คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2817/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ผลิตสินค้าปัตตะเลี่ยนโดยใช้เครื่องหมายการค้าจดทะเบียนในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศไทย คำว่า “WAHL” โจทก์ที่ 1 ย่อมเป็นผู้มีสิทธิแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นสำหรับสินค้าปัตตะเลี่ยน ทำให้โจทก์ที่ 1 มีสิทธิหวงกันไม่ให้ผู้อื่นนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 ไปใช้โดยมิชอบ วัตถุประสงค์ของการใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าก็เพื่อแยกความแตกต่างระหว่างสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นกับสินค้าของผู้อื่นและเพื่อระบุว่าสินค้านั้นเป็นของเจ้าของเครื่องหมายการค้าดังกล่าว ซึ่งเป็นประโยชน์ในการจำหน่ายสินค้าของตนการที่มีผู้ซื้อสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้าเพื่อนำไปจำหน่ายต่อไป ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาในการประกอบการค้า เมื่อผู้ผลิตสินค้าที่เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าได้จำหน่ายสินค้าของตนในครั้งแรก ซึ่งได้รับประโยชน์จากการใช้เครื่องหมายการค้านั้นจากราคาสินค้าที่จำหน่ายไปเสร็จสิ้นแล้ว จึงไม่มีสิทธิหวงกันไม่ให้ผู้ซื้อสินค้าซึ่งประกอบการค้าปกตินำสินค้านั้นออกจำหน่ายอีกต่อไป โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิหวงกันไม่ให้จำเลยนำเข้าซึ่งสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงที่จำเลยซื้อจากตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ที่ 1 ในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์มาจำหน่ายในประเทศไทยได้
แม้กล่องบรรจุสินค้าปัตตะเลี่ยนซึ่งมีเครื่องหมายการค้าคำว่า “WAHL” จะมีซองกระดาษที่มีเครื่องหมายการค้าเดียวกันห่อหุ้มกล่องและมีใบรับประกันที่มีเครื่องหมายการค้าเดียวกันระบุชื่อที่อยู่ของจำเลยว่าเป็นศูนย์บริการ ก็เป็นเครื่องหมายการค้าที่แสดงว่าสินค้าปัตตะเลี่ยนในกล่องหรือหีบห่อนั้นเป็นสินค้าของโจทก์ที่ 1 จำเลยเพียงแต่เป็นผู้ให้บริการรับซ่อมปัตตะเลี่ยนให้เท่านั้น มิใช่แสดงว่าจำเลยเป็นเจ้าของหรือผู้มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 การกระทำของจำเลยไม่เป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า “WAHL”ของโจทก์ที่ 1
โจทก์ที่ 2 เป็นผู้นำเข้าซึ่งสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า”WAHL” ของโจทก์ที่ 1 จากประเทศสหรัฐอเมริกามาจำหน่ายในประเทศไทยโจทก์ที่ 1 ไม่ได้ตั้งให้โจทก์ที่ 2 เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ที่ 1 ในประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียว โจทก์ที่ 2 จึงเป็นเพียงผู้นำเข้าซึ่งสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจากโจทก์ที่ 1 มาจำหน่ายในประเทศไทยผู้หนึ่งเท่านั้น จึงฟังไม่ได้ว่า การที่จำเลยนำเข้าซึ่งสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า “WAHL” เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ที่ 2ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 2 เดือนละ 1,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะหยุดจำหน่ายสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า “WAHL” รวมทั้งห้ามสั่งหรือนำเข้ามาจำหน่ายหรือเสนอจำหน่ายซึ่งปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า “WAHL” หรือใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ที่ 1 ไม่ว่าด้วยประการใด ๆ ต่อไป และห้ามพิมพ์ข้อความใด ๆ บนเอกสารโดยมีชื่อยี่ห้อ “WAHL” กับให้จำเลยรวบรวมเก็บสินค้าปัตตะเลี่ยนที่ละเมิดสิทธิของโจทก์ทั้งสอง ซึ่งวางจำหน่ายในท้องตลาดและอยู่ในความครอบครองของจำเลยส่งมอบต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อจัดการทำลายเสีย

จำเลยขอให้ยกฟ้อง

