีการนำกิ่งไม้ไปวางและโบกมือห้ามรถมิให้แล่นไปในช่องเดินรถที่ผู้ตายนอนอยู่ ซึ่งตามคำเบิกความของนายสุนทวีพยานโจทก์ต้องเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าสิบนาที โดยในระยะเวลาดังกล่าว โจทก์ไม่มีพยานมาสืบให้เห็นว่าผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ก่อนที่จำเลยจะขับรถเข้ามาทับร่างของผู้ตาย ผู้ตายถูกรถยนต์กระบะแล่นมาเฉี่ยวชนจนรถจักรยานยนต์ของผู้ตายล้ม ส่วนผู้ตายตกจากรถนอนคว่ำศีรษะแตก แสดงว่าผู้ตายถูกชนแล้วตกจากรถศีรษะกระแทกพื้นถนนโดยแรง บาดแผลที่ได้รับดังกล่าวถือว่าเป็นบาดแผลฉกรรจ์ แม้ผู้ตายจะไม่ถึงแก่ความตายในทันที แต่ก็อาจถึงแก่ความตายต่อมาในเวลาไม่กี่นาทีก่อนที่จำเลยจะขับรถแล่นมาทับก็ได้ พยานหลักฐานที่โจทก์นำมาสืบยังไม่อาจรับฟังโดยปราศจากสงสัยว่า ขณะที่ถูกจำเลยขับรถทับนั้นผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ กรณีมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยได้กระทำผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการที่สองว่า จำเลยขับรถโดยประมาทอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4) หรือไม่ เห็นว่า แม้ถนนที่เกิดเหตุเป็นทางตรงและแบ่งช่องเดินรถเป็นฝั่งละ 2 ช่องก็ตาม แต่ขณะเกิดเหตุเป็นเวลาค่ำ และมีผู้นำกิ่งไม้ไปวางที่ถนนเพื่อเป็นสัญญาณให้คนขับรถเห็น โดยมีนายสุนทวีไปยืนร้องตะโกนและโบกมือให้สัญญาณให้รถที่แล่นผ่านมาชะลอความเร็ว การที่จำเลยขับรถมาด้วยความเร็วสูง เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุไม่ห้ามล้อแต่อย่างใด กลับหักหลบไปทางขวา แล้วทับร่างของผู้ตาย เป็นการขับรถด้วยความเร็วสูง จึงเป็นการขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว อันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4) ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการสุดท้ายว่า จำเลยหลบหนีโดยไม่หยุดช่วยเหลือผู้ตายหรือแจ้งเหตุให้เจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทราบเหตุทันทีหรือไม่ เห็นว่า ฎีกาดังกล่าวไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่าไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนอย่างไร ที่ถูกแล้วศาลอุทธรณ์ภาค 3 ควรวินิจฉัยอย่างไร จึงเป็นฎีกาไม่ชัดแจ้ง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 ลงโทษปรับ 1,000 บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3