คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3878/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 2 เป็นผู้ประดิษฐ์การประดิษฐ์ตู้บรรทุกขยะแบบอัด ซึ่งได้ยื่นขอรับสิทธิบัตรแล้ว แต่โจทก์ทั้งสองอ้างในคำฟ้องและนำสืบว่า โจทก์ที่ 2 ได้โอนสิทธิบัตรดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 1 แล้ว ซึ่งการโอนสิทธิบัตรตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 41 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่ไม่ปรากฏตามสิทธิบัตรดังกล่าวว่ามีรายการที่โจทก์ที่ 2 จดทะเบียนโอนสิทธิบัตรดังกล่าวให้โจทก์ที่ 1 แล้ว ทั้งไม่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์ทั้งสองว่าโจทก์ที่ 2 โอนสิทธิบัตรให้แก่โจทก์ที่ 1 เมื่อใด จึงฟังไม่ได้ว่า โจทก์ที่ 2 โอนสิทธิบัตรการประดิษฐ์ตู้บรรทุกขยะแบบอัดดังกล่าวแล้ว โจทก์ที่ 2 จึงยังคงเป็นผู้ทรงสิทธิบัตรการประดิษฐ์ดังกล่าว ซึ่งมีอำนาจฟ้องว่าจำเลยทั้งสองละเมิดสิทธิบัตรดังกล่าวของโจทก์ที่ 2 แต่โจทก์ที่ 1 ไม่ใช่ผู้ทรงสสิทธิบัตรที่จะมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองละเมิดสิทธิบัตรดังกล่าว
คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า จำเลยทั้งสองผลิตตู้บรรทุกขยะแบบอัดท้ายชนิดสามารเปิด-ปิด และปรับระดับที่รองรับขยะได้ โดยลอกเลียนหรือใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสองและร่วมกันขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งผลิตภัณฑ์ตู้บรรทุกขยะดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ทั้งสอง เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธ โจทก์ทั้งสองจึงมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้ผลิตตู้บรรทุกขยะโดยใช้ความคิดในการประดิษฐ์ที่อยู่ในข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของโจทก์ที่ 2 และจำเลยทั้งสองร่วมกันขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งผลิตภัณฑ์ตู้บรรทุกขยะตามสิทธิบัตรดังกล่าวให้รับฟังได้ตามที่กล่าวอ้างในคำฟ้อง แต่โจทก์ที่ 2 เบิกความว่า คำกล่าวอ้างของจำเลยทั้งสองที่ว่า จำเลยทั้งสองผลิตตามแบบของตนเองไม่ได้ลอกเลียนแบบการประดิษฐ์ของผู้ใดเป็นเท็จ เพราะถ้าเป็นแบบของตนเอง รูปแบบสินค้าที่นำมาเสนอขายควรเป็นแบบหรือภาพถ่ายสินค้าของตนเอง ไม่ควรนำผลงานของผู้อื่นมาแอบอ้างเป็นของตนเอง โจทก์ทั้งสองจึงมั่นใจว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสองโดยการคัดลอกแบบแปลนและผลิตออกจำหน่ายให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบล ค. โดยมิได้นำสืบว่า รถยนต์บรรทุกที่อ้างว่า จำเลยทั้งสองผลิตและขายให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบล ค. นั้นมีลักษณะอย่างไร มีกระบวนการการทำงานอย่างไร ตรงกับข้อถือสิทธิที่ได้รับความคุ้มครองในสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 2 หรือไม่ เพื่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองผลิตตู้บรรทุกขยะแบบอัดท้ายชนิดสามารถเปิด-ปิด และปรับระดับที่รองรับขยะได้โดยใช้ความคิดในการประดิษฐ์ที่มีรายละเอียดตรงหรือสอดคล้องกับข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์ตู้บรรทุกขยะดังกล่าวของโจทก์ที่ 2 แม้ผู้รับมอบอำนาจจำเลยทั้งสองจะตอบทนายโจทก์ทั้งสองถามค้านว่า จำเลยที่ 1 ได้ผลิตรถขนขยะตามแบบที่เสนอตามสเป็กที่กำหนดต่อองค์การบริหารส่วนตำบล