คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 478/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะผู้ร้องยื่นอุทธรณ์ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 โดยให้เพิ่มวรรคสาม ของมาตรา 288 ว่า “คำสั่งของศาลตามวรรคสอง (1)และ (2) ให้เป็นที่สุด” ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2542และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 บัญญัติว่า”ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาหรือมีคำสั่งในชั้นอุทธรณ์แล้วนั้นให้ยื่นฎีกาได้ให้นำบทบัญญัติในลักษณะ 1 ว่าด้วยอุทธรณ์มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม” ตามบทบัญญัติในลักษณะ 1 ว่าด้วยอุทธรณ์ มาตรา 223บัญญัติว่า “คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นนั้น ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ เว้นแต่คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นประมวลกฎหมายนี้จะได้บัญญัติว่าให้เป็นที่สุด” จึงมีความหมายว่า ในการยื่นฎีกาคำสั่งหรือคำพิพากษานั้นจะต้องไม่เป็นที่สุด หากเป็นที่สุดไม่ว่าจะในชั้นศาลชั้นต้นหรือชั้นศาลอุทธรณ์แล้วต้องห้ามยื่นฎีกา
ผู้ร้องยื่นฎีกาภายหลังที่มีกฎหมายบัญญัติให้คำสั่งศาลชั้นต้นเป็นที่สุดใช้บังคับแล้ว ฎีกาของผู้ร้องจึงต้องห้ามมิให้ฎีกา

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยชำระเงิน15,000,000 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย ต่อมาโจทก์นำยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 187525 และโฉนดเลขที่ 187527 เพื่อบังคับชำระหนี้ โดยอ้างว่าเป็นของจำเลย

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ปล่อยทรัพย์ที่ดินทั้งสองแปลงที่โจทก์นำยึด

โจทก์ให้การขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้อง

ระหว่างนัดไต่สวนคำร้องขอ โจทก์ยื่นคำร้องว่า คำร้องขอของผู้ร้องไม่มีเหตุผล พยานหลักฐานและข้ออ้างของผู้ร้องเบื้องต้นไม่มีมูล เป็นการประวิงคดีให้ชักช้า ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องวางเงินประกันค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่โจทก์ได้รับเนื่องจากเหตุที่เนิ่นช้า

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า พิเคราะห์เหตุตามคำร้องขอของผู้ร้องประกอบคำคัดค้านของโจทก์แล้ว พยานหลักฐานในเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่าคำร้องขอของผู้ร้องนั้นไม่มีมูล และยื่นเข้ามาเพื่อประวิงคดีให้ชักช้า จึงมีคำสั่งให้ผู้ร้องวางเงินประกันหรือหาหลักประกันมาวางต่อศาลเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนจำนวน 5,000,000 บาท ภายใน 15 วัน มิฉะนั้นให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ

ต่อมาเจ้าหน้าที่ศาลรายงานต่อศาลชั้นต้นว่า ตรวจสอบแล้วปรากฏว่าผู้ร้องยังไม่ได้นำเงินประกันหรือหลักทรัพย์มาวางต่อศาลภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2541

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า ศาลชั้นต้นสั่งให้ผู้ร้องวางเงินประกันหรือหาหลักประกันมาวางต่อศาลเพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ภายใน 15 วัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 วรรคสอง (1) ผู้ร้องมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2541ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2541 ต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 โดยให้เพิ่ม วรรคสามของมาตรา 288 ว่า “คำสั่งของศาลตามวรรคสอง (1) และ (2) ให้เป็นที่สุด”ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2542 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2542ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์วันที่ 15 กรกฎาคม 2542 ผู้ร้องยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2542 นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 บัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาหรือมีคำสั่งในชั้นอุทธรณ์แล้วนั้นให้ยื่นฎีกาได้ ให้นำบทบัญญัติในลักษณะ 1 ว่าด้วยอุทธรณ์มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม” ตามบทบัญญัติในลักษณะ 1 ว่าด้วยอุทธรณ์ มาตรา 223 บัญญัติว่า “คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นนั้น ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ เว้นแต่คำสั่งหรือคำพิพากษานั้น ประมวลกฎหมายนี้ จะได้บัญญัติว่าให้เป็นที่สุด” เนื่องจากเป็นการนำบทบัญญัติมาใช้โดยอนุโลม จึงมีความหมายว่าในการยื่นฎีกานั้นคำสั่งหรือคำพิพากษานั้นจะต้องไม่เป็นที่สุด หากเป็นที่สุดไม่ว่าจะในชั้นศาลชั้นต้นหรือชั้นศาลอุทธรณ์แล้วต้องห้ามยื่นฎีกาตามข้อเท็จจริงที่กล่าวมาข้างต้นขณะผู้ร้องยื่นอุทธรณ์ ยังไม่มีกฎหมายออกมาแก้ไขให้คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นที่สุด แต่ขณะผู้ร้องยื่นฎีกานั้น ได้มีกฎหมายตามที่กล่าวมาข้างต้นให้คำสั่งศาลชั้นต้นเป็นที่สุด ดังนั้น การที่ผู้ร้องยื่นฎีกาภายหลังที่มีกฎหมายบัญญัติให้คำสั่งศาลชั้นต้นเป็นที่สุดใช้บังคับแล้วฎีกาของผู้ร้องจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติที่กล่าวมาข้างต้นศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

พิพากษายกฎีกาของผู้ร้อง คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาให้ผู้ร้องทั้งหมด

Share