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสอง

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ผลิตสินค้าปัตตะเลี่ยนโดยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “WAHL” ซึ่งโจทก์ที่ 1 จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้ในประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว และเมื่อปี 2527 โจทก์ที่ 1 ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า ” WAHL” สำหรับใช้กับสินค้าปัตตะเลี่ยนในประเทศไทย ทั้งได้ขอต่ออายุการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเมื่อปี 2537 ด้วย ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2538 โจทก์ที่ 1 มอบให้โจทก์ที่ 2 เป็นตัวแทนยื่นคำขอแจ้งความจำนงขอรับความคุ้มครองเครื่องหมายการค้าตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการส่งสินค้าออกไปนอกและการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2530โจทก์ที่ 2 เป็นผู้นำเข้าซึ่งสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า ” WAHL”จากโจทก์ที่ 1 มาจำหน่ายในประเทศไทยนานประมาณ 12 ปี แล้ว โดยจะบรรจุในวัสดุห่อหุ้ม 2 แบบ คือแบบบรรจุอยู่ในกล่องพลาสติกใสพร้อมหวีและบรรจุอยู่ในลังโฟมห่อหุ้มด้วยกล่องกระดาษ เมื่อปี 2537 จำเลยได้นำเข้าซึ่งสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า ” WAHL” จากบริษัทที่เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ที่ 1 ในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยด้วย ตามใบขนสินค้าขาเข้า ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2539 โจทก์ที่ 2 นำเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นบริษัทโอ.เอ.ไอ. จำกัด พบสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า” WAHL” ที่บรรจุในวัสดุห่อหุ้ม 2 แบบเช่นเดียวกับที่โจทก์ที่ 2 นำเข้ามาจำหน่าย แต่ได้เพิ่มซองกระดาษห่อหุ้มกล่องกระดาษบรรจุสินค้าปัตตะเลี่ยนอีกชั้นหนึ่ง โดยซองกระดาษนั้นพิมพ์ข้อความโฆษณาเป็นรูปปัตตะเลี่ยนซ้อนอยู่บนธงชาติประเทศสหรัฐอเมริกาและมีภาษาไทยกำกับว่า “ของแท้ต้องมีใบรับประกัน 1 ปี”กับที่มุมล่างด้านขวามีเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 เป็นภาษาอังกฤษคำว่า”WAHL” สีขาวบนพื้นสี่เหลี่ยมสีแดง และยังมีใบรับประกันสินค้าซึ่งมีชื่อและที่อยู่ของจำเลยระบุว่าเป็นศูนย์บริการพิมพ์ไว้ โจทก์ที่ 2 ไม่ได้ไปค้นและยึดสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้า คำว่า ” WAHL” ที่สำนักงานของจำเลย

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยชั้นนี้ว่า การที่จำเลยนำเข้าซึ่งสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้า คำว่า ” WAHL” เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 กับละเมิดต่อโจทก์ที่ 2 และจะต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่เพียงใด โดยโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่า การใช้หลักกฎหมายเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าจำเป็นต้องพิจารณาพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าควบคู่กับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะลักษณะของสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นเป็นสิทธิเด็ดขาดที่กฎหมายให้ความคุ้มครองแก่เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นได้แต่ผู้เดียว ดังนั้นการละเมิดสิทธิจะเกิดขึ้นเมื่อผู้อื่นได้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่ว่าการใช้นั้นจะได้กระทำโดยจงใจให้เจ้าของเครื่องหมายการค้าเสียหาย หรือโดยประมาทเลินเล่ออันเป็นผลให้เจ้าของเครื่องหมายการค้าเสียหายหรือไม่ และไม่ว่าจะเกิดผลเสียหายแก่เจ้าของเครื่องหมายการค้าขึ้นจริงหรือไม่ การที่จำเลยซื้อสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า”WAHL” จากประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์และนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยแข่งกับโจทก์ทั้งสอง โดยมีการทำหีบห่อและซองกระดาษที่พิมพ์รูปปัตตะเลี่ยน เครื่องหมายการค้าคำว่า “WAHL” และข้อความว่า “ของแท้ต้องมีใบรับประกัน 1 ปี”กับใบรับประกันซึ่งระบุชื่อที่อยู่ของจำเลยเป็นศูนย์บริการโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ทั้งสอง ทำให้โจทก์ทั้งสองจำหน่ายสินค้าในประเทศไทยได้น้อยลงเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองย่อมมีอำนาจฟ้องร้องบังคับจำเลยให้ระงับการละเมิดสิทธิหรือชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นได้นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ผลิตสินค้าปัตตะเลี่ยนโดยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า ” WAHL” ซึ่งโจทก์ที่ 1 ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และเมื่อปี 2527 โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวสำหรับใช้กับสินค้าปัตตะเลี่ยนในประเทศไทย แล้วได้ต่ออายุการจดทะเบียนในปี 2537 ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้า โจทก์ที่ 1 ผู้ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าดังกล่าวย่อมเป็นผู้มีสิทธิแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นสำหรับสินค้าปัตตะเลี่ยนตามที่จดทะเบียนไว้ ส่วนการที่โจทก์ที่ 2 ได้ไปยื่นคำขอแจ้งความจำนงรับความคุ้มครองเครื่องหมายการค้าดังที่โจทก์ที่ 2 นำสืบก็ทำในฐานะเป็นตัวแทนของโจทก์ที่ 1 จึงไม่ทำให้โจทก์ที่ 2 มีส่วนเป็นเจ้าของสิทธิในเครื่องหมายการค้าร่วมกับโจทก์ที่ 1 แต่อย่างใด โจทก์ที่ 2 คงเป็นเพียงผู้นำเข้าซึ่งสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า ” WAHL” ของโจทก์ที่ 1 เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเท่านั้น ดังนั้น จึงมีปัญหาที่ต้องแยกพิจารณาประการแรกว่า จำเลยละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 หรือไม่ และประการที่สองว่า จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 2 อย่างใดหรือไม่ ในปัญหาที่ว่าจำเลยละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 หรือไม่นั้น แม้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 44 จะให้การคุ้มครองสิทธิของโจทก์ที่ 1 ในฐานะที่เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า ” WAHL” ตามที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงการคุ้มครองโดยให้สิทธิแก่โจทก์ที่ 1 เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าปัตตะเลี่ยนตามที่ได้จดทะเบียนไว้ ซึ่งทำให้โจทก์ที่ 1 มีสิทธิหวงกันไม่ให้ผู้อื่นนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 ไปใช้โดยมิชอบเท่านั้น และเมื่อพิจารณาประกอบกับบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ที่บัญญัติว่า “เครื่องหมายการค้าหมายความว่า เครื่องหมายที่ใช้หรือจะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้า เพื่อแสดงว่า สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น” ย่อมเห็นได้ว่า วัตถุประสงค์ของการใช้เครื่องหมายการค้าตามบทบัญญัติดังกล่าวคือการใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าเพื่อแยกความแตกต่างระหว่างสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นกับสินค้าของผู้อื่นและเพื่อระบุว่าสินค้านั้นเป็นของเจ้าของเครื่องหมายการค้าดังกล่าว ซึ่งเป็นประโยชน์แก่เจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นในการจำหน่ายสินค้าของตน เพราะการใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าเช่นนี้ทำให้ประชาชนที่นิยมเชื่อถือในสินค้าและเครื่องหมายการค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นได้อาศัยเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในการพิจารณาเลือกซื้อสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นได้ถูกต้องตามความประสงค์ของตน