คำวินิจฉัยที่ 16/2547

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๖/๒๕๔๗

วันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๔๗

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดกระบี่
ระหว่าง
ศาลปกครองนครศรีธรรมราช

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดกระบี่ส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาล ที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาล

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๔๖ นายประสาร ทองธวัช เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพืชพันธุ์ ที่ ๑ นายอุภัย วายุพัฒน์ ที่ ๒ นายสมศักดิ์ เนติรังษีวัชรา ที่ ๓ นายสมปราชญ์ผลชู ที่ ๔ จำเลย ต่อศาลจังหวัดกระบี่ เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๕๖๑/๒๕๔๖ ข้อหาละเมิด ทำให้เสียทรัพย์ เรียกค่าเสียหาย ความว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิทำกินในที่ดินปฏิรูปที่ดิน เพื่อการเกษตรระวางกลุ่มที่ ๑๓๖๕ แปลงเลขที่ ๘ ตั้งอยู่บ้านช่องขี้แรต หมู่ที่ ๔ ตำบล คลองท่อมใต้อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ เนื้อที่ ๕๒ – ๒ – ๕๘ ไร่ ซึ่งได้รับจัดสรรมาจากสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรจังหวัดกระบี่ โดยได้ทำประโยชน์ปลูกต้นปาล์มน้ำมันเต็มเนื้อที่ดังกล่าวมา ๓ ปีเศษและเริ่มจะให้ผลผลิต ต่อมาเมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๔๖ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ กับพวกจำนวนหลายคนได้เข้าไปใช้มีดตัดฟันทำลายต้นปาล์มน้ำมันดังกล่าวเสียหายทั้งแปลงอันเป็นการกระทำละเมิด ต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจากการที่ได้เสียค่าใช้จ่ายในการปลูกปาล์ม การเตรียมสถานที่ต้นกล้าปาล์ม ค่าบำรุงรักษา ค่าจ้างดูแลรักษาเป็นเวลา ๓ ปีเศษ คิดเป็นเงินไร่ละ๓๐,๐๐๐ บาทรวมทั้งสิ้น ๑,๕๖๐,๐๐๐ บาท จึงขอให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพืชพันธุ์จำเลยที่ ๑ ในฐานะต้นสังกัดของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ และจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปีนับจากวันละเมิด
จำเลยที่ ๑ ยื่นคำให้การต่อสู้คดีว่าที่ดินพิพาทอยู่ภายในแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าบางคราม ตามกฎกระทรวงฉบับที่ ๕๕ (พ.ศ. ๒๕๐๒) ลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๐๒ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองและสงวนป่า พ.ศ. ๒๔๘๑ โจทก์ไม่เคยได้รับอนุญาต ให้เข้ายึดถือครอบครองทำประโยชน์ในพื้นที่พิพาทจึงเป็นความผิดตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ จำเลยที่ ๓ ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมและรักษาป่าสงวนแห่งชาติป่าบางคราม มีคำสั่งให้โจทก์รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและพืชผลออกจากพื้นที่ดังกล่าวภายในกำหนดเวลา แต่โจทก์ยังคงฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง และไม่ได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวภายในกำหนดเวลา จำเลยที่ ๓ จึงใช้อำนาจตามมาตรา ๒๕ (๓) แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการยึด รื้อถอน ทำลายสิ่งปลูกสร้างและพืชผล การกระทำของ จำเลยที่ ๒ถึงที่ ๔ เป็นการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่เป็นละเมิด ต่อโจทก์และไม่ต้องรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น และได้โต้แย้งรื่องอำนาจศาลว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองเพราะเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิด ของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณา คดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
โจทก์แถลงคัดค้านว่าโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ ๑ รับผิดในเรื่องละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดจำเลยที่ ๑ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม และได้ยื่นคำร้อง ขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ เนื่องจากได้ฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นต้นสังกัดของจำเลยทั้งสามให้รับผิดแล้ว
ศาลจังหวัดกระบี่พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐว่ากระทำละเมิดจากการเข้าทำลายสิ่งปลูกสร้างและพืชผลซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินที่ได้รับการจัดสรรจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม แต่จำเลยที่ ๑ โต้แย้งคัดค้านว่าที่ดินพิพาทดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าบางคราม จึงเป็นกรณีโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินว่าที่ดินเป็นของโจทก์หรือไม่เป็นสำคัญ โดยไม่มีการโต้แย้งเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าพนักงานว่าชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใดหรือไม่ การพิจารณาสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างคู่กรณีจึงต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครศรีธรรมราชพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๒ถึงที่ ๔ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดของจำเลยที่ ๑ เข้าไปทำลายต้นปาล์มซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินที่โจทก์ได้รับจัดสรรจากสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์และขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ชดใช้ค่าเสียหายนั้น ถือได้ว่าเป็นคดีที่ฟ้องหน่วยงานของรัฐให้รับผิดในผลแห่งละเมิดของเจ้าหน้าที่ของตนที่ได้กระทำในการปฏิบัติตามหน้าที่ ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ และจำเลยที่ ๑ ให้การต่อสู้ว่าการกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ เป็นการกระทำโดยใช้อำนาจตามมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ จึงไม่เป็นการละเมิดและไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ดังนั้นการที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ กระทำละเมิดต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายทำให้ได้รับ ความเสียหาย จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการ ใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันเป็น ประเด็นหลักที่จะต้องพิจารณา ส่วนประเด็นที่ว่าที่พิพาทเป็นที่ของโจทก์ที่ได้รับอนุญาต เข้าทำประโยชน์หรือเป็นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติหรือไม่ เป็นเพียงประเด็นรอง เมื่อประเด็นหลัก ในคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ประเด็นรองในคดีนั้นก็ย่อมอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลเดียวกัน ตามข้อ ๔๑ วรรคสอง แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการ ในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยการพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓

