แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยกระทำความผิดฐานยักยอก จำเลยไม่ฎีกาแต่ยื่นคำแก้ฎีกาทำนองว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดฐานยักยอกอันเป็นการขอให้ศาลฎีกาเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งต้องกระทำโดยยื่นเป็นคำฟ้องฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์มิใช่ขอมาในคำแก้ฎีกา จึงไม่เป็นประเด็นที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยให้ การกระทำความผิดฐานยักยอกของจำเลยจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ปัญหาว่าคดีขาดอายุความหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 แต่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัยข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้น หากจำเลยประสงค์จะต่อสู้คดีว่าโจทก์มิได้ฟ้องคดีนี้ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว จำเลยต้องซักค้านพยานโจทก์ที่นำสืบในชั้นพิจารณาให้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์รู้เรื่องความผิดคดีนี้และรู้ตัวว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดเมื่อไร แต่จำเลยไม่ได้ซักค้านพยานโจทก์ดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงยังไม่อาจฟังยุติตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยได้ แต่จากคำเบิกความของ ห. ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ประกอบกับรายงานการตรวจสอบของ บ. ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบภายในของบริษัทโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2554 การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2554 จึงเป็นการฟ้องภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก จำคุก 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำความผิดฐานยักยอก จำเลยไม่ฎีกา แต่ยื่นคำแก้ฎีกาทำนองว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดฐานยักยอก อันเป็นการขอให้ศาลฎีกาเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งต้องกระทำโดยยื่นเป็นคำฟ้องฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์มิใช่ขอมาในคำแก้ฎีกา จึงไม่เป็นประเด็นที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยให้ การกระทำความผิดฐานยักยอกของจำเลยจึงยุติไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ เห็นว่า แม้ปัญหาว่าคดีขาดอายุความหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ซึ่งจำเลยมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ก็ตาม แต่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้น ดังนี้ หากจำเลยประสงค์ที่จะต่อสู้คดีว่าโจทก์มิได้ฟ้องคดีนี้ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว จำเลยต้องซักค้านพยานโจทก์ที่นำสืบในชั้นพิจารณาให้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์รู้เรื่องความผิดคดีนี้และรู้ตัวว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดเมื่อไร แต่จำเลยไม่ได้ซักค้านพยานโจทก์ให้ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว กลับได้ความจากคำเบิกความของนายหาญ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ในช่วงเกิดเหตุนอกจากจะมีจำเลยเป็นกรรมการของโจทก์แล้วยังมีพยาน นางสาวมณฑนา และนางสาวปริญณี เป็นกรรมการของโจทก์ด้วย กรรมการของโจทก์ทั้งสี่คนมีอำนาจที่จะตรวจสอบบัญชีของโจทก์ได้ตลอดเวลาและยังต้องตรวจสอบในการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งกันและกันด้วย ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1168 ดังนั้น ด้วยอำนาจและหน้าที่ของกรรมการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เชื่อว่านายหาญ นางสาวมณฑนา และนางสาวปริญณี หรือคนใดคนหนึ่งต้องใช้ความเอื้อเฟื้อสอดส่องด้วยความระมัดระวังในกิจการของบริษัทโดยเฉพาะบรรดาสมุดบัญชีและเอกสารเกี่ยวกับการเงินเพราะเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อนับแต่วันเกิดเหตุจนถึงวันที่ 21 มีนาคม 2554 ที่โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบว่าเป็นวันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเป็นระยะเวลานานร่วมสองปี การเป็นกรรมการบริหารบริษัทอย่างน้อยต้องตรวจสอบบัญชีการเงินของบริษัททุกๆ เดือน เดือนละหนึ่งครั้งเป็นอย่างน้อยเพื่อจะได้ทราบว่าการดำเนินการของบริษัทเป็นอย่างไร สถานะทางการเงินเป็นอย่างไร เป็นต้น เมื่อมีการตรวจสอบก็ต้องพบการกระทำผิดของจำเลยเป็นแน่แท้ เชื่อว่ากรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ทราบเรื่องการกระทำความผิดของจำเลยอย่างช้าที่สุดในวันที่นายบุญชัย ผู้ตรวจสอบภายในทำรายงานผลการตรวจสอบภายในให้ประธานและคณะกรรมการของโจทก์ทราบเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2554 เป็นการวินิจฉัยโดยคาดเดาเองจากข้อเท็จจริงที่ได้มาจากคำเบิกความของนายหาญและตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1168 บัญญัติไว้ ทั้งได้ความจากคำเบิกความของนายบุญชัยว่า เมื่อทราบข้อพิรุธจากเอกสารที่ตรวจสอบแล้ว จึงทำรายงานให้กรรมการอื่นของโจทก์ทราบ ซึ่งรายงานดังกล่าวทำขึ้นเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2554 เมื่อนายบุญชัยทำรายงานในวันดังกล่าวและต้องส่งให้แก่กรรมการโจทก์ ดังนี้ ข้อเท็จจริงจึงยังไม่อาจฟังยุติตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยได้ว่าโจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดคดีนี้เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2554 เมื่อจำเลยไม่ได้ซักค้านพยานโจทก์ให้ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดเมื่อใด ทั้งนายหาญเบิกความว่า โจทก์ทราบการกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเมื่อประมาณปลายเดือนมีนาคม 2554 ดังกล่าวข้างต้น ประกอบกับข้อเท็จจริงตามฟ้องระบุว่า โจทก์ทราบการกระทำความผิดและทราบตัวผู้กระทำความผิดเมื่อประมาณวันที่ 21 มีนาคม 2554 จากรายงานการตรวจสอบของนายบุญชัยซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบภายใน ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2554 การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2554 จึงเป็นการฟ้องภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติดังวินิจฉัยข้างต้นว่าจำเลยกระทำความผิดฐานยักยอกแล้ว จำเลยจึงมีความผิดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น