แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า คดีนี้กับคดีก่อนมีลักษณะแห่งคดีและความผิดเป็นอย่างเดียวเกี่ยวพันกัน จำเลยและผู้เสียหายเป็นบุคคลคนเดียวกัน โจทก์จึงอาจจะฟ้องคดีทั้งสองสำนวนเป็นคดีเดียวกัน แต่ปรากฏว่าโจทก์แยกฟ้องคดีนี้กับคดีก่อนโดยศาลชั้นต้นมิได้สั่งรวมการพิจารณาคดีทั้งสองสำนวนเข้าด้วยกันดังนี้ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองทุกกรรมและจำคุกจำเลยทั้งสองมีกำหนด 20 ปีเต็มตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(2) ในคดีก่อนแล้ว ศาลชั้นต้นย่อมไม่อาจนำโทษของจำเลยทั้งสองในคดีนี้ไปนับต่อกับโทษของจำเลยทั้งสองในคดีก่อนของศาลชั้นต้นได้ เพราะจะทำให้จำเลยทั้งสองต้องรับโทษจำคุกเกินกำหนดที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(2) บัญญัติไว้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันเอาไปเสียทำให้เสียหายซึ่งเอกสารเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)สาขาสี่แยกสะพานกรุงธนเลขที่ 0495892 จำนวน 1 ฉบับของนายวิโรจน์ เรืองวัฒนไพศาล ผู้เสียหาย ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และประชาชน และจำเลยทั้งสองร่วมกันทำปลอมตั๋วเงินซึ่งเป็นเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาสี่แยกสะพานกรุงธน เลขที่ 0495892 จำนวน 1 ฉบับ อันเป็นเอกสารสิทธิ โดยจำเลยกับพวกร่วมกันนำเช็คฉบับดังกล่าวมากรอกข้อความปลอมขึ้นบางส่วนในช่องวันสั่งจ่ายเป็นวันที่ 2 กันยายน 2541 (2-9-41) สั่งจ่ายเงินสด 156,000 บาท และลงลายมือชื่อผู้เสียหายผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเงินเป็นภาษาจีนปลอมลงในช่องผู้สั่งจ่ายเงิน ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นตั๋วเงินที่แท้จริงที่ผู้เสียหายเป็นผู้สั่งจ่าย โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และประชาชน ภายหลังจากจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันทำปลอมเช็คฉบับดังกล่าวแล้ว จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันใช้เช็คปลอมดังกล่าวแจ้งต่อผู้มีชื่อซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาสี่แยกสะพานกรุงธนว่าจำเลยทั้งสองกับพวกขอเบิกเงินสดจำนวน 156,000 บาท ตามเช็คฉบับดังกล่าว ทั้งนี้โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และประชาชน จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 คดีนี้เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ในคดีหมายเลขดำที่ 1630/2542 หมายเลขแดงที่ 2663/2542 ของศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188, 264, 265, 266, 268, 91, 83 ขอคืนเช็คของกลางแก่เจ้าของ และนับโทษจำเลยทั้งสองต่อจากโทษของจำเลยทั้งสองในคดีหมายเลขดำที่ 1630/2542 หมายเลขแดงที่ 2663/2542 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยทั้งสองในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณานายวิโรจน์ เรืองวัฒนไพศาล ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 188, 266(4), 268 วรรคแรก, 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษทุกกระทงความผิด ฐานร่วมกันทำให้เสียหายหรือเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นวางโทษจำคุกคนละ 1 ปี สำหรับความผิดฐานปลอมเอกสารตั๋วเงินและใช้เอกสารตั๋วเงินปลอม จำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมเอกสารและร่วมกันใช้เอกสารปลอม ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 268 วรรคสองบัญญัติให้ลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมแต่กระทงเดียวจึงลงโทษจำเลยทั้งสองฐานใช้เอกสารตั๋วเงินปลอมวางโทษจำคุกคนละ 1 ปี รวมวางโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 2 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละกึ่งหนึ่ง คงลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี ให้นับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2663/2542 ของศาลชั้นต้นตามลำดับคืนเช็คของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188, 266(4), 268 วรรคแรก, 83, 91 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองเพียงว่าจะนับโทษจำเลยทั้งสองในสำนวนคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยทั้งสองในคดีหมายเลขแดงที่ 2663/2542 ของศาลชั้นต้นได้หรือไม่ ในปัญหานี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าพนักงานคุมประพฤติประจำศาลชั้นต้นได้รายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้นตามรายงานการสืบเสาะและพินิจลงวันที่ 25มีนาคม 2542 ว่า นอกจากจำเลยทั้งสองจะร่วมกันกระทำผิดปลอมเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ของผู้เสียหายในคดีนี้แล้ว จำเลยทั้งสองยังได้ร่วมกันกระทำผิดปลอมเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด ของผู้เสียหายรายเดียวกันอีกจำนวน 24 ฉบับซึ่งพนักงานสอบสวนแยกสำนวนสอบสวน และจำเลยทั้งสองถูกฟ้องต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีหมายเลขดำที่ 1630/2542 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 20 ปี ตามคดีหมายเลขแดงที่ 2663/2542 ดังนี้ เมื่อประกอบกับจำเลยทั้งสองกล่าวอ้างในอุทธรณ์และฎีกาตลอดมาว่า คดีนี้กับคดีหมายเลขแดงที่ 2663/2542 ของศาลชั้นต้นเป็นคดีมีความผิดเกี่ยวพันต่อเนื่องกัน ลักษณะคดีและความผิดเดียวกัน จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกัน ซึ่งโจทก์ได้รับสำเนาอุทธรณ์และฎีกาของจำเลยทั้งสองแล้วไม่แก้อุทธรณ์หรือแก้ฎีกาโต้แย้งข้อเท็จจริงดังกล่าวเลย เช่นนี้ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าคดีนี้กับคดีหมายเลขแดงที่ 2663/2542 ของศาลชั้นต้นมีลักษณะแห่งคดีและความผิดเป็นอย่างเดียวเกี่ยวพันกัน จำเลยและผู้เสียหายเป็นบุคคลคนเดียวกัน โจทก์จึงอาจจะฟ้องคดีทั้งสองสำนวนเป็นคดีเดียวกันได้โจทก์แยกฟ้องคดีนี้กับคดีหมายเลขแดงที่ 2663/2542 โดยศาลชั้นต้นมิได้สั่งรวมการพิจารณาคดีทั้งสองสำนวนเข้าด้วยกัน ดังนี้ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองทุกกรรมและจำคุกจำเลยทั้งสองมีกำหนด 20 ปีเต็มตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(2) ในคดีหมายเลขแดงที่ 2663/2542 ของศาลชั้นต้นแล้ว ศาลชั้นต้นย่อมไม่อาจนำโทษของจำเลยทั้งสองในคดีนี้ไปนับต่อกับโทษของจำเลยทั้งสองในคดีหมายเลขแดงที่ 2663/2542 ของศาลชั้นต้นได้เพราะจะทำให้จำเลยทั้งสองต้องรับโทษจำคุกเกินกำหนดที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(2) บัญญัติไว้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในปัญหานี้ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอนับโทษจำคุกจำเลยทั้งสองต่อจากโทษจำคุกของจำเลยทั้งสองในคดีหมายเลขแดงที่ 2663/2542 ของศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์