คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 422/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ก่อนใช้ประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติกักกันผู้มีสันดานเป็นผู้ร้าย พ.ศ.2479 มาตรา 5 บัญญัติให้ถือกักกันเป็นโทษอาญาสถานหนึ่ง เมื่อใช้ประมวลกฎหมายอาญาแล้ว ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 15 ให้เปลี่ยนโทษกักกันมาเป็นวิธีการเพื่อความปลอดภัยโทษกักกันจึงไม่ใช่โทษอาญาเสียแล้ว แต่บทบัญญัติมาตรา 15 นี้ย่อมไม่ย้อนหลังไปบังคับถึงโทษกักกันที่ได้เสร็จสิ้นพ้นโทษไปแล้ว
จำเลยเคยต้องคำพิพากษาให้กักกันมีกำหนด 3 ปี พ้นโทษไปเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2498 ก่อนใช้พระราชบัญญัติล้างมลทินฯ พ.ศ.2499 และก่อนใช้ประมวลกฎหมายอาญา ดังนี้ โทษกักกันที่จำเลยได้รับเสร็จสิ้นไปแล้วก่อนประมวลกฎหมายอาญาออกใช้ ก็คงถือเป็นโทษอยู่ ย่อมได้รับการล้างมลทินโดยพระราชบัญญัติล้างมลทินฯ พ.ศ.2499 มาตรา 3 จะกักกันจำเลยโดยอาศัยเหตุที่จำเลยเคยถูกกักกันมาแล้วตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 41 อีกหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร และขอเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ทั้งขอให้กักกันจำเลยที่ 1 ด้วย โดยอ้างว่าก่อนคดีนี้จำเลยที่ 1 เคยต้องคำพิพากษาของศาลอาญาให้กักกันเป็นเวลา 3 ปีมาแล้ว ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้กระทำผิดอันเป็นมูลให้กักกันในขณะมีอายุเกินกว่า 17 ปีแล้ว ปรากฏในประวัติอาชญากรท้ายฟ้องในรายการครั้งที่ 4 และภายในระยะเวลา 10 ปีนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ได้พ้นจากการกักกันดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้บังอาจมากระทำผิดอันเกี่ยวกับทรัพย์ดังระบุไว้ในมาตรา 41(8) แห่งประมวลกฎหมายอาญาอีก

จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพฐานรับของโจร

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองผิดฐานรับของโจรตามมาตรา 357, 83 ลงโทษจำคุกจำเลยและเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ลดรับสารภาพให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 หกเดือนจำเลยที่ 2 สี่เดือน นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากคดีแดงที่ 1341/2506 และให้กักกันจำเลยที่ 1 อีก 3 ปี ตามมาตรา 41, 42

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า โทษกักกันจำเลยได้รับการลบล้างมลทินโทษไปแล้วตามพระราชบัญญัติล้างมลทินฯ พ.ศ. 2499 มาตรา 3 ศาลชั้นต้นยกเหตุนี้มาลงโทษกักกันจำเลยไม่ได้

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ โดยไม่กักกันจำเลยที่ 1

โจทก์ฎีกาขอให้กักกันจำเลยที่ 1

ศาลฎีกาปรึกษาว่า คดีนี้ โจทก์ขอให้กักกันจำเลยที่ 1 เฉพาะในเหตุที่จำเลยที่ 1 เคยต้องคำพิพากษาให้กักกันมาแล้วตามรายการในประวัติอาชญากรครั้งที่ 4 ท้ายฟ้อง ปรากฏว่าศาลลงโทษจำเลยที่ 1ฐานวิ่งราวทรัพย์ ให้จำคุก 1 ปีและกักกัน 3 ปี จำเลยที่ 1 พ้นโทษไปเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2498 และปรากฏว่าพระราชบัญญัติล้างมลทินฯ พ.ศ. 2499 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม2500 และประมวลกฎหมายอาญาก็ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2500จำเลยที่ 1 จึงพ้นโทษไปก่อนใช้พระราชบัญญัติล้างมลทินฯ ดังกล่าวและก่อนใช้ประมวลกฎหมายอาญาด้วย

ก่อนใช้ประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติกักกันผู้มีสันดานเป็นผู้ร้ายพ.ศ. 2479 มาตรา 5 ให้ถือกักกันเป็นโทษอาญาสถานหนึ่งเมื่อใช้ประมวลกฎหมายอาญาแล้ว ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 15 ให้เปลี่ยนโทษกักกันมาเป็นวิธีการเพื่อความปลอดภัย โทษกักกันจึงไม่ใช่โทษอาญาเสียแล้ว แต่ศาลฎีกาเห็นว่า บทบัญญัติประมวลกฎหมายอาญามาตรา 15 ที่ให้เปลี่ยนโทษกักกันมาเป็นวิธีการเพื่อความปลอดภัยนั้น ย่อมไม่กระทบกระเทือนโดยย้อนหลังไปบังคับถึงโทษกักกันที่ได้เสร็จสิ้นพ้นโทษไปแล้ว ฉะนั้น โทษกักกันที่จำเลยที่ 1 ได้รับเสร็จสิ้นไปแล้วก่อนประมวลกฎหมายอาญาออกใช้ ก็คงถือเป็นโทษอยู่และย่อมได้รับการลบล้างมลทินโดยพระราชบัญญัติล้างมลทินฯ พ.ศ. 2499 มาตรา 3 จะกักกันจำเลยที่ 1 โดยอาศัยเหตุที่จำเลยที่ 1 ถูกกักกันมาแล้วอีกหาได้ไม่ พิพากษายืน

Share