คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3470/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสามเป็นเจ้าพนักงานตำรวจตำแหน่งลูกแถว กองกำกับการอารักขาและรักษาความปลอดภัย กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษกองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดอาญา เมื่อได้พบและกล่าวหาว่าผู้เสียหายให้ที่พักอาศัยแก่คนต่างด้าวโดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองฯ จึงไม่ใช่การกลั่นแกล้งกล่าวหาว่าผู้เสียหายกระทำผิดอาญาโดยไม่มีมูลความผิดการที่จำเลยทั้งสามปฏิบัติการไปตามหน้าที่ดังกล่าวโดยชอบแล้ว กลับไม่จับกุมแต่ขู่เข็ญเรียกร้องเอาเงินแล้วละเว้นไม่จับกุมผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 แต่การที่จำเลยทั้งสามขู่เข็ญเรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหายภายหลังเช่นนี้ย่อมเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับทรัพย์สินในตำแหน่งโดยมิชอบด้วยหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 คดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 อันเป็นบทเฉพาะมาด้วย แต่โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าเมื่อพบการกระทำผิดซึ่งจำเลยทั้งสามมีหน้าที่จับกุมผู้กระทำผิด แต่กลับร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตโดยข่มขืนใจผู้เสียหายให้มอบเงินดังกล่าว อันเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบคำบรรยายฟ้องดังกล่าวจึงเข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 แม้คำขอท้ายฟ้องโจทก์จะอ้าง บทมาตราความผิดตามบทเฉพาะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148แต่เมื่อคำบรรยายฟ้องและข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดตามบทเฉพาะตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 แล้ว จึงถือว่าโจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคห้า
จำเลยทั้งสามร่วมกันขู่เข็ญเรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหาย เพื่อที่จะละเว้นไม่จับกุมผู้เสียหายไปดำเนินคดี จนผู้เสียหายกลัวว่าจะถูกจับกุมอันจะเป็นอันตรายต่อเสรีภาพของตน จึงยอมจะให้เงินแก่จำเลยทั้งสามนั้นเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปและฐานกรรโชกตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคแรก ด้วย หาใช่เป็นเรื่องที่เมื่อเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 แล้วจะ ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 337 ด้วยไม่ เพียงแต่เมื่อเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้วก็ไม่จำต้องปรับบทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีกเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจร่วมกันข่มขืนใจนางสุนิจ จิตรำลึก ผู้เสียหายให้ยอมให้เงินสดจำนวนหนึ่งแก่จำเลยทั้งสาม โดยจำเลยทั้งสามแสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจขอตรวจค้นบ้านผู้เสียหายแล้วทำการจับกุมโดยกล่าวหาว่าผู้เสียหายให้ที่พักอาศัยแก่คนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมายและจะดำเนินคดีแก่ผู้เสียหาย แต่หากผู้เสียหายให้เงินจำนวนหนึ่งแก่จำเลยทั้งสามแล้วก็จะปล่อยตัวไป อันเป็นการขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายแก่ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงของผู้เสียหาย จนผู้เสียหายยอมที่จะให้เงินจำนวน 100,000 บาท แก่จำเลยทั้งสาม และจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจเพื่อให้ผู้เสียหายมอบเงินให้ โดยร่วมกันแสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นบ้านและจับกุมผู้เสียหาย เมื่อพบการกระทำผิดซึ่งจำเลยทั้งสามมีหน้าที่จับกุมผู้กระทำผิด แต่กลับร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตโดยข่มขืนใจผู้เสียหายให้มอบเงินให้ดังกล่าว อันเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบจำเลยทั้งสามถูกจับกุมพร้อมกล้องถ่ายรูปจำนวน 2 กล้อง ที่ใช้ในการกระทำผิดเป็นของกลาง จำเลยทั้งสามเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยทั้งสามในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3439/2539 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 148, 157, 337 ริบของกลาง และนับโทษจำเลยทั้งสามต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3439/2539 ของศาลอาญากรุงเทพใต้

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยทั้งสามในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3439/2539 ของศาลอาญากรุงเทพใต้

