คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3867/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บริษัท ฮ. ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคแก่โจทก์ในการผลิตกระดาษตามสัญญาที่บริษัท ฮ. ทำไว้กับโจทก์ โดยส่งผู้เชี่ยวชาญ 15 คนเข้ามาประจำอยู่ ณ โรงงานโจทก์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 ถึง 2522 บริษัท ฮ. ได้รับเงินค่าธรรมเนียมในการช่วยเหลือดังกล่าวดังนี้ การที่บริษัท ฮ. ให้ความช่วยเหลือแก่โจทก์ มิได้เป็นการประกอบกิจการของบริษัท ฮ. ในประเทศไทย แต่เป็นการให้ความช่วยเหลือแก่โจทก์ในการประกอบกิจการของโจทก์เอง จึงไม่อาจถือได้ว่าบริษัท ฮ. ประกอบกิจการในประเทศไทยโดยมีลูกจ้างหรือผู้ทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อในการประกอบกิจการในประเทศไทย ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 76 ทวิ แต่บริษัท ฮ. ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (3) ที่จ่ายจากประเทศไทย เพราะเงินดังกล่าวเป็นค่าสิทธิตามความหมายของอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ ข้อ 8 (2) โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายนำส่งตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70 (2) ประกอบอนุสัญญาดังกล่าวข้อ 8 (1) และ (2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายของจำเลยและเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยให้การว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ แต่ไม่ตัดสิทธิเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่จะประเมินเรียกเก็บภาษีใหม่ตามสัญญาระหว่างโจทก์กับบริษัทฮอนซูเปเปอร์ จำกัด
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ปัญหาว่าโจทก์มีหน้าที่เสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายหรือไม่ ตามข้อเท็จจริงในคดีนี้ ปรากฏว่าบริษัทฮอนซูเปเปอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญของตนเข้ามาให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคแก่โจทก์ในการผลิตกระดาษคราฟท์และกระดาษอื่น ๆ ตามสัญญาที่บริษัทได้ทำไว้กับโจทก์ รวม ๑๕ คน ตั้งแต่ปี ๒๕๑๙ ถึง ๒๕๒๒ และบริษัทนี้ได้รับเงินค่าธรรมเนียมในการให้ความช่วยเหลือดังกล่าวจากโจทก์ ตามพฤติการณ์ดังกล่าว เห็นได้ว่าการที่บริษัทฮอนซูเปเปอร์ จำกัด ให้ความช่วยเหลือดังกล่าวแก่โจทก์มิได้เป็นการประกอบกิจการของบริษัทฮอนซูเปเปอร์ จำกัด ในประเทศไทยแต่ประการใด แต่เป็นการให้ความช่วยเหลือแก่โจทก์ในการประกอบกิจการของโจทก์เอง กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าบริษัทฮอนซูเปเปอร์ จำกัด ประกอบกิจการในประเทศไทยโดยมีลูกจ้างหรือผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อในการประกอบกิจการในประเทศไทย ตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๗๖ ทวิ แต่บริษัทฮอนซูเปเปอร์ จำกัด เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ (๓) ที่จ่ายจากประเทศไทยให้บริษัทนี้ เพราะเงินดังกล่าวเป็นค่าสิทธิตามความหมายของอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ข้อ ๘ (๒) ซึ่งระบุว่าค่าสิทธิหมายถึงค่าสิทธิหรือเงินอื่นใดที่จ่ายให้เป็นค่าตอบแทนการใช้หรือสิทธิในการใช้ ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร แบบแผน กรรมวิธี และสูตรลับเครื่องหมายการค้าหรือทรัพย์สินอย่างอื่นที่คล้ายคลึงกัน ฯลฯ ทั้งนี้เพราะตามพฤติการณ์น่าเชื่อว่าบริษัทฮอนซูเปเปอร์ จำกัด ส่งผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำและควบคุมกรรมวิธีและแบบแผนในการผลิตกระดาษคราฟท์และกระดาษอื่น ๆ ของโจทก์ โจทก์จึงมีหน้าที่เสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายนำส่งตามประมวลรัษฎากรมาตรา ๗๐ (๒) ประกอบอนุสัญญาดังกล่าว ข้อ ๘ (๑) และ (๒) สำหรับข้อ ๘ (๑) นั้น ระบุว่าอัตราภาษีสำหรับค่าสิทธิจะต้องไม่เกินร้อยละ ๑๕
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share