แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จะถือว่าข้าราชการพลเรือนสามัญออกจากราชการต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 มาตรา 112 เท่านั้น การที่จำเลยโอนจากการเป็นข้าราชการพลเรือนไปเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าว นอกจากนี้ การโอนไปเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นของจำเลยยังคงนับอายุราชการต่อเนื่อง จำเลยไม่อาจขอสละสิทธิที่จะไม่นับอายุราชการต่อเนื่องเพื่อขอรับเงินบำเหน็จได้ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ออกจากราชการ แม้ตาม พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 มาตรา 44 จะบัญญัติให้สมาชิกภาพของสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญสิ้นสุดลงเมื่อผู้นั้นออกจากราชการ และมาตรา 45 จะบัญญัติให้สมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการมีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญ ฯ เมื่อสมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลง และตามมาตรา 3 (เดิม) จะมิได้บัญญัติให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นอยู่ในบทนิยามของคำว่า “ข้าราชการ” อันจะเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการได้ก็ตาม แต่กรณีดังกล่าวคงมีผลเพียงทำให้สมาชิกภาพของสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการของจำเลยสิ้นสุดลงอันจะมีสิทธิได้รับเงินสะสม เงินสมทบ เงินประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ตอบแทนเงินดังกล่าวซึ่งเป็นเงินที่จ่ายจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 มาตรา 37 เท่านั้น หาได้มีผลทำให้สถานะความเป็นข้าราชการของจำเลยสิ้นสุดลงอันจะทำให้มีสิทธิที่จะได้รับบำเหน็จที่จะต้องจ่ายจากเงินงบประมาณด้วยไม่ แม้โจทก์ทั้งสองจะจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่จำเลยแล้ว แต่เมื่อจำเลยยังไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยคืนเงินบำเหน็จพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดได้
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 318,317.39 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 298,364.29 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับว่า ให้จำเลยคืนเงิน 298,364.29 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 เมษายน 2546 ซึ่งเป็นวันผิดนัดไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกมีว่า โจทก์ที่ 2 มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเงินบำเหน็จเพียงผู้เดียว โจทก์ที่ 2 เป็นเพียงผู้ปฏิบัติตามคำสั่งของโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 มิได้ถูกโต้แย้งสิทธิ จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า แม้โจทก์ที่ 1 จะเป็นผู้มีอำนาจในการสั่งจ่ายเงินบำเหน็จ แต่เงินดังกล่าวมิใช่เป็นของโจทก์ที่ 1 หากแต่เป็นเงินงบประมาณแผ่นดินที่โจทก์ที่ 2 ในฐานะส่วนราชการต้นสังกัดของจำเลยมีหน้าที่ต้องดูแลร่วมกับโจทก์ที่ 1 ให้ส่วนราชการของตนเบิกจ่ายโดยถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของทางราชการ เมื่อโจทก์ที่ 1 ตรวจสอบพบว่าการจ่ายเงินบำเหน็จให้จำเลยไม่ถูกต้อง โจทก์ทั้งสองย่อมมีอำนาจร่วมกันที่จะติดตามเรียกเงินบำเหน็จคืนจากจำเลยแทนแผ่นดินหรือรัฐได้ โจทก์ที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 2 มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปมีว่า จำเลยต้องคืนเงินบำเหน็จแก่โจทก์ทั้งสองตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เดิมจำเลยเป็นข้าราชการพลเรือน สิทธิในการรับบำเหน็จบำนาญย่อมเป็นไปตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาตรา 6 ซึ่งบัญญัติให้จ่ายบำเหน็จหรือบำนาญเมื่อข้าราชการผู้นั้นออกจากราชการ และการที่จะถือว่าเป็นการออกจากราชการต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 มาตรา 112 ซึ่งบัญญัติให้ข้าราชการพลเรือนสามัญออกจากราชการเมื่อ (1) ตาย (2) พ้นจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (3) ลาออก (4) ถูกสั่งให้ออก หรือ (5) ถูกสั่งลงโทษปลดออก หรือไล่ออก เท่านั้น การที่จำเลยโอนจากการเป็นข้าราชการพลเรือนไปเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าว