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149, 337 (ที่ถูก 337 วรรคแรก) ประกอบด้วยมาตรา 83 แต่เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกคนละ 5 ปี กล้องถ่ายรูปของกลางใช้ในการกระทำผิดจึงให้ริบ ส่วนคำขอที่ให้นับโทษจำเลยทั้งสามต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3439/2539 ของศาลอาญากรุงเทพใต้นั้น ไม่ปรากฏว่าคดีดังกล่าว ศาลได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามแล้วจึงไม่อาจนับโทษต่อได้ ให้ยกคำขอในส่วนนี้

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายมาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า การที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 157, 337 แต่การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดตามมาตรา 149 เช่นนี้ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ได้หรือไม่ เห็นว่า การกระทำที่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 นั้น จะต้องเป็นเรื่องที่ได้ความว่าเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น โดยคดีนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 222 บัญญัติว่า ถ้าคดีมีปัญหาแต่เฉพาะข้อกฎหมายในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนั้น ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสามเป็นเจ้าพนักงานตำรวจตำแหน่งลูกแถวกองกำกับการอารักขาและรักษาความปลอดภัยกองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดอาญาเมื่อได้พบและกล่าวหาว่าผู้เสียหายให้ที่พักอาศัยแก่คนต่างด้าวโดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522มาตรา 38 และ 77 จึงมิใช่การกลั่นแกล้งกล่าวหาว่าผู้เสียหายกระทำผิดอาญาโดยไม่มีมูลความผิด การที่จำเลยทั้งสามปฏิบัติการไปตามหน้าที่ดังกล่าวโดยชอบแล้ว กลับไม่จับกุมแต่ขู่เข็ญเรียกร้องเอาเงิน แล้วละเว้นไม่จับกุมผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 แต่การที่จำเลยทั้งสามขู่เข็ญเรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหายภายหลังเช่นนี้ย่อมเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับทรัพย์สินในตำแหน่งโดยมิชอบด้วยหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 และมาตรา 149 ล้วนแต่เป็นบทเฉพาะที่มีองค์ประกอบแห่งความผิดแตกต่างกัน กล่าวคือ มาตรา 148 เป็นเรื่องใช้อำนาจโดยมิชอบกลั่นแกล้งกล่าวหาจับกุมโดยไม่ปรากฏว่าได้เกิดการกระทำความผิด เป็นการแกล้งกล่าวหาจับกุมแล้วบังคับเอาเงินหรือจูงใจให้เงิน แต่มาตรา 149 เป็นเรื่องผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิด เมื่อผู้จับกล่าวหาจับกุมตามอำนาจหน้าที่แล้ว เรียกเงินเพื่อปล่อยตัวไม่นำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี คดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 อันเป็นบทเฉพาะมาด้วย แต่เมื่อพิเคราะห์คำฟ้องแล้วโจทก์ได้บรรยายฟ้องด้วยว่าเมื่อพบการกระทำผิดซึ่งจำเลยทั้งสามมีหน้าที่จับกุมผู้กระทำผิดแต่กลับร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต โดยข่มขืนใจผู้เสียหายให้มอบเงินดังกล่าวอันเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบคำบรรยายฟ้องดังกล่าวจึงเข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 แล้ว และในชั้นพิจารณาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงยุติแล้วว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ถือว่าข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์สืบสมแล้วแม้คำขอท้ายฟ้องโจทก์จะอ้างบทมาตราความผิดตามบทเฉพาะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 แต่เมื่อคำบรรยายฟ้องและข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดตามบทเฉพาะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 แล้ว จึงถือว่าโจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคห้า

ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ประการต่อไปมีว่าเมื่อคดีฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว ย่อมไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปและมาตรา 337 อีกด้วยนั้น เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันขู่เข็ญเรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหาย เพื่อที่จะละเว้นไม่จับกุมผู้เสียหายไปดำเนินคดีในความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522จนผู้เสียหายกลัวว่าจะถูกจับกุมอันจะเป็นอันตรายต่อเสรีภาพของตนจึงยอมจะให้เงินแก่จำเลยทั้งสามนั้นเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไป และฐานกรรโชกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 337 วรรคแรก ด้วย หาใช่เป็นเรื่องที่เมื่อเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 แล้วจะไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 337 ดังที่จำเลยที่ 3 ฎีกาไม่เพียงแต่เมื่อเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว ก็ไม่จำต้องปรับบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีกเท่านั้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share