แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 บัญญัติให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจตามควรแก่เหตุการณ์ที่จะลงโทษเรียงกระทงความผิดหรือจะลงโทษเฉพาะกระทงที่หนักที่สุดก็ได้ เมื่อความผิดของจำเลยแต่ละกระทงมีโทษหนักเท่ากัน ศาลก็ย่อมลงโทษจำเลยกระทงหนึ่งกระทงใดแต่กระทงเดียวได้ (อ้างฎีกาที่ 167/2507)
จำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามมาตรา 340 ในระหว่างที่ต้องรับโทษอยู่ จำเลยได้กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามมาตรา 295 อีก ดังนี้ความผิดฐานปล้นทรัพย์กับความผิดฐานทำร้ายร่างกายเป็นความผิดคนละฐาน คนละข้อความตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 92 กรณีไม่ใช่กระทำผิดซ้ำในอนุมาตราเดียวกัน จะเพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตามมาตรา 92 ไม่ได้
โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยต่อจากคดีอีกคดีหนึ่ง แต่คดีนั้นศาลยังมิได้พิพากษาลงโทษจำเลย ศาลย่อมไม่นับโทษต่อให้ เพราะยังไม่มีโทษที่จะนับต่อให้
เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยแล้ว จำเลยมิได้อุทธรณ์คงอุทธรณ์แต่โจทก์ฝ่ายเดียว เฉพาะในเรื่องขอให้เรียงกระทงลงโทษและเพิ่มโทษจำเลยบางคนกับนับโทษจำเลยต่อจากคดีอีกคดีหนึ่งเท่านั้น ศาลอุทธรณ์คงพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ดังนี้ จำเลยจะรื้อฟื้นฎีกาขอให้ลดหย่อนผ่อนโทษในชั้นฎีกาไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดหลายกระทง คือ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2505 เวลากลางวัน จำเลยกับพวกได้ร่วมกันทำร้ายนายสำราญจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย และในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2505 เวลากลางวัน จำเลยกับพวกได้ร่วมกันทำร้ายนายสำราญซ้ำเติมจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายอีก จำเลยทั้ง 4 กระทำผิดในระหว่างที่จำเลยที่ 2 ต้องจำคุกฐานลักทรัพย์อยู่ในคดีแดงที่ 335/2505 ของศาลจังหวัดระนอง จำเลยนอกนั้นต้องจำคุกอยู่ในฐานปล้นทรัพย์ในคดีแดงที่ 85/2503 ของศาลมณฑลทหารบกที่ 5 (ศาลจังหวัดระนอง) ขอให้ลงโทษและเพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 92, 93 และขอให้นับโทษจำเลยต่อจากคดีแดงดังกล่าวโดยเฉพาะจำเลยที่ 1 โจทก์ขอให้นับต่อจากคดีแดงที่ 226/2506 ของศาลจังหวัดระนองซึ่งอยู่ในระหว่างพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ กับคดีแดงที่ 31/2506 ของศาลมณฑลทหารบกที่ 5 (ศาลจังหวัดระนอง) ซึ่งเด็ดขาดแล้วอีกต่างหากด้วย
จำเลยให้การต่อสู้คดีและรับว่ากำลังถูกจำคุกอยู่ในคดีตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 เพิ่มโทษ 1 ใน 3 ตามมาตรา 92 โทษจำคุกจำเลยที่ 1 นับต่อจากคดีแดงที่ 85/2503 และคดีแดงที่ 31/2506 โทษจำคุกจำเลยที่ 2 นับต่อจากคดีแดงที่ 335/2505 โทษจำคุกจำเลยที่ 3 ที่ 4 นับต่อจากคดีแดงที่ 85/2503 ที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษตามมาตรา 93 ให้ยกเสีย
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยเรียงกระทงและเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93กับขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากคดีแดงที่ 226/2506 ด้วย
ศาลอุทธรณ์คงพิพากษายืน
โจทก์ฎีกาต่อมาทั้ง 3 ข้อ
จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้ลดหย่อนผ่อนโทษ
ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 โดยเห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยแล้ว จำเลยทั้งหมดมิได้อุทธรณ์คงอุทธรณ์แต่โจทก์ฝ่ายเดียวเฉพาะในเรื่องขอให้เรียงกระทงลงโทษและเพิ่มโทษจำเลยบางคน กับนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากคดีแดงที่ 226/2506 เท่านั้น ปัญหาอื่นนอกจากที่โจทก์อุทธรณ์จึงยุติในศาลชั้นต้นแล้ว จำเลยที่ 1 จะรื้อฟื้นขึ้นมาฎีกาในข้อลดหย่อนผ่อนโทษอีกไม่ได้ จึงไม่รับวินิจฉัย
ศาลฎีกาวินิจฉัยฎีกาโจทก์โดยเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 บัญญัติให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจตามควรแก่เหตุการณ์ที่จะลงโทษเรียงกระทงความผิดหรือจะลงโทษเฉพาะกระทงที่หนักที่สุดก็ได้ เมื่อความผิดของจำเลยแต่ละกระทงมีโทษหนักเท่ากัน ศาลก็ย่อมลงโทษจำเลยกระทงหนึ่งกระทงใดแต่กระทงเดียวได้ตามนัยฎีกาที่167/2507
ในเรื่องขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 กึ่งหนึ่งตามมาตรา 93 นั้น ปรากฏว่าในคดีก่อนจำเลยทั้ง 3 นี้มีความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 แต่คดีนี้จำเลยมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายเป็นความผิดคนละฐาน คนละข้อความที่บัญญัติไว้ในมาตรา 93 ฯลฯ กระทำร้ายร่างกายในการปล้นทรัพย์หากจะพึงมีก็เป็นองค์ประกอบให้เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์เท่านั้นศาลไม่ได้พิพากษาว่าในคดีปล้นทรัพย์นั้นมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายด้วย ไม่ซ้ำในอนุมาตราเดียวกันกับในคดีนี้ จึงเพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตามมาตรา 93 ไม่ได้
ในเรื่องขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากคดีแดงที่ 226/2506 นั้นปรากฏว่าศาลจังหวัดระนองพิพากษายกฟ้องคดีนั้น และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แม้โจทก์จะกล่าวอ้างว่าได้ยื่นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายไว้แล้วคดียังอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาก็ตาม ก็แสดงว่าในขณะนี้จำเลยที่ 1 ยังไม่มีโทษในคดีดังกล่าวที่จะนับต่อให้ไม่เหมือนคำพิพากษาฎีกาที่ 622/2496 ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยแล้ว ฯลฯ ไม่มีทางที่จะนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากคดีแดงที่ 226/2506 นั้นได้ พิพากษายืน