คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3887/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมในคดีซึ่งพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลย ในข้อหาปลอมและใช้เอกสารปลอม เมื่อเอกสารที่ฟ้องไม่ใช่เอกสารปลอม ฟ้องดังกล่าวจึงเป็นเท็จ จำเลยย่อมมีความผิดฐานเอาความอันเป็นเท็จฟ้องโจทก์ต่อศาลว่ากระทำผิดอาญา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเจ็ดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137, 175, 177, 180, 83, 91 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 2 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง จำเลยทั้งเจ็ดให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 175 และ 177 ฐานแจ้งความเท็จจำคุก 2 เดือน ฐานฟ้องเท็จ จำคุก 1 ปี ฐานเบิกความเท็จ จำคุก1 ปี รวมจำคุก 2 ปี 2 เดือน จำเลยที่ 2 ที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 จำคุก คนละ 1 ปี จำเลยที่ 2 ที่ 3รับราชการครู ไม่ปรากฏว่าเคยกระทำความผิดมาก่อนเห็นควรให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกสำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้รอการลงโทษมีกำหนดคนละ 2 ปี ส่วนจำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ให้ยกฟ้อง โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ด้วย นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นคดีแพ่ง เรื่องกู้ยืมและค้ำประกัน โดยฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ไป 90,000 บาทมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6คดีถึงที่สุดแล้ว โดยศาลฎีกาพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์90,000 บาท มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันตามเอกสารหมายจ.5 และ จ.6 จริง ปรากฏตามคดีหมายเลขแดงที่ 420/2524 ของศาลชั้นต้นและพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลย ข้อหาปลอมและใช้เอกสารปลอม มีจำเลยที่ 1 ในคดีนี้เข้าเป็นโจทก์ร่วมโดยกล่าวหาว่าโจทก์ในคดีนี้ปลอมสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันเอกสารจ.5 และ จ.6 และใช้เอกสารปลอมดังกล่าวคดีถึงที่สุดแล้ว ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโดยฟังว่าสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5และ จ.6 ไม่ใช่เอกสารปลอม ปรากฏตามคดีหมายเลขแดงที่ 1183/2524ของศาลชั้นต้น โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยกล่าวหาว่า จำเลยที่ 1 แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าโจทก์ปลอมสัญญากู้และสัญญาค้ำประกัน เอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 และการที่จำเลยที่ 1 เข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการในคดีหมายเลขแดงที่ 1183/2524 ของศาลชั้นต้นกับการที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เข้าเบิกความในคดีดังกล่าวซึ่งความจริง เอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 ไม่ปลอม เป็นการกระทำความผิดฐานแจ้งความเท็จ ฟ้องเท็จ และเบิกความเท็จข้อที่ต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกามีว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3มีความผิดในข้อหาดังกล่าวหรือไม่ ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า สัญญากู้และสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 เป็นเอกสารที่โจทก์ทำปลอมขึ้นหรือไม่ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3รับว่า จำเลยที่ 1 ลงชื่อในสัญญากู้เอกสารหมาย จ.5 ในฐานะผู้กู้ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงชื่อในสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.6ในฐานะผู้ค้ำประกันการกู้จริง แต่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ต่อสู้ว่าการกู้ครั้งนี้เป็นการกู้เงินเพียง 20,000 บาท และขณะที่ลงชื่อนั้นสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันดังกล่าวยังไม่มีการกรอกข้อความใด ๆโจทก์นำไปกรอกข้อความเอาเองในภายหลังและกรอกเงินกู้เป็น90,000 บาท ซึ่งไม่ตรงต่อความเป็นจริง เห็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 3 เป็นผู้ที่มีความรู้ย่อมมีความรับผิดชอบสูง ประกอบทั้งตำแหน่งหน้าที่การงานรับราชการเป็นครูย่อมมีความรอบคอบกล่าวคือจำเลยที่ 1 เป็นครูระดับ 4 จำเลยที่ 2 เป็นถึงอาจารย์ใหญ่ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ย่อมทราบดีว่าการลงชื่อในสัญญาซึ่งยังไม่ได้กรอกข้อความนั้น อาจจะต้องรับผิดชอบสูงกว่าความเป็นจริง เพราะโจทก์สามารถที่จะกรอกข้อความอย่างไรก็ได้ดังนั้นจึงไม่เชื่อว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จะยอมลงชื่อในสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 โดยยังมิได้กรอกข้อความใด ๆ ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อ้างว่าโจทก์สาบานต่อหน้าพระว่าจะไม่โกงนั้น ไม่ใช่เหตุผลที่เพียงพอที่จะทำให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ต้องเสี่ยงและเชื่อจนลงชื่อในสัญญาดังกล่าว คดีฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์กรอกข้อความในสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 และจ.6 จนเรียบร้อยแล้ว จึงให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ลงชื่อในช่องผู้กู้และผู้ค้ำประกัน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้แจ้งความต่อร้อยตำรวจเอกชุมพล พวงประดับ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองอุดรธานีว่าโจทก์ปลอมเอกสารสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นเหตุให้โจทก์ถูกจับกุม เมื่อศาลได้วินิจฉัยแล้วว่าเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 ไม่ใช่เอกสารปลอม จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานทำให้โจทก์เสียหายและการที่จำเลยที่ 1 เข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 922/2523 หมายเลขแดงที่ 1183/2524 ของศาลชั้นต้นซึ่งพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลยในข้อหาปลอมและใช้เอกสารปลอม โดยบรรยายฟ้องว่าโจทก์คดีนี้ปลอมเอกสารหมาย จ.5และ จ.6 เมื่อเอกสารดังกล่าวไม่ใช่เอกสารปลอม ฟ้องดังกล่าวจึงเป็นเท็จ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานเอาความอันเป็นเท็จฟ้องโจทก์ต่อศาลว่ากระทำผิดอาญา และการที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3เข้าเบิกความในคดีอาญาดังกล่าวว่าขณะที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ลงชื่อในสัญญากู้ และสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 และจ.6 นั้น เอกสารดังกล่าวยังไม่มีการกรอกข้อความใด ๆ และเป็นการกู้และค้ำประกันเงิน 20,000 บาท ไม่ใช่ 90,000 บาท โจทก์มาเติมข้อความภายหลัง เช่นนี้ จึงเป็นการเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญาต่อศาล และความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จึงมีความผิดฐานเบิกความเท็จ”
พิพากษากลับว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137, 175 และ 177 วรรคสอง ให้ลงโทษตามมาตรา 137 จำคุกมีกำหนด 2 เดือน มาตรา 175 จำคุกมีกำหนด 6 เดือนและมาตรา 177 วรรคสอง จำคุกมีกำหนด 1 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด1 ปี 8 เดือน จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 177 วรรคสอง จำคุกคนละ 1 ปี จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3เป็นหญิงรับราชการเป็นครู ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน สมควรให้โอกาสแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 2 ปี.

Share