และการที่มีผู้ซื้อสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้าเพื่อนำไปจำหน่ายต่อไปก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาในการประกอบการค้า ดังนี้ เมื่อผู้ผลิตสินค้าที่เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าได้จำหน่ายสินค้าของตนในครั้งแรกซึ่งเป็นการใช้สิทธิแต่ผู้เดียวในการใช้เครื่องหมายการค้านั้นกับสินค้าของตนเพื่อประโยชน์ในการจำหน่ายสินค้าโดยได้รับประโยชน์จากการใช้เครื่องหมายการค้านั้นจากราคาสินค้าที่จำหน่ายไปเสร็จสิ้นแล้ว จึงไม่มีสิทธิหวงกันไม่ให้ผู้ซื้อสินค้าซึ่งประกอบการค้าตามปกตินำสินค้านั้นออกจำหน่ายอีกต่อไป คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติว่า สินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า ” WAHL” ที่จำเลยนำเข้ามาวางจำหน่ายในประเทศไทยเมื่อปี 2537 ตามใบขนสินค้าขาเข้าเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงของโจทก์ที่ 1 โดยจำเลยซื้อสินค้าจากผู้ขายสินค้าให้จำเลยที่ประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ที่ 1 เช่นกัน กรณีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยซื้อสินค้าดังกล่าวของโจทก์ที่ 1 เข้ามาจำหน่ายโดยมิได้กระทำการใด ๆ โดยมิชอบไม่ว่าจะเป็นการปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “WAHL” ของโจทก์ที่ 1 หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักร จำหน่าย เสนอจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมหรือที่เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1ดังกล่าว อันอาจเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534มาตรา 108, 109 และมาตรา 110(1) หรือประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 273, 274และมาตรา 275 แต่อย่างใด ทั้งการที่จำเลยซื้อสินค้าของโจทก์ที่ 1 จากตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ที่ 1 ในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์และนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยนั้น ก็เกิดจากการที่โจทก์ที่ 1 ได้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าของตนโดยใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าเพื่อจำหน่ายโดยได้รับประโยชน์ตอบแทนในการขายสินค้านั้นเสร็จสิ้นไปแล้ว นอกจากนี้เครื่องหมายการค้าคำว่า “WAHL” ที่ติดอยู่ที่สินค้าของโจทก์ที่ 1 นั้นก็ยังคงเป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงแหล่งกำเนิดและความเป็นเจ้าของสินค้าของโจทก์ที่ 1 ตามที่โจทก์ที่ 1 ได้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นเพื่อจำแนกสินค้าของตนอยู่เช่นเดิม ดังนั้น โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีสิทธิหวงกันไม่ให้จำเลยนำเข้าซึ่งสินค้าปัตตะเลี่ยนที่แท้จริงที่มีเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 ซึ่งมิใช่เครื่องหมายการค้าปลอมหรือที่เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 มาจำหน่ายในประเทศไทยได้การกระทำของจำเลยดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าอันเป็นการละเมิดสิทธิแต่ผู้เดียวของโจทก์ที่ 1 ในการใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “WAHL” สำหรับสินค้าปัตตะเลี่ยนตามที่ได้จดทะเบียนไว้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 44 ดังที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ ส่วนกรณีที่กล่องบรรจุสินค้าปัตตะเลี่ยนซึ่งมีเครื่องหมายการค้าคำว่า ” WAHL” ที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่าจำเลยนำเข้ามาจำหน่ายด้วย ซึ่งมีซองกระดาษพิมพ์รูปปัตตะเลี่ยนซ้อนอยู่บนธงชาติประเทศสหรัฐอเมริกา มีข้อความรับประกันกับมีเครื่องหมายการค้าคำว่า ” WAHL” ห่อหุ้มกล่องและมีใบรับประกันระบุชื่อที่อยู่ของจำเลยว่าเป็นศูนย์บริการเพิ่มขึ้นมาอีกนั้น ก็เป็นสินค้าที่ยึดได้จากบริษัทโอ.