คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3831/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

บันทึกการร้องทุกข์ ระบุชื่อโจทก์ร่วมที่ 2 เป็นผู้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับจำเลยในข้อหาฉ้อโกงและลงชื่อโจทก์ร่วมที่ 2 แต่ผู้เดียวโดยไม่ได้ระบุว่ากระทำในนามโจทก์ร่วมที่ 1 ทั้งไม่ปรากฏรอยตราเครื่องหมายของโจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลในช่องผู้ร้องทุกข์แต่อย่างใด จึงเป็นเพียงคำร้องทุกข์โดยส่วนตัวของโจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหาย เมื่อโจทก์ร่วมที่ 1 ผู้เสียหายตามจริง ไม่ได้ร้องทุกข์ตามกฎหมาย การสอบสวนของพนักงานสอบสวนจึงเป็นไปโดยไม่ชอบ พนักงานอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120,121

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ห้างหุ้นส่วนจำกัดอุบลสหภัณฑ์ และนายประวิทย์ ธนะทรัพย์ชูศักดิ์ผู้เสียหายทั้งสองยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ลงโทษจำคุก 3 ปีให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วโจทก์อ้างว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุจำเลยซึ่งเคยร่วมค้าขายกับโจทก์ร่วมทั้งสองได้หลอกลวงโจทก์ร่วมทั้งสองว่า จำเลยมีโครงการจะส่งปูนซิเมนต์ให้แก่สำนักงานชลประทานที่ 5 คือโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำที่ห้วยยาง อำเภอน้ำยืนจังหวัดอุบลราชธานี โครงการสร้างคลองส่งน้ำและอ่างเก็บน้ำจังหวัดยโสธร โครงการสร้างคลองส่งน้ำและอ่างเก็บน้ำที่หนองหญ้าม้า จังหวัดร้อยเอ็ด ขอให้โจทก์ร่วมทั้งสองออกเงินและสั่งซื้อปูนซิเมนต์ให้จำเลยไปส่งตามโครงการทั้งสามซึ่งเป็นความเท็จ เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมทั้งสองออกเงินสั่งซื้อปูนซิเมนต์และออกเงินค่าใช้จ่ายในการขนส่งรวมทั้งสิ้นจำนวน787,504 บาท ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2 ถึงจ.6ซึ่งเป็นเงินส่วนตัวของโจทก์ร่วมที่ 2 จำนวน 80,000 บาทเศษนอกนั้นเป็นเงินของโจทก์ร่วมที่ 1 โจทก์มีนางดวงเดือน ธนะทรัพย์ชูศักดิ์ และนายปรเมศร์ ธนะทรัพย์ชูศักดิ์ซึ่งเป็นภริยาและพี่ชายโจทก์ร่วมที่ 2 ตามลำดับเบิกความสนับสนุนว่ารู้เห็นการที่จำเลยหลอกลวงโจทก์ร่วมทั้งสองแต่คำฟ้องและคำเบิกความพยานโจทก์ร่วมทั้งสองดังกล่าวไม่ได้ระบุจำแนกให้ชัดเจนว่า โจทก์ร่วมที่ 2 ได้ออกเงินส่วนตัวสั่งซื้อปูนซิเมนต์ให้จำเลยไปด้วยเมื่อไรเพียงใด คงมีแต่คำเบิกความของโจทก์โดยไม่มีหลักฐานอื่นยืนยันว่าโจทก์ร่วมที่ 2ได้ออกเงินส่วนตัวไปด้วยบางส่วน ทั้งได้ความจากโจทก์ร่วมที่ 2และนายปรเมศร์ว่า จำเลยได้ชัดชวนโจทก์ร่วมที่ 2 ลงทุนดังกล่าวเพื่อหากำไรร่วมกัน เพราะทราบว่าโจทก์ร่วมที่ 1มีโควตาซื้อปูนซิเมนต์นครหลวง และต่อมาโจทก์ร่วมที่ 2 ได้มอบตั๋วรับปูนซิเมนต์ในนามโจทก์ร่วมที่ 1 ให้จำเลยไปรับปูนซิเมนต์ซึ่งเก็บไว้ที่คลังได้ความจากโจทก์ร่วมที่ 2 และนางดวงเดือนต่อไปว่า ในการส่งหลักฐานการซื้อปูนซิเมนต์จากห้างร้านต่าง ๆโจทก์ร่วมทั้งสองไม่เคยทำหลักฐานการรับเงินหรือหลักฐานการรับปูนซิเมนต์ให้จำเลยลงนามเพราะเชื่อใจกัน เห็นว่า วัตถุที่ประสงค์ของโจทก์ร่วมที่ 1 ตามที่ปรากฏในหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.1ข้อ 2 มีว่า “ทำการค้าวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ในการก่อสร้าง และพัสดุ ครุภัณฑ์” ถ้าหากโจทก์ร่วมที่ 2 ประสงค์จะออกเงินส่วนตัวในการลงทุนกับจำเลยดังข้ออ้างก็น่าจะทำหลักฐานให้ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร หรืออย่างน้อยก็มีพยานบุคคลรู้เห็นเมื่อโจทก์ร่วมที่ 2 ไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุนดังกล่าวจึงน่าเชื่อว่า โจทก์ร่วมที่ 2 ใช้เงินสดของโจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งโจทก์ร่วมที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการอยู่ไปในการลงทุนสั่งซื้อปูนซิเมนต์ โดยมอบตั๋วรับปูนซิเมนต์แก่จำเลยไปตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ร่วมที่ 1 โดยโจทก์ร่วมที่ 2 ไม่ได้ร่วมออกเงินส่วนตัวด้วยโจทก์ร่วมที่ 1 แต่ผู้เดียวจึงเป็นผู้เสียหายจากการหลอกลวงของจำเลย แต่เมื่อพิเคราะห์คำเบิกความร้อยตำรวจเอกวิวัฒน์ ชาญพนาพนักงานสอบสวนและบันทึกการร้องทุกข์มอบคดีอันยอมความกันได้เอกสารหมาย จ.14 ระบุว่า “ข้าพเจ้านายประวิทย์ ธนะทรัพย์ชูศักดิ์(โจทก์ร่วมที่ 2) อยู่บ้านเลขทีี่ 156 ถนนอุปราชห้างหุ้นส่วนจำกัดอุบลสหภัณฑ์ ขอร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับนายวารินทร์ ศรีแย้ม ในข้อหาว่า ฉ้อโกงทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต” และลงชื่อโจทก์ร่วมที่ 2 แต่ผู้เดียวโดยไม่ได้ระบุว่ากระทำในนามโจทก์ร่วมที่ 1 ทั้งไม่ปรากฏรอยตราเครื่องหมายของโจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลในช่องผู้ร้องทุกข์แต่อย่างใด บันทึกการร้องทุกข์ดังกล่าวจึงเป็นเพียงคำร้องทุกข์โดยส่วนตัวของโจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหาย เมื่อโจทก์ร่วมที่ 1 ผู้เสียหายตามจริง ไม่ได้ร้องทุกข์ตามกฎหมายการสอบสวนของพนักงานสอบสวนจึงเป็นไปโดยไม่ชอบ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120, 121″
พิพากษายืน

Share