ค. และส่งมอบเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ยังไม่อาจรับฟังได้ว่ารถยนต์บรรทุกขยะที่จำเลยทั้งสองผลิตและส่งมอบดังกล่าวนั้นมีส่วนใดบ้างที่จำเลยทั้งสองได้ใช้ความคิดในการประดิษฐ์ในข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของโจทก์ที่ 2 อันเป็นการละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 2 พยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสองนำสืบบ่งชี้ไปในทางที่ว่า จำเลยทั้งสองนำภาพถ่ายรถต้นแบบและแค็ตตาล็อกของโจทก์ทั้งสองไปใช้ในการเสนอราคาต่อองค์การบริหารส่วนตำบล ค. ซึ่งไม่ใช่การที่จำเลยทั้งสองผลิตออกขายซึ่งตู้บรรทุกขยะโดยใช้การประดิษฐ์ในข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 2 จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองรับผลิตออกขายซึ่งตู้บรรทุกขยะโดยใช้การประดิษฐ์ในข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรดังกล่าวของโจทก์ที่ 2 การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ที่ 2 ผู้ทรงสิทธิบัตร ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 36 วรรคหนึ่ง (1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์ทั้งสองเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองไม่ได้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ว่า โจทก์ที่ 2 ได้รับสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 21790 การประดิษฐ์ ตู้บรรทุกขยะแบบอัดท้าย ชนิดสามารถเปิด-ปิด และปรับระดับที่รองรับขยะได้ ซึ่งโจทก์ที่ 2 ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2545 และอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาออกสิทธิบัตรให้เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2550 ตามสิทธิบัตร จำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการซ่อม ต่อเติม ประกอบตัวถังรถยนต์ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2547 จำเลยที่ 1 ได้ยื่นใบเสนอราคารถยนต์บรรทุกขยะแบบอัดท้ายขนาด 6 ล้อ 1 คันต่อองค์การบริหารส่วนตำบลโคกขาม ตำบลโคกขาม อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ตามใบเสนอราคาและชนะการประกวดราคา โดยจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากับองค์การบริหารส่วนตำบลโคกขามตามสัญญาซื้อขาย ต่อมาวันที่ 15 ธันวาคม 2547 จำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบรถยนต์บรรทุกขยะแก่องค์การบริหารส่วนตำบลโคกขามตามใบตรวจรับพัสดุ
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสองหรือไม่ เห็นว่าคดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า จำเลยทั้งสองผลิตตู้บรรทุกขยะแบบอัดท้ายชนิดสามารถเปิด-ปิดและปรับระดับที่รองรับขยะได้ โดยลอกเลียนหรือใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสองและร่วมกันขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งผลิตภัณฑ์ตู้บรรทุกขยะดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ทั้งสอง เมื่อจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ โจทก์ทั้งสองจึงมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้ผลิตตู้บรรทุกขยะโดยใช้ความคิดในการประดิษฐ์ที่อยู่ในข้อถือสิทธิตามบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 21790 ของโจทก์ที่ 2 และจำเลยทั้งสองร่วมกันขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งผลิตภัณฑ์ตู้บรรทุกขยะตามสิทธิบัตรดังกล่าวให้รับฟังได้ตามที่กล่าวอ้างในคำฟ้องแต่โจทก์ทั้งสองมีโจทก์ที่ 2 มาเบิกความเป็นพยานประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของโจทก์ที่ 