เอ.ไอ. จำกัด แม้ใบรับประกันจะมีเครื่องหมายการค้าคำว่า” WAHL” อยู่ก็เป็นเครื่องหมายการค้าที่ยังแสดงว่าสินค้าปัตตะเลี่ยนในกล่องหรือหีบห่อนั้นเป็นสินค้าของโจทก์ที่ 1 เช่นกัน จำเลยเพียงแต่เป็นผู้ให้บริการรับซ่อมปัตตะเลี่ยนให้เท่านั้น มิใช่เป็นการแสดงว่าจำเลยเป็นเจ้าของหรือผู้มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 ดังกล่าวแต่อย่างใด ส่วนการที่โจทก์ที่ 1 ได้รับการคุ้มครองเครื่องหมายการค้าคำว่า ” WAHL” ตามที่ได้ยื่นคำขอแจ้งความจำนงขอรับความคุ้มครองเครื่องหมายการค้าไว้เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2539 นั้น ก็ปรากฏว่าในข้อ 5 ของเอกสารดังกล่าวได้ระบุไว้ชัดแจ้งว่า เป็นการคุ้มครองที่มิให้ผู้ใดนำสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า ” WAHL” ปลอมหรือเลียนแบบเข้ามาในหรือส่งออกจากประเทศไทยเท่านั้น มิได้ห้าผู้ใดนำเข้าหรือส่งออกสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า ” WAHL” ที่แท้จริงของโจทก์ที่ 1 แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยดังวินิจฉัยมาข้างต้น จึงไม่เป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า “WAHL” ของโจทก์ที่ 1 ส่วนปัญหาที่ว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 2 หรือไม่นั้น เห็นว่า แม้ตามทางนำสืบของโจทก์ที่ 2 จะได้ความว่า โจทก์ที่ 2 เป็นผู้นำเข้าซึ่งสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า ” WAHL” ของโจทก์ที่ 1 ซึ่งสั่งโดยตรงจากโจทก์ที่ 1 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกามาจำหน่ายในประเทศไทยเป็นเวลาประมาณถึง 12 ปี แล้วก็ตามแต่โจทก์ที่ 2 ก็มิได้มีเอกสารใด ๆ มานำสืบยืนยันว่าโจทก์ที่ 1 ได้ตั้งให้โจทก์ที่ 2 เป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า ” WAHL”แต่ผู้เดียวในประเทศไทย ในทางตรงกันข้าม นางสาวอารียา พรประเสริฐกุลผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่ 2 กลับเบิกความตอบทนายจำเลยรับว่า ก่อนวันที่ 19 กรกฎาคม 2539 โจทก์ที่ 1 ไม่ได้ตั้งให้โจทก์ที่ 2 เป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า ” WAHL” ของโจทก์ที่ 1 ในประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียวเมื่อปรากฏว่าก่อนวันที่ 19 กรกฎาคม 2539 โจทก์ที่ 1 ไม่ได้ตกลงตั้งโจทก์ที่ 2ให้เป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า ” WAHL” ของโจทก์ที่ 1 เพียงผู้เดียวในประเทศไทยแล้ว โจทก์ที่ 2 จึงเป็นเพียงผู้นำเข้าซึ่งสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า “WAHL” จากโจทก์ที่ 1 มาจำหน่ายในประเทศไทยผู้หนึ่งเท่านั้นและจากหลักฐานการนำเข้าซึ่งสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า ” WAHL” ตามใบขนสินค้าขาเข้าปรากฏว่า จำเลยนำเข้าซึ่งสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า ” WAHL” จากตัวแทนจำหน่ายของโจทก์ที่ 1 ที่ประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์มาจำหน่ายในประเทศไทยในวันที่ 28มกราคม 2537 ซึ่งนางสาวพจนีย์ สมณะ กรรมการจำเลยที่เป็นทั้งพยานโจทก์ที่ 2 และพยานจำเลยก็เบิกความว่า เมื่อสั่งสินค้ามาแล้ว จำเลยไม่ได้สั่งสินค้าเข้ามาอีกเลย ดังนั้น จึงฟังไม่ได้ว่า การที่จำเลยนำเข้าซึ่งสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า ” WAHL” เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยดังกล่าว เป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 อันเป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 421 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าจำเลยไม่ได้ละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าหรือกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share