นอกจากนี้ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2500 มาตรา 30 วรรคห้า ยังบัญญัติให้การโอนข้าราชการไปรับราชการส่วนท้องถิ่นให้นับเวลาราชการของข้าราชการผู้นั้นสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญติดต่อกัน ดังนั้น การโอนไปเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นของจำเลยจึงยังคงนับอายุราชการต่อเนื่อง จำเลยไม่อาจขอสละสิทธิที่จะไม่นับอายุราชการต่อเนื่องเพื่อขอรับเงินบำเหน็จได้ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ออกจากราชการอันจะมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ แม้ตามพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2534 มาตรา 44 จะบัญญัติให้สมาชิกภาพของสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญสิ้นสุดลงเมื่อผู้นั้นออกจากราชการ และมาตรา 45 จะบัญญัติให้สมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการมีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญ เงินสะสม เงินสมทบ เงินประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ตอบแทนเงินดังกล่าวเมื่อสมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลง และตามพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 มาตรา 3 (เดิม) จะมิได้บัญญัติให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นอยู่ในบทนิยามของคำว่า “ข้าราชการ” อันจะเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการได้ก็ตาม แต่กรณีดังกล่าวคงมีผลเพียงทำให้สมาชิกภาพของสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการของจำเลยสิ้นสุดลงอันจะมีสิทธิได้รับเงินสะสม เงินสมทบ เงินประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ตอบแทนเงินดังกล่าวซึ่งเป็นเงินที่จ่ายจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 มาตรา 37 เท่านั้น หาได้มีผลทำให้สถานะความเป็นข้าราชการของจำเลยสิ้นสุดลงอันจะทำให้มีสิทธิที่จะได้รับบำเหน็จที่จะต้องจ่ายจากเงินงบประมาณด้วยไม่ แม้โจทก์ทั้งสองจะจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่จำเลยแล้ว แต่เมื่อจำเลยยังไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยคืนเงินบำเหน็จพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้จำเลยคืนเงินบำเหน็จพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสองนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น สำหรับฎีกาของจำเลยที่ว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสองขาดอายุความและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ได้วินิจฉัยให้นั้น เห็นว่า จำเลยให้การเพียงว่า คดีโจทก์ทั้งสองขาดอายุความที่ต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 โดยมิได้กล่าวถึงเหตุแห่งการขาดอายุความให้ปรากฏว่าคดีโจทก์ขาดอายุความเมื่อใด นับแต่วันใดถึงวันฟ้องคดีขาดอายุความไปแล้ว เป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่วินิจฉัยให้ชอบแล้ว ส่วนฎีกาของจำเลยข้ออื่นนั้นล้วนไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยและเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้เช่นกัน
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 6 เมษายน 2546 ซึ่งเป็นวันผิดนัดไปจนกว่าจะชำระเสร็จโดยมิได้ระบุว่าดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 19,953.10บาท ตามที่โจทก์ทั้งสองขอนั้น อาจทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับดอกเบี้ยเกินไปกว่าคำขอ จึงเห็นสมควรระบุข้อความดังกล่าวไว้ด้วย และเนื่องจากคดีนี้มีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกา 318,317.39 บาท จำเลยต้องเสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกา 7,957.50 บาท แต่จำเลยเสียค่าขึ้นศาลมา 10,150 บาท จึงเสียค่าขึ้นศาลเกินมา 2,192.50 บาท เห็นสมควรคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินให้แก่จำเลย
พิพากษาแก้เป็นว่า ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2547) ต้องไม่เกิน 19,953.10 บาท ตามที่โจทก์ทั้งสองขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่เสียเกินมา 2,192.50 บาท แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