2 เพียงว่า คำกล่าวอ้างของจำเลยทั้งสองที่ว่าจำเลยทั้งสองผลิตตามแบบของตนเองไม่ได้ลอกเลียนแบบการประดิษฐ์ของผู้ใดเป็นความเท็จ เพราะถ้าเป็นแบบของตนเองรูปแบบสินค้าที่นำมาเสนอขายก็ควรเป็นแบบหรือภาพถ่ายสินค้าของตนเอง ไม่ควรนำผลงานของผู้อื่นมาแอบอ้างเป็นของตนเอง โจทก์ทั้งสองจึงมั่นใจว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสอง โดยการคัดลอกแบบแปลนและผลิตออกจำหน่ายให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลโคกขาม ตามหนังสือขอส่งข้อมูลซื้อขายรถบรรทุกขยะแบบอัดท้าย ลงวันที่ 26 มกราคม 2555 ใบเสนอราคาลงวันที่ 24 สิงหาคม 2547 พร้อมแค็ตตาล็อก สัญญาซื้อขายรถยนต์บรรทุกระหว่างองค์การบริหารส่วนตำบลโคกขามกับจำเลยที่ 1 ลงวันที่ 13 กันยายน 2547 สำเนาใบตรวจรับพัสดุลงวันที่ 15 ธันวาคม 2547 และภาพถ่ายรถยนต์บรรทุกขยะ แต่โจทก์ทั้งสองมิได้นำสืบว่ารถยนต์บรรทุกที่อ้างว่าจำเลยทั้งสองผลิตและขายให้องค์การบริหารส่วนตำบลโคกขามนั้นมีลักษณะอย่างไร มีกระบวนการทำงานอย่างไร ตรงกับข้อถือสิทธิที่ได้รับความคุ้มครองในสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 2 หรือไม่ เพื่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองผลิตตู้บรรทุกขยะแบบอัดท้าย ชนิดสามารถเปิด – ปิด และปรับระดับที่รองรับขยะได้ โดยใช้ความคิดในการประดิษฐ์ที่มีรายละเอียดตรงหรือสอดคล้องกับข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์ตู้บรรทุกขยะเลขที่ 21790 ของโจทก์ที่ 2 แม้นางมาลัย ผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยทั้งสองพยานจำเลยทั้งสองจะตอบทนายโจทก์ทั้งสองถามค้านว่า จำเลยที่ 1 ได้ผลิตรถขนขยะตามแบบที่เสนอตามสเป็กที่กำหนดต่อองค์การบริหารส่วนตำบลโคกขาม และส่งมอบเรียบร้อยแล้ว แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวก็ยังไม่อาจรับฟังได้ว่ารถยนต์บรรทุกขยะที่จำเลยทั้งสองผลิตและส่งมอบดังกล่าวนั้นมีส่วนใดบ้างที่จำเลยทั้งสองได้ใช้ความคิดในการประดิษฐ์ในข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 21790 ของโจทก์ที่ 2 อันจะเป็นการละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 2 พยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสองนำสืบบ่งชี้ไปในทางที่ว่าจำเลยทั้งสองนำภาพถ่ายรถต้นแบบและแค็ตตาล็อกของโจทก์ทั้งสองไปใช้ในการเสนอราคาต่อองค์การบริหารส่วนตำบลโคกขาม ซึ่งไม่ใช่การที่จำเลยทั้งสองผลิตออกขายซึ่งตู้บรรทุกขยะโดยใช้การประดิษฐ์ในข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรเลขที่ 21790 ของโจทก์ที่ 2 พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองรับผลิตออกขายซึ่งตู้บรรทุกขยะแบบอัดท้ายชนิดสามารถเปิด-ปิดระดับที่รองรับขยะได้โดยใช้การประดิษฐ์ในข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 21790 ของโจทก์ที่ 2 อันเป็นการผลิต ขาย หรือไว้เพื่อขายซึ่งผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรดังกล่าวของโจทก์ที่ 2 การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวจึงไม่เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ที่ 2 ผู้ทรงสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ตู้บรรทุกขยะตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 21790 ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 36 วรรคหนึ่ง (1) ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองมานั้น ศาลฎีกาแผนคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share