คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3875/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ร. ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยที่ 1 ผู้ขายกับจำเลยที่ 2 ผู้ซื้อโดยอ้างว่าที่ดินเป็นทรัพย์มรดกของ ร. กึ่งหนึ่ง จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ร. ร่วมกับโจทก์ให้การต่อสู้ว่า ที่ดินตามฟ้องเป็นของจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียว จำเลยที่ 1 ได้ครอบครองมาโดยตลอด หากฟังว่าที่ดินเป็นมรดกของ ร. สิทธิของทายาท ร. ก็ขาดอายุความแล้ว การโต้แย้งของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวมิได้กระทำในฐานะผู้จัดการมรดกของ ร. แต่เป็นการโต้แย้งโดยอ้างอำนาจของตนเอง จึงมิใช่เป็นการทำตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกของ ร. กรณีมิใช่เป็นเรื่องความเห็นแตกต่างกันในเรื่องการจัดการมรดกของ ร. ซึ่งต้องถือเอาเสียงข้างมากของผู้จัดการมรดก ถ้าเสียงเท่ากันเมื่อผู้มีส่วนได้เสียร้องขอก็ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1726 ทั้งระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาจำเลยที่ 1 ก็ได้ถูกถอนออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของ ร. แล้ว โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ร. ที่เหลืออยู่แต่ผู้เดียวย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้ตามสิทธิและหน้าที่ของผู้จัดการมรดก
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยให้เหตุผลว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องโดยมิได้วินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อพิพาทข้ออื่น ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์อุธรณ์ฎีกาเพียงให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตามลำดับ ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ มิได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้เป็นฝ่ายชนะคดี คำขอตามคำฟ้องอุทธรณ์และคำฟ้องฎีกาจึงเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวนเป็นราคาเงินได้ จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาทตามตาราง 1 ข้อ (2) (ก) ท้ายประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความแพ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางรวง มากทอง ร่วมกับจำเลยที่ ๑ โดยคำสั่งศาล ที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๑๔ พร้อมด้วยห้องแถวเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ ๑ กับนางรวง เมื่อนางรวงถึงแก่กรรมจึงตกเป็นมรดกของนางรวงกึ่งหนึ่ง จำเลยที่ ๑ ขายที่ดินแก่จำเลยที่ ๒ ไปทั้งสองแปลงโดยไม่มีอำนาจ และไม่ได้แบ่งเงินที่ขายได้ให้แก่ทายาทนางรวง ไม่กระทำการตามหน้าที่ในฐานะผู้จัดการมรดกเพราะมีประโยชน์ขัดกัน จำเลยที่ ๒ รับซื้อไว้โดยเจตนาไม่สุจริจ ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันโอนที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ที่ดินตามฟ้องเป็นของจำเลยที่ ๑ แต่ผู้เดียว จำเลยที่ ๑ รื้อห้องแถวถวายวัดไปแล้ว หากฟังว่าที่ดินตามฟ้องเป็นทรัพย์มรดก โจทก์ก็ครอบครองมาจนสิทธิของทายาทอื่นขาดอายุความแล้ว โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับจำเลยที่ ๑ โจทก์แต่ผู้เดียวไม่มีอำนาจฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่ารับซื้อไว้โดยสุจริต
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง มิได้วินิจฉัยประเด็นข้ออื่น แล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องเกี่ยวกับการจัดการมรดกของนางรวง เมื่อโจทก์และจำเลยที่ ๑ เป็นผู้จัดการมรดกของนางรวงร่วมกัน โจทก์เห็นควรเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินตามฟ้องระหว่างจำเลยที่ ๑ ผู้ขายกับจำเลยที่ ๒ ผู้ซื้อ จำเลยที่ ๑ เห็นว่าไม่ควรทำเช่นนั้น โจทก์ชอบที่จะร้องขอให้ศาลชี้ขาดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๒๖ เสียก่อน แต่โจทก์ก็มิได้กระทำเช่นว่านั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ ๑ เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางรวง โจทก์เป็นบุตรคนที่ ๖ นางรวงถึงแก่กรรมโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ โจทก์และจำเลยที่ ๑ เป็นผู้จัดการมรดกของนางรวงร่วมกัน โดยคำสั่งศาลตั้งแต่วันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๒๖ เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๒๖ จำเลยที่ ๑ ทำนิติกรรมขายที่ดินตามฟ้องให้จำเลยที่ ๒ คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินตามฟ้องระหว่างจำเลยที่ ๑ ผู้ขาย กับจำเลยที่ ๒ ผู้ซื้อ โดยอ้างว่าที่ดินตามฟ้องเป็นทรัพย์มรดกของนางรวงกึ่งหนึ่ง จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนางรวงร่วมกับโจทก์ให้การต่อสู้คดีว่า ที่ดินตามฟ้องเป็นของจำเลยที่ ๑ แต่ผู้เดียว จำเลยที่ ๑ ได้ครอบครองมาโดยตลอด หากฟังว่า ที่ดินตามฟ้องเป็นมรดกของนางรวงสิทธิของทายาทนางรวงก็ขาดอายุความแล้ว การโต้แย้งของจำเลยที่ ๑ ดังกล่าวมิได้กระทำในฐานะผู้จัดการมรดกของนางรวง แต่เป็นการโต้แย้งโดยอ้างอำนาจของตนเอง จึงมิใช่เป็นการทำตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกของนางรวง กรณีจึงมิใช่เป็นเรื่องความเห็นแตกต่างกันในเรื่องการจัดการมรดกของนางรวง ซึ่งต้องถือเอาเสียงข้างมากของผู้จัดการมรดก ถ้าเสียงเท่ากัน เมื่อผู้มีส่วนได้เสียร้องขอก็ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๒๖ ดังนั้น คดีนี้จึงนำบทมาตราดังกล่าวมาปรับไม่ได้ การที่จำเลยที่ ๑ ต่อสู้คดีว่า ที่ดินตามฟ้องเป็นของจำเลยที่ ๑ แต่ผู้เดียว และได้รื้อห้องแถวซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินแปลวนี้ถวายวัดไปแล้วเช่นนี้ นอกจากจะเห็นได้ชัดว่า จำเลยที่ ๑ ย่อมไม่ประสงค์จะให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินตามฟ้องระหว่างจำเลยที่ ๑ ผู้ขาย กับจำเลยที่ ๒ ผู้ซื้อ ซึ่งถือได้ว่าไม่เต็มใจที่จะจัดการมรดกรายนี้แล้ว ยังเป็นการโต้แย้งสิทธิในกองมรดก ทั้งขณะนี้จำเลยที่ ๑ ก็ได้ถูกถอนออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางรวงแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนางรวงที่ยังเหลืออยู่แต่ผู้เดียว ย่อมมีอำนาจฟ้อง ขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้ตามสิทธิและหน้าที่ของผู้จัดการมรดก โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยให้เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องโดยมิได้วินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อพิพาทข้ออื่น ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์อุทธรณ์ฎีกาเพียงให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตามลำดับ ให้ศาลช้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ มิได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้เป็นฝ่ายชนะคดี คำขอตามคำฟ้องอุทธรณ์และคำฟ้องฎีกาของโจทก์จึงเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์ อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง ๒๐๐ บาท ตามตาราง ๑ ข้อ (๒) (ก) ท้ายประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความแพ่งเท่านั้น
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ ตามประเด็นข้อพิพาทที่กำหนดไว้ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลในชั้นนี้ให้เป็นพับ ค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และในชั้นฎีกาที่โจทก์เสียเกินมาให้คืนแก่โจทก์

Share