คำวินิจฉัย
คดีนี้เอกชนผู้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพืชพันธุ์ เป็นจำเลยที่ ๑ และเจ้าหน้าที่ในสังกัดของจำเลยที่ ๑ เป็นจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ โดยข้อเท็จจริงตามคำฟ้องสรุปได้ว่าโจทก์กล่าวอ้างว่าตนเป็นผู้มีสิทธิทำกินในที่ดินปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร ระวางกลุ่มที่๑๓๖๕แปลงเลขที่ ๘ ตั้งอยู่บ้าน ช่องขี้แรต หมู่ที่ ๔ ตำบล คลองท่อมใต้ อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่เนื้อที่ ๕๒ – ๒ – ๕๘ ไร่ ซึ่งได้รับจัดสรรมาจากสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรจังหวัดกระบี่โดยได้ทำประโยชน์ปลูกต้นปาล์มน้ำมันเต็มเนื้อที่ดังกล่าว จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ เข้าไปตัดฟันต้นปาล์มดังกล่าวโดยอ้างว่าโจทก์ปลูกต้นปาล์มบุกรุกป่าสงวนทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ส่วนจำเลยทั้งสี่ให้การยืนยันว่าโจทก์ปลูกต้นปาล์มโดยบุกรุกที่ป่าสงวน
ระหว่างพิจารณาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ศาลอนุญาต
ปัญหาที่จะต้องพิจารณา คือ คดีฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองทำละเมิดโดยการเข้าไป ตัดฟันต้นปาล์มในที่ดินซึ่งเอกชนมีสิทธิทำกิน ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพืชพันธุ์ จำเลยที่ ๑ เป็นส่วนราชการระดับกรมตามพระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ตามคำฟ้องโจทก์ ตั้งข้อหาว่าจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดของจำเลยที่ ๑ ทำละเมิดด้วยการเข้าไปตัดฟันต้นปาล์มในที่ดินของโจทก์ ขอให้จำเลยที่ ๑ ชดใช้ค่าเสียหาย ส่วนจำเลยทั้งสี่ให้การต่อสู้ว่าโจทก์ปลูก ต้นปาล์มโดยบุกรุกที่ป่าสงวน จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ จึงใช้อำนาจตามกฎหมายเข้าไปตัดฟันทำลายต้นปาล์ม คดีนี้ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ป่าสงวนแห่งชาติหรือเป็นที่ดินที่ปฏิรูปเพื่อการเกษตรซึ่งโจทก์มีสิทธิทำกินแล้วจึงจะพิจารณาได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ ๑ เป็นละเมิดหรือไม่ และจะต้องชดใช้ค่าเสียหายเพียงใด ดังนั้น เมื่อศาลจำต้องพิจารณาถึงสิทธิของโจทก์ในที่ดินพิพาทที่เกิดเหตุแล้ว จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ทั้งการพิจารณาเรื่องการทำละเมิดและการพิจารณาคำขอให้ชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองซึ่งเป็นมูลคดีที่เกี่ยวข้องกัน จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเดียวกัน
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีฟ้องหน่วยงานทางปกครองทำละเมิดโดยการตัดฟันต้นปาล์มขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย ระหว่างนายประสาร ทองธวัช โจทก์ กับ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพืชพันธุ์ ที่ ๑ นายอุภัย วายุพัฒน์ ที่ ๒ นายสมศักดิ์ เนติรังษีวัชรา ที่ ๓ นายสมปราชญ์ ผลชู ที่๔ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลจังหวัดกระบี่

(ลงชื่อ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท อัฎฐพร เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(อัฏฐพร เจริญพานิช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share