คำวินิจฉัยที่ 17/2547

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๗/๒๕๔๗

วันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๔๗

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับคดีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙

ศาลปกครองสงขลา
ระหว่าง
ศาลจังหวัดภูเก็ต

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองสงขลาโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคสาม ซึ่งเป็นกรณีศาลที่รับฟ้องคดีเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๔๕ บริษัท งานทวีพี่น้อง จำกัด ผู้ฟ้องคดี ได้ยื่นฟ้องกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่ ๑ (กรมทะเบียนการค้าเดิม) สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดภูเก็ต ที่๒ นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดภูเก็ต ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองสงขลา เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๒๕/๒๕๔๕ อ้างว่าผู้ฟ้องคดีเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดจดทะเบียนต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๔๙๒ มีกรรมการจำนวน ๗คน โดยรับเลือกมาจากผู้ถือหุ้นในแต่ละหมวดของบริษัท ที่มีอยู่ ๖ หมวดคือหมวด ก, ข, ค, ง,จและหมวด ฉ หมวดละ ๑ คน ยกเว้นหมวด ค มีกรรมการได้ ๒ คน ต่อมาเมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๔๓ผู้ฟ้องคดีได้เรียกประชุมสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ ๑/๒๕๔๓ ที่ประชุมมีมติให้ถอดถอนกรรมการออกทั้งชุดและแต่งตั้งกรรมการเข้ามาใหม่เพียง ๖ คน เนื่องจากผู้ถือหุ้นในหมวด ค ไม่เสนอชื่อผู้ถือหุ้นในหมวดตนเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการให้ที่ประชุมพิจารณา และได้ยื่นคำขอที่ ๙๔๐/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๕เมษายน ๒๕๔๓ ขอจดทะเบียนกรรมการใหม่ต่อผู้ถูกฟ้องคดี ที่ ๒ ต่อมา นายอโณทัย งานทวีกรรมการในหมวด ค ของผู้ฟ้องคดี ได้ยื่นหนังสือคัดค้านขอให้ระงับการ จดทะเบียนดังกล่าว โดยเห็นว่ามติที่ประชุมผู้ถือหุ้น ครั้งที่ ๑/๒๕๔๓ ฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทผู้ฟ้องคดี และยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดภูเก็ตเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๔๔๖/๒๕๔๓ เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๔๓ ขอให้ศาลเพิกถอนมติที่ประชุมดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้แจ้งคำสั่งไม่รับจดทะเบียนให้แก่ผู้ฟ้องคดีเมื่อวันที่๘มิถุนายน ๒๕๔๓ โดยอ้างว่าการแต่งตั้งกรรมการจำนวน ๖ คน ไม่เป็นไปตามข้อบังคับของบริษัทกรรมการของผู้ฟ้องคดีจึงเรียกประชุมกรรมการ ครั้งที่ ๔/๒๕๔๓ และเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ ๒/๒๕๔๓ ในวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๔๓ และที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติแต่งตั้ง นางวัชรี ผลเจริญ ผู้ถือหุ้นจากหมวด ก เป็นกรรมการแทนนายอโณทัย งานทวี เนื่องจากผู้ถือหุ้นในหมวด ค ยังคงไม่เสนอชื่อผู้ถือหุ้น ในหมวดของตนให้ที่ประชุมพิจารณาตั้งเป็นกรรมการ และได้ยื่นคำขอที่ ๓๕๕๙/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๓ ขอจดทะเบียนกรรมการต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งนายอโณทัยฯได้ยื่นคำร้องคัดค้านต่อ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ อีก และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ได้มีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนโดยอ้างว่าการแต่งตั้งกรรมการจากผู้ถือหุ้นหมวดหนึ่งเข้าแทนผู้ถือหุ้นจากอีกหมวดหนึ่งไม่ชอบขัดต่อข้อบังคับของบริษัท ผู้ฟ้องคดีจึงได้อุทธรณ์ คำสั่งไม่รับจดทะเบียนดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เห็นว่าคำสั่งไม่รับจดทะเบียนดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงยกอุทธรณ์คำร้อง ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งไม่รับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทดังกล่าวเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้เพราะการดำเนินการประชุมผู้ถือหุ้นและมติ ที่ประชุมให้ถอดถอนและแต่งตั้งกรรมการของผู้ฟ้องคดีดังกล่าวข้างต้นนั้นได้กระทำถูกต้องตามข้อบังคับและกฎหมายแล้ว จึงขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามรับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการตามคำขอ ของผู้ฟ้องคดี
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ให้การต่อสู้คดีว่าการมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการตามคำขอของผู้ฟ้องคดี และการยกอุทธรณ์คำสั่งไม่รับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย เพราะการแต่งตั้งกรรมการของผู้ฟ้องคดีขัดต่อข้อบังคับ
ศาลปกครองสงขลาพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีพิพาทเป็นข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ระหว่างผู้ถือหุ้นและกรรมการของผู้ฟ้องคดี อันเป็นกรณีพิพาทกันในทางแพ่งเกี่ยวกับหุ้นส่วนและบริษัท ในเรื่องข้อบังคับของบริษัท กรรมการบริษัท การนัดประชุม การประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๓ อันเป็นคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม แม้ผู้ฟ้องคดีจะอ้างว่าคำสั่งไม่รับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการของผู้ถูกฟ้องคดีจะไม่ชอบก็ตาม การที่จะพิจารณาเพื่อมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีรับจดทะเบียนตามคำขอนั้นศาลจำต้องพิจารณา ให้ได้ความเสียก่อนว่า การถอนและการตั้งกรรมการของผู้ฟ้องคดีในการประชุมสามัญครั้งที่ ๑/๒๕๔๓ เมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๔๓และการประชุมวิสามัญครั้งที่ ๒/๒๕๔๓ เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๔๓ เป็นไปโดยชอบด้วยข้อบังคับของผู้ฟ้องคดีและกฎหมายหรือไม่ ซึ่งต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๓ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง อันอยู่ในอำนาจพิจาณาพิพากษาของ ศาลยุติธรรม คดีนี้จึงมิใช่คดีปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและ วิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลปกครองสงขลาได้สอบถามคู่กรณีทั้งสองฝ่ายแล้ว ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งไม่ถูกต้องตามกฎหมายใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ ทำให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเอกชนได้รับความเสียหาย คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ๓ ได้บัญญัติเกี่ยวกับการจัดตั้งหุ้นส่วนบริษัท ตลอดจนการประชุม การแต่งตั้งถอดถอนกรรมการการเพิกถอนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นไว้ เป็นการเฉพาะแล้ว ซึ่งศาลที่มีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาตามกฎหมายดังกล่าวคือศาลยุติธรรม
ศาลจังหวัดภูเก็ตพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ มีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการของผู้ฟ้องคดีและการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยกอุทธรณ์คำร้องคำสั่งไม่รับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการของผู้ฟ้องคดีดังกล่าวนั้น เป็นกรณีพิพาทระหว่างเอกชนกับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าออกคำสั่งโดยถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ มิใช่เป็นกรณีโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ระหว่างผู้ถือหุ้นและกรรมการของผู้ฟ้องคดี อันเป็นกรณีพิพาทกันในทางแพ่ง ดังนั้นการออกคำสั่งดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งทางปกครอง ศาลปกครองคงมีเพียงประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามมีเหตุผลเพียงพอที่จะรับหรือปฏิเสธคำขอของผู้ฟ้องคดีหรือไม่เท่านั้น หาจำต้องวินิจฉัยว่าการมีมติแต่งตั้งถอดถอนกรรมการของที่ประชุมผู้ถือหุ้นชอบด้วยข้อบังคับหรือกฎหมายหรือไม่ กรณีดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีอาจนำคดีมาฟ้องต่อศาลยุติธรรมเพื่อพิสูจน์ถึงความถูกต้องในภายหลังได้ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องสรุปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีคือ บริษัท งานทวีพี่น้อง จำกัด เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ตามข้อบังคับ แบ่งผู้ถือหุ้นเป็น ๖ หมวด คือ หมวด ก, ข, ค, ง, จ และหมวด ฉ โดยมีกรรมการจำนวน ๗ คน ซึ่งได้รับเลือกจากผู้ถือหุ้นแต่ละหมวด หมวดละ ๑ คนยกเว้นหมวด ค มีกรรมการได้ ๒ คน ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการใหม่จำนวน ๖ คน ตามมติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ ๑/๒๕๔๓ ที่มีมติให้ถอดถอนกรรมการออก ทั้งชุดและแต่งตั้งกรรมการใหม่เพียง ๖ คน ต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดภูเก็ตผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งได้มีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนโดยอ้างว่ามติที่ประชุมให้แต่งตั้งกรรมการดังกล่าวขัดต่อข้อบังคับของบริษัท ต่อมาผู้ฟ้องคดีได้ยื่นขอ จดทะเบียนกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งใหม่จากหมวดกแทนกรรมการจากหมวด ค ตามมติที่ประชุมวิสามัญ ผู้ถือหุ้นครั้งที่ ๒/๒๕๔๓ ต่อผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดภูเก็ต ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ได้มีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนเช่นกัน โดยอ้างว่าการแต่งตั้งกรรมการจากผู้ถือหุ้นหมวดหนึ่งแทนผู้ถือหุ้นอีกหมวดหนึ่งขัดต่อข้อบังคับของบริษัท ผู้ฟ้องคดีจึงได้อุทธรณ์คำสั่งไม่รับจดทะเบียนดังกล่าวต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (กรมทะเบียนการค้าเดิม) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีคำสั่งยกอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวโดยอ้างว่าคำสั่งไม่รับจดทะเบียนชอบด้วยกฎหมายแล้ว ประกอบกับกรรมการของผู้ฟ้องคดีได้คัดค้านการยื่นจดทะเบียนของผู้ฟ้องคดีโดยอ้างว่ามติที่ประชุมผุ้ถือหุ้นทั้งสองครั้งขัดต่อข้อบังคับของบริษัทพร้อมทั้งยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดภูเก็ตขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นดังกล่าวซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งไม่รับ จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการดำเนินการประชุมผู้ถือหุ้นและมติที่ประชุมให้ถอดถอนและแต่งตั้งกรรมการดังกล่าวได้กระทำถูกต้องตามข้อบังคับและกฎหมายแล้ว จึงขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามรับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นของผู้ฟ้องคดี
ปัญหาที่จะต้องพิจารณา คือ คดีฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้รับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น เป็นคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม หรือศาลปกครอง
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (กรมทะเบียนการค้าเดิม) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีฐานะเป็นกรมสังกัดกระทรวงพาณิชย์ สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดภูเก็ต ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นส่วนราชการสังกัด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดภูเก็ต ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เป็นข้าราชการสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงมีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติ ฉบับเดียวกัน เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการ คำสั่งดังกล่าว จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๕แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าคำสั่งไม่รับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นกรณีโต้แย้ง คำสั่งทางปกครอง แต่ประเด็นหลักแห่งคดีนี้สืบเนื่องมาจากผู้ฟ้องคดีได้ยื่นขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้ถือหุ้นตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นแล้วผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ มีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนและ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ยกอุทธรณ์คำสั่งไม่รับจดทะเบียนโดยอ้างว่ามติที่ประชุมผู้ถือหุ้นดังกล่าวขัดต่อข้อบังคับของบริษัทและกรรมการของผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคัดค้านการขอจดทะเบียนพร้อมทั้งยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดภูเก็ตขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นดังกล่าวโดยอ้างว่าขัดต่อข้อบังคับของบริษัทเช่นกัน ดังนั้น การที่ จะพิจารณาเพื่อมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีรับจดทะเบียนให้แก่ผู้ฟ้องคดีหรือไม่นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าการถอดถอนและแต่งตั้งกรรมการในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ ๑/๒๕๔๓และ การแต่งตั้งกรรมการจากผู้ถือหุ้นหมวดหนึ่งเข้าแทนผู้ถือหุ้นอีกหมวดหนึ่งในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ ๒/๒๕๔๓ เป็นไปโดยชอบด้วยข้อบังคับของผู้ฟ้องคดีหรือไม่ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณา คดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้รับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น ระหว่างบริษัท งานทวีพี่น้อง จำกัด ผู้ฟ้องคดี กับ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่ ๑ (กรมทะเบียนการค้าเดิม) สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดภูเก็ต ที่ ๒ นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดภูเก็ต ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ซึ่งในคดีนี้คือศาลปกครองสงขลา

(ลงชื่อ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท อัฏฐพร เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(อัฏฐพร เจริญพานิช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share