คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15726/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 362 โดยบรรยายฟ้องในข้อ 1 และข้อ 5 เพียงว่า จำเลยได้บุกรุกเข้าไปในเคหสถานของโจทก์ ไม่ได้กล่าวบรรยายในฟ้องถึงองค์ประกอบความผิดดังกล่าวว่าเป็นการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุขมาด้วย แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ก็พิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา 362 มิได้ เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4
สำหรับความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358 โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1 ว่า เหตุเกิดวันที่ 28 มกราคม 2554 โจทก์มิได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพราะประสงค์จะดำเนินคดีเอง เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 28 ตุลาคม 2554 โดยมิได้ร้องทุกข์ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 28 มกราคม 2554 จึงฟ้องเกินกว่าสามเดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีโจทก์สำหรับความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามฟ้องข้อ 1 จึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 และข้อเท็จจริงปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 28 กันยายน 2555 ว่า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องในความผิดฐานทำร้ายร่างกายแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยเกี่ยวกับความผิดฐานดังกล่าวและพิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295 จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91, 295, 310 ทวิ, 326, 358, 362, 392, 393
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งที่รับฟ้อง (ที่ถูก ประทับฟ้อง) ในข้อหาทำให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 ทวิ และมีคำสั่งไม่รับฟ้อง (ที่ถูก ยกฟ้อง) ในข้อหาดังกล่าว
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 310 ทวิ, 326, 392, 393 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานทำให้เสียทรัพย์ ปรับ 1,000 บาท ฐานกระทำโดยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพ จำคุก 1 เดือน และปรับ 2,000 บาท ฐานหมิ่นประมาทและดูหมิ่นซึ่งหน้าเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานหมิ่นประมาทซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับ 1,000 บาท ฐานทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือความตกใจโดยการขู่เข็ญ ปรับ 1,000 บาท รวมจำคุก 1 เดือน และปรับ 5,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 15 วัน และปรับ 2,500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ 3 กระทง ความผิดฐานทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือความตกใจโดยการขู่เข็ญ 2 กระทง ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ลงโทษจำเลยฐานกระทำโดยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 ทวิ ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 362 คงลงโทษปรับ 1,500 บาท ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 ชอบหรือไม่ เห็นว่า แม้คำขอท้ายฟ้องระบุอ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 ไว้ด้วย แต่ฟ้องโจทก์ข้อ 1 และข้อ 5 บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยได้บุกรุกเข้าไปในเคหสถานของโจทก์ โดยไม่ได้กล่าวบรรยายในฟ้องถึงองค์ประกอบความผิดดังกล่าวว่าเป็นการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุขมาด้วย แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ก็พิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา 362 มิได้ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 เป็นความผิดอันยอมความได้ โจทก์ต้องร้องทุกข์หรือฟ้องภายในสามเดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1 ว่า เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2554 เวลากลางวัน จำเลยทำให้ทรัพย์สินของโจทก์เสียหาย และบรรยายฟ้องต่อไปว่า โจทก์มิได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพราะประสงค์จะดำเนินคดีเอง ประกอบกับข้อเท็จจริงปรากฏตามคำเบิกความของพันตำรวจโทอธิวุฒิ พยานโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 โจทก์มาขอแจ้งความลงบันทึกประจำวันเพื่อนำไปดำเนินคดีแก่จำเลย ตามรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 28 ตุลาคม 2554 โดยมิได้ร้องทุกข์ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 28 มกราคม 2554 จึงฟ้องเกินกว่าสามเดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว คดีโจทก์สำหรับความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามฟ้องข้อ 1 จึงขาดอายุความตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น และข้อเท็จจริงปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 28 กันยายน 2555 ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องในความผิดฐานทำร้ายร่างกายแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยเกี่ยวกับความผิดฐานดังกล่าวและพิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ตามฟ้องโจทก์ข้อ 1 ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ที่ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 สำหรับโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share