คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3867/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หลักกฎหมายที่ห้ามมีผลใช้บังคับย้อนหลังนั้น ห้ามใช้บังคับย้อนหลังเฉพาะกฎหมายในส่วนที่เป็นสารบัญญัติเท่านั้น มิได้ห้ามในส่วนวิธีสบัญญัติด้วย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 พ.ศ.2550 ที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 10/1 ของประกาศฉบับดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับแก่คดีนี้ทันที อันมีผลให้คดีของโจทก์ทั้งสองไม่อยู่ในเขตอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นอีกต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสิบเอ็ดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 91, 157 และ 200
ระหว่างการส่งหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยทั้งสิบเอ็ด ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องไต่สวนมูลฟ้อง ให้งดการไต่สวนมูลฟ้อง แล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ที่ 1 ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 ถึงวันที่ 19 กันยายน 2547 โจทก์ที่ 2 เป็นภริยาโจทก์ที่ 1 และเป็นผู้ชนะในการประกวดราคาซื้อที่ดิน 4 แปลง ตั้งอยู่ที่ถนนเทียมร่วมมิตร ในราคา 772,000,000 บาท จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2546 ต่อมาวันที่ 19 กันยายน 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลของโจทก์ที่ 1 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้แต่งตั้งจำเลยทั้งสิบเอ็ดเป็นคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ 30 เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 วันที่ 17 สิงหาคม 2550 โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยทั้งสิบเอ็ดเป็นคดีนี้ กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสิบเอ็ดกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสองให้ตกเป็นจำเลยโดยถูกอัยการสูงสุดฟ้องที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4, 100 และ 122 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1, 33, 83, 86, 90, 91, 152 และ 157 อันเนื่องมาจากการซื้อที่ดินจำนวน 4 แปลง ดังกล่าวข้างต้นของโจทก์ที่ 2 ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสิบเอ็ดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 91, 157 และ 200 ต่อมาหลังจากโจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้แล้วได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ 30 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2550 ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ 30 กันยายน พุทธศักราช 2549 พ.ศ.2550 ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าเมื่อพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 มีผลใช้บังคับ ทำให้ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า คำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองชอบหรือไม่ ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 ข้อ 10/1 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ 30 เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ 30 กันยายน พุทธศักราช 2549 มาตรา 3 มีความว่า “ในกรณีที่มีพฤติการณ์อันควรสงสัยหรือในกรณีที่มีผู้เสียหายกล่าวหาว่ากรรมการตรวจสอบหรืออนุกรรมการผู้ใด…กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา…ให้ถือว่ากรรมการตรวจสอบหรืออนุกรรมการเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา 17…แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และให้นำความในมาตรา 17…แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ให้นำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาใช้บังคับแก่การฟ้องคดีและการพิจารณาคดีตามวรรคหนึ่ง โดยให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอำนาจพิจารณาคดีดังกล่าวด้วย” เห็นว่า บทกฎหมายดังกล่าวเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการฟ้องและการพิจารณาคดี จึงเป็นกฎหมายในส่วนวิธีสบัญญัติ ซึ่งมีผลใช้บังคับทันทีนับตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับในวันที่ 6 กันยายน 2550 เป็นต้นไป คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสิบเอ็ดในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 200 ซึ่งกฎหมายให้ถือว่าจำเลยทั้งสิบเอ็ดเป็นกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องถูกดำเนินคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อกฎหมายที่แก้ให้มีผลใช้บังคับแล้วทำให้คดีของโจทก์ทั้งสองอยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นอีกต่อไป แม้ว่าโจทก์ทั้งสองจะฟ้องคดีนี้ไว้ก่อนพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 จะมีผลใช้บังคับก็ตาม ที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า แม้ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 ข้อ 10/1 จะมีผลใช้บังคับทันทีนับแต่วันที่ 6 กันยายน 2550 ก็มีผลใช้บังคับแก่คดีที่ฟ้องนับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป แต่ไม่อาจใช้บังคับแก่คดีที่ได้ฟ้องไว้ก่อนวันที่ 6 กันยายน 2550 ได้ เพราะมิฉะนั้นจะมีผลย้อนหลังไปยกเลิกเพิกถอนการกระทำตามกฎหมายวิธีสบัญญัติที่ใช้อยู่เดิม เห็นว่า หลักกฎหมายที่ห้ามมีผลใช้บังคับย้อนหลังนั้น ห้ามใช้บังคับย้อนหลังเฉพาะกฎหมายในส่วนที่เป็นสารบัญญัติเท่านั้น มิได้ห้ามในส่วนวิธีสบัญญัติด้วย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 ที่แก้ไขเพิ่มเติมข้อ 10/1 ของประกาศฉบับดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับแก่คดีนี้ทันทีอันมีผลให้คดีของโจทก์ทั้งสองไม่อยู่ในเขตอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นอีกต่อไป…การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้จึงชอบแล้ว ฎีกาข้ออื่นของโจทก์ทั้งสองนอกจากนี้ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share