แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ตกลงแบ่งขายที่ดินของโจทก์ตาม น.ส.3 ก.เลขที่ 53จำนวน 7 ไร่ ซึ่งเป็นที่พิพาทในคดีนี้ให้แก่ ส. แต่ยังไม่ทันได้รับมอบการครอบครองที่พิพาทจากโจทก์ตามสัญญาซื้อขายดังกล่าว ส.ถึงแก่กรรมเสียก่อน แม้สิทธิตามสัญญาซื้อขายที่พิพาทจะเป็นมรดกตกทอดไปยังทายาทหรือผู้จัดการมรดกของ ส.ก็ตาม แต่ก็จะต้องว่ากล่าวเป็นกรณีต่างหากอีกกรณีหนึ่ง ส่วนสิทธิครอบครองที่พิพาทย่อมยังคงเป็นของโจทก์อยู่
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยกับบริวารให้รื้อถอนเสาพร้อมสายรั้วลวดหนามที่กั้นออกไปจากที่พิพาทซึ่งโจทก์อ้างว่าตนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง จำเลยให้การต่อสู้และฟ้องแย้งว่า เดิมที่พิพาทเป็นของโจทก์ โจทก์ขายให้ ส. ต่อมาก่อน ส.ถึงแก่กรรมได้ยกที่พิพาทให้แก่จำเลยครอบครองและทำประโยชน์เรื่อยมาตามคำให้การของจำเลยมิได้อ้างว่าจำเลยแย่งการครอบครองที่พิพาทจากโจทก์จำเลยจึงไม่อาจอ้างสิทธิตาม ป.พ.พ.มาตรา 1375 ได้ เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดมีขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นเรื่องการแย่งการครอบครองเป็นประเด็นข้อพิพาทด้วย จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาย่อมไม่รับวินิจฉัยประเด็นข้อนี้ตามที่จำเลยฎีกา
โจทก์เป็นสามี ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินของโจทก์อ้างว่าจำเลยบุกรุกทำละเมิดต่อโจทก์ และฟ้องเรียกค่าเสียหายที่จำเลยก่อให้เกิดความเสียหายในที่ดินโจทก์ เมื่อไม่เข้ากรณีหนึ่งกรณีใดตามที่ ป.พ.พ.มาตรา1476 วรรคหนึ่ง ระบุไว้ในอนุมาตรา 1 ถึงอนุมาตรา 8 และในวรรคสองได้ระบุว่าการจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง สามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่าย ฉะนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากภริยา
จำเลยบุกรุกที่ดินโจทก์โดยการนำรถแทรกเตอร์ไถแล้วปรับสภาพดินกับยังไม่ได้ล้อมรั้วรอบที่พิพาท อันถือได้ว่าเป็นการรบกวนการครอบครองในอันที่โจทก์จะเข้าไปทำประโยชน์ในที่พิพาท และทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายศาลย่อมใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายให้เองได้