แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้สนับสนุนให้ความช่วยเหลือ โดยลงลายมือชื่อรับรองอันเป็นเท็จลงในด้านหลังของคำขอมีบัตร มีบัตรใหม่หรือเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชน ว่า จ. คือ บ. ซึ่งมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเลขที่ 241 เป็นลูกบ้านในหมู่บ้านซึ่งจำเลยเป็นผู้ใหญ่บ้านอยู่ แม้จะไม่มีคำว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงาน แต่ถือได้ว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานแล้ว เนื่องจากผู้ใหญ่บ้านย่อมเป็นเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ฯ การรกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชนฯ มาตรา 14 วรรคสาม ซึ่งมีโทษจำคุกขั้นต่ำตั้งแต่ 1 ปี ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลงโทษจำเลยตามมาตรา 14 (1) (3) วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.อ. มาตรา 86 และลงโทษจำคุกจำเลย 8 เดือน นั้น เห็นว่าไม่ถูกต้อง และเป็นการวางโทษที่ต่ำกว่ากฎหมาย แต่เมื่อโจทก์มิได้ฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขโทษให้ถูกต้องได้เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 212 ประกอบด้วยมาตรา 225 แห่ง ป.วิ.อ. แต่เห็นควรปรับบทให้ถูกต้อง โดยไม่เพิ่มเติมโทษจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 4, 5, 6 จัตวา, 8, 14 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267, 86 จำเลยเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1195/2549 ของศาลจังหวัดกระบี่ และหมายเลขแดงที่ 2061/2549 ของศาลชั้นต้น ให้นับโทษจำเลยต่อจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1195/2549 ของศาลจังหวัดกระบี่ และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2061/2549 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) (3) วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) (3) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 8 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 4 เดือน นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2061/2549 ขอศาลชั้นต้น คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ฎีกาของจำเลยที่ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้น เห็นว่า จำเลยเป็นผู้ใหญ่บ้านแต่ใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนเพื่อช่วยเหลือสนับสนุนให้บุคคลต่างด้าวได้รับใบรับแบบ บ.ป.2 (บัตรเหลือง) โดยไม่ชอบ ทำให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการและมีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ แม้จำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนหรือมีเหตุอื่นตามที่อ้างในฎีกาก็ยังไม่เพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้จำเลย ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษให้จำเลยนั้นจึงเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้สนับสนุนให้ความช่วยเหลือ โดยลงลายมือชื่อรับรองอันเป็นเท็จลงในด้านหลังของคำขอมีบัตรมีบัตรใหม่ หรือเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชน (แบบ บ.ป.1) ว่านางจันทร์แป้งคือนางสาวบังอร ซึ่งมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเลขที่ 241 หมู่ที่ 15 ตำบลสามสวน อำเภอบ้านแท่น จังหวัดชัยภูมิ เป็นลูกบ้านในหมู่บ้านซึ่งจำเลยเป็นผู้ใหญ่บ้านอยู่ แม้จะไม่มีคำว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงาน แต่ถือได้ว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานแล้ว เนื่องจากผู้ใหญ่บ้านย่อมเป็นเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2546 มาตรา 14 วรรคสาม ซึ่งมีโทษจำคุกขั้นต่ำตั้งแต่ 1 ปี ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลงโทษจำเลยตามมาตรา 14 (1) (3) วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และลงโทษจำคุกจำเลย 8 เดือนนั้น เห็นว่าไม่ถูกต้อง และเป็นการวางโทษที่ต่ำกว่ากฎหมายแต่เมื่อโจทก์มิได้ฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขโทษให้ถูกต้องได้เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 212 ประกอบด้วยมาตรา 225 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณความอาญา แต่เห็นควรปรับบทให้ถูกต้อง โดยไม่เพิ่มเติมโทษจำเลย”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 ประกอบมาตรา 86 พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3