แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามบทบัญญัติมาตรา 987 และมาตรา 988 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บุคคลผู้ออกเช็คหรือทำตราสารดังกล่าวก็คือผู้สั่งจ่ายโดยทั่ว ๆ ไปอาจจะเห็นว่าธนาคารเป็นผู้พิมพ์แบบฟอร์มเช็คออกเป็นเล่ม ๆ ให้แก่ผู้มีบัญชีฝากเงินกับธนาคาร แต่ที่เป็นดังนั้นมิได้หมายความว่าธนาคารเป็นผู้ออกเช็คแต่ธนาคารกระทำขึ้นแทนผู้สั่งจ่ายเพื่อให้ความสะดวกแก่ผู้สั่งจ่ายในการใช้และกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจึงทำเป็นแบบพิมพ์ในรูปเดียวกัน แต่โดยเนื้อแท้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแล้ว ผู้สั่งจ่ายเป็นผู้ออกเช็คหรือทำตราสารนั้น (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1017/2507) โดยเหตุนี้เช็คพิพาทจะเป็นเช็คออกมาแต่ต่างประเทศหรือไม่จึงอยู่ที่ว่าผู้สั่งจ่ายเช็คได้สั่งจ่ายเช็คภายในประเทศหรือสั่งจ่ายเช็คที่ต่างประเทศเป็นสำคัญ หาใช่ดูว่าธนาคารตามเช็คอยู่ ณ ที่ใดเป็นสำคัญไม่ ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทในประเทศไทย แม้ธนาคารเจ้าของเช็คจะอยู่ต่างประเทศ เช็คพิพาทจึงมิใช่เช็คที่ออกมาแต่ต่างประเทศตามมาตรา 989 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีสาขาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คของธนาคารอินโดสุเอช ประเทศฝรั่งเศส จำนวน ๓ ฉบับ โดยจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ลงลายมือสั่งจ่ายให้จำเลยที่ ๒ แล้วจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์และมีบัญชีเงินฝากกระแสรายวันอยู่กับธนาคารโจทก์สาขากรุงเทพมหานครได้ลงชื่อสลักหลังและนำเช็คทั้งสามฉบับมาขายให้แก่โจทก์ โจทก์ได้รับซื้อไว้เมื่อเช็คถึงกำหนดนำไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินตามเช็คทั้งสามฉบับพร้อมดอกเบี้ยจำนวน ๒๕๖,๐๔๕.๓๑ บาทแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า เช็คทั้งสามฉบับจำเลยที่ ๒ ลักไปจากจำเลยที่ ๑ แล้วปลอมชื่อผู้สั่งจ่าย เช็คทั้งสามฉบับเป็นเช็คที่ออกในต่างประเทศ เมื่อเช็คถูกปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์มิได้ทำคำคัดค้านจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินตามเช็ค ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นงดสืบพยานโจทก์จำเลย และวินิจฉัยว่าเช็คตามฟ้องเป็นเช็คที่ออกมาแต่ต่างประเทศ เมื่อโจทก์มิได้ทำคำคัดค้านโจทก์ย่อมสิ้นิสทธิไล่เบี้ยเอาจากผู้สลักหลังและผู้สั่งจ่าย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ดำเนินกระบวนพิจารณาแล้ววินิจฉัยใหม่ตามรูปคดี
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คงมีปัญหาตามฟ้องฎีกาของจำเลยที่ ๑ ว่าเช็คพิพาททั้งสามฉบับเป็นเช็คที่ออกมาแต่ต่างประเทศตามบทบัญญัติมาตรา ๙๘๙ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือไม่ เห็นว่า ตามบทบัญญัติมาตรา ๙๘๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ระบุไว้ว่า อันเช็คนั้นต้องมีรายการดังต่อไปนี้ คือ
(๑) คำบอกชื่อว่าเป็นเช็ค
(๒) …….
(๓) …….
(๔) …….
(๕) …….
(๖) วันและสถานที่ออกเช็ค
(๗) ลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย
และตามมาตรา ๙๘๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติว่า อันว่าเช็คนั้นคือหนังสือตราสารซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้สั่งจ่ายสั่งธนาคารให้ใช้เงินจำนวนหนึ่งเมื่อทวงถามให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง หรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่งอันเรียกว่าผู้รับเงิน
เมื่อพิเคราะห์บทบัญญัติทั้งสองมาตรานี้แล้วก็เป็นอันได้ความว่า บุคคลผู้ออกเช็คหรือทำตราสารดังกล่าวก็คือผู้สั่งจ่ายนั่นเองโดยทั่ว ๆ ไปอาจจะเห็นว่าธนาคารเป็นผู้พิมพ์แบบฟอร์มเช็คออกเป็นเล่ม ๆ ให้แก่ผู้มีบัญชีฝากเงินกับธนาคาร แต่ที่เป็นดังนั้นมิใช่หมายความว่าธนาคารเป็นผู้ออกเช็ค แต่ธนาคารกระทำขึ้นแทนผู้สั่งจ่ายเพื่อให้ความสะดวกแก่ผู้สั่งจ่ายในการใช้ และกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น จึงทำเป็นแบบพิมพ์ในรูปเดียวกัน แต่โดยเนื้อแท้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแล้ว ผู้สั่งจ่ายเป็นผู้ออกเช็คหรือทำตราสารนั้นเทียบตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๑๗/๒๕๐๗ คดีระหว่างพนักงานอัยการกรมอัยการ โจทก์ นางละม่อม นาคปรีชา จำเลย ซึ่งวินิจฉัยไว้ว่า บุคคลใดทำเป็นหนังสือตราสารซึ่งมีรายการครบถ้วนบริบูรณ์ตามลักษณะที่กล่าวไว้ในมาตรา ๙๘๗, ๙๘๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้วก็เป็นเช็ค เมื่อผู้ทรงนำไปขึ้นเงินไม่ได้ผู้ออกเช็คก็มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ โดยเหตุนี้เช็คพิพาทจะเป็นเช็คออกมาแต่ต่างประเทศหรือไม่ จึงอยู่ที่ว่าผู้สั่งจ่ายเช็คได้สั่งจ่ายเช็คภายในประเทศหรือสั่งจ่ายที่ต่างประเทศเป็นสำคัญ หาใช่ดูว่าธนาคารตามเช็คอยู่ ณ ที่ใดเป็นสำคัญไม่คดีนี้จำเลยที่ ๑ รับอยู่ว่ามีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย ยังมีประเด็นที่โจทก์จำเลยจะต้องนำสืบตามฟ้องและข้อต่อสู้ของตนอีกหลายประการ
พิพากษายืน.